"ที่ที่พ่อไป" ภาพถ่ายเรื่องเล่าความทรงจำตามรอยพระบาทในหลวง ร.9



         ที่ที่พ่อไป โปรเจคท์รูปถ่ายในอดีตเทียบกับสถานที่ในปัจจุบันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จพระราชดำเนินมาตลอด 70 ปี ล้วนหลากหลายเรื่องราวความทรงจำอันทรงคุณค่าต่อปวงชนชาวไทย

         หากจะพูดว่า…ไอเดียการถ่ายภาพ Dear Photograph เป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจคท์อัลบั้มภาพ "ที่ที่พ่อไป" ของคุณ James Apisit ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเมื่ออัลบั้มภาพนี้ได้ถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กก็ได้รับการแชร์เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นที่มาของการตั้งเพจเฟซบุ๊กใหม่ที่ชื่อว่า "ที่ที่พ่อไป" เพื่อไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้คนได้เข้ามาเยี่ยมชม อีกทั้งยังเป็นการสานต่อความตั้งใจ และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อปวงชนชาวไทย และนี่คือผลงานภาพถ่ายที่สืบสานความตั้งใจของคุณ James Apisit ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการตามรอยพ่อหลวง ร่วมรับชมภาพถ่ายไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ

+++++++++++++++++++++++


         26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ไปประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมแผ่นคำจารึกที่ฐานพระบรมรูป จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมรูป ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสุหร่ายพระบรมรูปและทรงเจิมแผ่นคำจารึก ทั้งสองพระองค์ทรงวางพวงมาลา แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นที่ 1

         ภาพต้นฉบับ รอบรั้วรามฯ
         ข้อมูล มหาวิทยาลัยรามคำแหง PR Ramkhamhaeng University

+++++++++++++++++++++++


         18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525

         เมื่อ 35 ปีที่แล้ว...พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกต้นบ๊วย ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จพระราชดำเนินศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ถึง 3 ครั้ง คือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบุกเบิกก่อตั้งระยะแรกผ่านโครงการหลวง เพื่อพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวไทยภูเขา ทั้งยังลดพื้นที่ปลูกฝิ่นรวมทั้งลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำและลดการทำไร่เลื่อนลอย ทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอในชุมชน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินยังทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวไทยภูเขา ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมวิชาการเกษตร ใช้ทุ่งหญ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชสำหรับเกษตรกรบนที่สูงเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น เช่น กาแฟ ไม้ผลเมืองหนาว ข้าวไร่ ข้าวนาปรัง พืชผัก ตลอดจนไม้ดอกไม้ประดับที่มีราคาแพง

         ข้อมูลจาก นสพ.เมเนเจอร์ และ นายจำรอง ดาวเรือง
         ภาพต้นฉบับ กรมวิชาการเกษตร

+++++++++++++++++++++++


         31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506

         เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายน พ.ศ. 2506 เพื่อการเจริญสัมพันธไมตรี และทรงดูงานเพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศ

         ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบียวโดอิน (Byodoin Temple) ในเมืองนารา ภาพที่เห็นนี้คือภาพขณะทรงเยี่ยมชม ฟีนิกซ์ ฮอลล์ (Phenix hall) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นสัญลักษณ์ด้านหลังของเหรียญ 10 เยน

         ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองต่าง ๆ ของพระองค์ท่านทั้งสองในญี่ปุ่น นอกจากเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงทอดพระเนตรการดำเนินการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เพื่อนำเทคโนโลยี องค์ความรู้มาใช้กับการพัฒนาประเทศไทยด้วย

         ผมเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ปรับเปลี่ยนแผนการเที่ยวจากเดิม ตั้งใจค้นหาข้อมูลเพื่อตามรอยที่ที่ในหลวงเคยเสด็จพระราชดำเนิน 

         ญี่ปุ่นเป็นที่ที่คนไทยเดินทางมาเที่ยวเยอะ ผมเองก็เที่ยวละแวกนี้แล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินหลายแห่ง ผมอยากให้คนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่นเอง หรือเดินทางมาเที่ยวในที่เหล่านี้ ได้รู้สึกเหมือนกับผมว่าในหลวงอยู่กับเราทุกแห่ง และทุกก้าวย่างของท่านทำเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย

         ขอบคุณภาพ original
         ข้อมูลจาก หนังสือ เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง

+++++++++++++++++++++++


         5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินลงจากตำหนักจันทร์ วัดบวรฯ ในวันทรงลาผนวช

+++++++++++++++++++++++


         15 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบรรยายเรื่องการบำบัดน้ำเสียแก่นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี โดยพระองค์ทอดพระเนตรแบบจำลองขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย แผนภูมิกระบวนการบำบัดน้ำเสีย แผนภูมิการก่อสร้างโครงการ การบำรุงรักษาโครงการ และทรงบรรยายเรื่องการบำบัