x close

สรงน้ำพระ 9 พระพุทธรูปมงคลคู่สยาม ต้อนรับสงกรานต์ ณ สยามพารากอน



สรงน้ำพระ 9 รูป

สรงน้ำพระ 9 รูป

          ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมประเพณีสงกรานต์ตามแบบฉบับดั้งเดิมของสยามประเทศ กับการสรงน้ำพระ 9 พระพุทธรูปคู่แผ่นดินสยาม จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เสริมความเป็นสิริมงคล ต้อนรับปีใหม่ไทย ณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2561

          ประเพณีสงกรานต์ หนึ่งในประเพณีไทยโบราณที่มีการสืบสานกันมารุ่นสู่รุ่นหลายร้อยปี มีการทำกิจกรรมมากมายในเทศกาลสงกรานต์ ทั้งรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไปทำบุญที่วัด ร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานและขนทรายเข้าวัด การเล่นสาดน้ำ และที่ขาดไม่ได้ก็คือการสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูป ในการสรงน้ำพระพุทธรูปนั้นนอกจากจะเป็นการชำระล้างองค์พระให้สะอาด อบอวลไปด้วยกลิ่นของน้ำอบน้ำปรุงแล้ว ก็ยังเป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อพระพุทธรูปที่เคารพศรัทธา เป็นอีกหนึ่งทางในการทำบุญ เสริมความสิริมงคลให้กับชีวิตและครอบครัว

สรงน้ำพระ 9 รูป

          ศูนย์การค้าสยามพารากอน ขอสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ ด้วยการอัญเชิญ 9 พระพุทธรูปแห่งสยาม จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมสรงน้ำพระกันช่วงสงกรานต์นี้ วันนี้เราจึงอยากพาไปชมความงดงามและความสำคัญของทั้ง 9 พระพุทธรูปนี้กันค่ะ มีอะไรบ้าง...ไปดูกัน

สรงน้ำพระ 9 รูป

สรงน้ำพระ 9 รูป

1. พระพุทธรูปประทานธรรม

          ประวัติ : นายก่อง สุรโชติ ได้มาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ให้ยืมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2469

          สถานที่เก็บรักษา : ห้องลพบุรี - ศิลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระพุทธรูปประทานธรรม เป็นพระพุทรูปศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 18-19) ความสูงพร้อมฐาน 26 เซนติเมตร มาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี มีลักษณะประทับยืนตรง (สมภังค์) บนฐานบัวหงาย พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระแสดงธรรม พระพักตร์เหลี่ยมมน พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อยแสดงให้เห็นถึงความกรุณา มีอูรณาที่หว่างพระขนง มุ่นพระเกศาเป็นทรงกรวยซ้อนกันของดอกบัวบานสามชั้นรองรับดอกบัวตูมเป็นยอดเกศา ขอบเกศาเป็นเส้นชัดเจนคล้ายกรอบพระพักตร์ สวมกุณฑลรูปดอกบัวที่หนาและหนัก พระศอเป็นปล้อง

          แม้จะครองจีวรห่มคลุมแต่แนบเนื้อและบางเบาจนสามารถมองเห็นว่าสวมกรองศอและพาหุรัดที่ต้นพาหาทั้งสองข้าง รวมทั้งขอบสบงที่รัดด้วยเข็มขัด หรือแม้แต่ผ้าที่ทิ้งลงมาเป็นหน้านางยังประดับด้วยเพชรพลอย ชายพาดพระกรทั้งสองข้างทิ้งตัวปรกลงมาเป็นวงโค้งเหนือข้อพระบาท ประทับยืนบนดอกบัวบานรองรับด้วยฐานปัทม์บนฐานสี่เหลี่ยมซึ่งรองรับอยู่อีกชั้น พระพุทธรูปองค์นี้แสดงถึงความเป็นธรรมราชาธิราช (ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศุภวรรณ นงนุช)

2. พระหายโศก

          ประวัติ : กรมพระราชพิธีส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2475

          สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะล้านนา  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 

สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระพุทธรูปซึ่งมีมงคลนามว่า "พระหายโศก" เป็นพระพุทธรูปของหลวงพระราชทานเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2475 เดิมไม่ทราบประวัติการสร้างชัดเจน จากพุทธลักษณะองค์พระพุทธรูปมีรูปแบบอย่างที่เรียกกันว่า "พระสิงห์ 1" หรือพระพุทธรูปศิลปะล้านนารุ่นแรก แต่ส่วนฐานแสดงว่าสร้างขึ้นในศิลปะล้านนารุ่นหลัง กล่าวคือมีพระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระอุษณีษะรูปมะนาวตัดทรงสูง เม็ดพระศกขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระปรางอิ่ม พระขนงสลักเป็นเส้นวงโค้ง พระเนตรฝังมุก เปลือกพระเนตรหนาปิดลงครึ่งหนึ่ง พระนาสิกโด่งแต่สั้น พระโอษฐ์จีบแย้มเล็กน้อยแสดงปีติสุขจากภายใน

          สำหรับนามพระพุทธรูป "หายโศก" เข้าใจว่าเป็นนามเดิมเมื่อหล่อขึ้นในล้านนา และคงมีที่มาจากภาษาบาลีว่า "อโศก" ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกันกับ "หายโศก" โดยใช้ภาษาไทยเข้ามาผสม ทั้งนี้เนื่องจากธรรมเนียมชาวเหนือนิยมตั้งนามพระพุทธรูปอย่างเรียบง่าย ต่างจากขนบการตั้งนามพระพุทธรูปของหลวงครั้งกรุงเทพมหานคร  ที่นิยมตั้งนามตามภาษาบาลี โดยนามพระหายโศกน่าจะมีที่มาจากนิมิตของผู้สร้าง ซึ่งได้รับความบันเทิงรื่นเริงยินดีที่ได้สร้าง ได้ชื่นชมพระพุทธรูปอันมีลักษณะงดงาม ครั้นเมื่อส่งพระพุทธรูปเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงได้จารึกพระนามไว้ในสมัยนั้น

3. พระไภษัชยคุรุ

          ประวัติ : กรมพระราชพิธี ส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2474

          สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา หน้าตักกว้าง 13 เซนติเมตร ความสูงพร้อมฐาน 34 เซนติเมตร หล่อขึ้นจากสำริด ปิดทอง อายุราวศิลปะล้านนาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลาในลักษณะการทำสมาธิ บนพระหัตถ์มีวัตถุรูปกรวยสามเหลี่ยม สันนิษฐานว่าสิ่งนี้แทนผลมะขามป้อม ผอบยา หรือหม้อน้ำอมฤต

          องค์พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ ประกอบด้วยกระบังหน้า สวมกรัณฑมงกุฎ มีลักษณะซ้อนลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ยอดมงกุฎเป็นเปลวเพลิง ทรงกุณฑลเป็นรูปกลม ทรงกรองศอ สังวาลย์ พาหุรัด ทองกร ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายซ้อนอยู่บนฐานเขียงที่มีขาสูงสามขารองรับ พระไภษัชยคุรุหรือเรียกอีกอย่างว่าพระพุทธเจ้าแพทย์ เชื่อว่าพระองค์ทรงมีหน้าที่ปลดเปลื้องทุกข์ของสรรพสัตว์ สามารถบำบัดโรคทางกายและโรคทางใจ สามารถหายจากโรคภัยต่าง ๆ ได้ด้วยการบูชา (ขอขอบคุณข้อมูลจาก กาญจนา โอษฐยิ้มพราย)

4. พระชัยเมืองนครราชสีมา

          ประวัติ : ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย

          สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 
สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ลักษณะพระพักตร์ทำตามพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 หรือศิลปะอยุธยาตอนต้น พระวรกายโดยรอบมีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี อาทิ คาถากาสลัก (จะ ภะ กะ สะ) ซึ่งตามคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ ที่แต่งโดยท่านรัตนปัญญาเถระ ให้ความหมายไว้ว่า กำเนิดจากพุทธธรรมมงคลสูงสุด 38 ประการ  จากรูปแบบตัวอักษรกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23

          "พระชัย" หรือ "พระไชย" เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่โบราณ ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นามพระชัยมีความหมายว่า "ชัยชนะ" เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ  และการที่สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยก็มีความหมายว่าปราบมารได้ชัยชนะ  นอกจากนี้ยังมีการอัญเชิญในพระราชพิธีต่าง ๆ เรียกว่า พระชัยพิธี สำหรับขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีการสำเร็จผล

5. พระพุทธรูปถือตาลปัตร

          ประวัติ : พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้ายมาจากอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473

          สถานที่เก็บรักษา : คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระพุทธรูปถือตาลปัตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยา พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หล่อขึ้นด้วยสำริด ปิดทอง หน้าตักกว้าง 19.7 เซนติเมตร ความสูงพร้อมฐาน 39 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พุทธลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง ทรงเครื่องมงกุฎยอดเป็นปล้องปลายแหลมไม่มีกรรเจียกจร ทรงกุณฑลและกรองศอ ทรงครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา สังฆาฏิเป็นแถบสี่เหลี่ยมยาวจรดพระนาภีปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ

          พระหัตถ์ซ้ายทรงกำด้ามตาลปัตรโลหะขนาดเล็กที่พระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงงอนิ้วพระหัตถ์จับขอบใบตาลปัตรด้านบนระดับพระอุระเป็นสัญลักษณ์แสดงการเทศนา ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่คั่นกลางด้วยเส้นลวดลูกแก้วกลม รองรับด้วยฐานปัทม์ที่มีการเจาะช่องที่ท้องไม้ กึ่งกลางท้องไม้ด้านหน้าประดับรูปจักร จากพุทธลักษณะจัดเป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21-22 พระพุทธรูปลักษณะนี้จะเป็นการแสดงถึงอิริยาบถของพระพุทธเจ้าในขณะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนรูปธรรมจักรที่ฐานนั้น อาจหมายถึงการที่พระพุทธองค์ต้องการเผยแพร่ธรรมให้ออกไปในสากลโลก (ขอขอบคุณข้อมูลจาก ยุทธนาวรากร แสงอร่าม)

6. พระพุทธรูปไสยา

          ประวัติ : ขุดพบบริเวณพระประธานวิหารใหญ่วัดธรรมมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2530

          สถานที่เก็บรักษา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระพุทธรูปไสยา เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พบบริเวณพระประธานวิหารใหญ่วัดธรรมมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หล่อขึ้นด้วยสำริด ความสูงพร้อมฐาน 9 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร มีลักษณะของพระอิริยาบถอยู่บรรทมตะแคงขวาบนพระแท่นสี่เหลี่ยม หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่บนพระเขนย พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาลักษณะตั้งซ้อนกัน

          ลักษณะทางประติมานวิทยามีพระพักตร์รูปไข่ หลับพระเนตร พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระนาสิกโด่ง แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ทรงเครื่องน้อย สวมมงกุฎขอบกระบังหน้าค่อนข้างตรง ตรงกลางสลักลายประจำยาม รัดเกล้าทรงกรวยเป็นชั้น สวมกรองศอ สังวาลและทับทรวงลายดอกสี่กลีบ สวมพาหุรัดลายเส้นขดม้วนตรงกลางเป็นลายกระจัง ทองกรเรียบ สวมรัดประคด

          คติการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้น ก็เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท สังขารและสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมดับสลาย พึงให้เรารู้สติอยู่เสมอ (ขอขอบคุณข้อมูลจาก รักชนก โคจรานนท์)


7. พระพุทธสิหิงค์จำลอง

          ประวัติ : เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม

          สถานที่เก็บรักษา : พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 
สรงน้ำพระ 9 รูป

          ตามตำนานนิทานพระพุทธสิหิงค์ แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกุชาวเชียงใหม่ในระหว่างพุทธศักราช 1945-1985 กล่าวว่า พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยโปรดให้พญาสิริธรรมนครผู้ปกครองเมืองสิริธรรมนครหรือนครศรีธรรมราชแต่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นทูลขอพระพุทธสิหิงส์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา จึงกล่าว่าได้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมาที่มีความสัมพันธ์กับพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ตามความเชื่อของคนในรุ่นหลัง

          ทั้งนี้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 ปรากฏความนับถือพระพุทธสิหิงค์เป็นพิเศษอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนังสือเรื่อง ตำนานพระพุทธสิหิงค์ ฉบับหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์แจกแก่ผู้ที่บริจาคทรัพย์บูชาพระพุทธสิหิงค์ในงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2478 ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า

          "พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700  ได้เข้ามาสู่สยามในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นสมัยต้นที่ประเทศสยามได้กำเนิดขึ้นฉะนั้นจึงต้องนับว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของสยามอย่างแท้จริง"

          เป็นประเพณีสืบเนื่องจากพุทธศักราช 2478 ในเทศกาลสงกรานต์ จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เป็นองค์ประธานในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันจวบจนปัจจุบัน

8. พระพุทธรูปห้ามญาติ

          ประวัติ : ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้จากมณฑลนครราชสีมา

          สถานที่เก็บรักษา : อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ห้องศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


สรงน้ำพระ 9 รูป

          พระพุทธรูปห้ามญาติ เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 23 หล่อขึ้นด้วยสำริด มีความูงพร้อมฐาน 77.5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ มีเรื่องเล่ากันมาว่าปางนี้เกิดจากเมื่อครั้งที่เหล่าบรรดากษัตริย์จากตระกูลศากยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธบิดา และพระญาติฝ่ายพุทธมารดาจากตระกูลโกลิยวงศ์ เกิดทะเลาะวิวาทกันจนเกือบจะกลายเป็นสงคราม

          อันมีสาเหตุมาจากการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อทำเกษตรกรรม เนื่องจากฝนแล้ง ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงเสด็จไปห้ามมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างกัน โดยตรัสเตือนสติให้เห็นถึงความไม่สมควรที่บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายต้องมารบราฆ่าฟันกันเอง เพียงเพราะการแย่งการใช้น้ำ จึงทำให้พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายได้สติและคืนดีต่อกัน

          สำหรับผู้ที่เคารพบูชาพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ด้วยเชื่อกันว่าจะช่วยปัดเป่าภยันตรายต่าง ๆ พร้อมทั้งปัดเป่าโรคภัยให้หายสิ้นด้วย (ขอขอบคุณข้อมูลจาก วัชราภรณ์ มธุรกันต์)

9. พระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว

          ประวัติ : นายเล็ก  วิจิตรภัทร มอบให้เมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2514

          สถานที่เก็บรักษา : คลังประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 
สรงน้ำพระ 9 รูป

          ที่มาของพระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว ปรากฏความตามพระพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า สัปดาห์ที่ 3 หลังตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จฯ จากอนิมิสเจดีย์แล้ว ทรงปรารถนาจะกระทำปาฎิหาริย์เพื่อระงับเสียซึ่งความสงสัยของเทวดาทั้งปวงในการตรัสรู้ฯ ของพระองค์ จึงทรงหยุด ณ กลางทางระหว่างต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทรมีคนเลี้ยงแกะอาศัยพักอยู่ในเวลาเลี้ยงแกะ) กับอนิมิสเจดีย์ พระองค์เนรมิตที่รัตนจงกรมในอากาศ ทางทิศเหนือแห่งมหาโพธิ์พฤกษ์ แล้วเสด็จพุทธดำเนินจงกรมอยู่ ณ ที่นั้นตั้งแต่วันสิ้นเดือนวิสาขะเป็นเวลา 7 วัน สถานที่แห่งนั้นจึงได้นามต่อมาว่า "รัตนจงกรมเจดีย์"

          "จงกรม" เป็นคำภาษาไทย มาจากคำ "จงกรมะ" ในภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลีคือ "จงกมะ" แปลว่า เดินหรือเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ ดังนั้นอากัปกิริยาจงกรมหรือการเดินจงกรม บ่งบอกลักษณะการเดินอย่างสำรวม มีสติกำกับทุกอย่างก้าว พระเนตรทอดลงต่ำ สื่อความหมายถึง เมื่อเดินถึงที่ไหนแล้วจะกลับ และกลับมาถึงไหนแล้วจะเดินต่อไป อาการเดินแช่มช้า ด้วยมีสติกำหนดนึกรู้อยู่เสมอในทุกขณะ ยก ย่าง และเหยียบ

          พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วนี้ เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ตามพระราชดำรัสที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เลือกค้นในคัมภีร์ต่างๆ และบัญญัติขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกข้อความให้พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วเป็นประหนึ่งพระพุทธรูปประจำรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระพุทธรูปปางนี้แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์พุทธศักราช 2176-2231) (ขอขอบคุณข้อมูลจาก รักชนก โคจรานนท์)

          จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้ทราบว่าพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นมีพุทธลักษณะที่งดงามและมีความหมายลึกซึ้ง และมีโอกาสไม่มากนักที่เราจะได้สรงน้ำพระทั้ง 9 องค์นี้พร้อม ๆ กัน หากใครมีเวลาสามารถแวะไปสรงน้ำพระ 9 พระพุทธรูปคู่แผ่นดินสยามนี้ได้ ณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2561

สรงน้ำพระ 9 รูป

          ทั้งนี้วันที่ 12 เมษายน 2561 จะมีพิธีเปิด "งานสงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขทั่วหล้า" อย่างเป็นทางการ โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติมากมาย อีกทั้งยังมี ปั้นจั่น ปรมะ และมะปราง กัญญ์ณรัณ นักแสดงจากละครดังบุพเพสันนิวาสมาร่วมงานด้วย ณ ฮอลล์ ออฟ เฟมและพาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรงน้ำพระ 9 พระพุทธรูปมงคลคู่สยาม ต้อนรับสงกรานต์ ณ สยามพารากอน อัปเดตล่าสุด 12 เมษายน 2561 เวลา 16:15:31 8,410 อ่าน
TOP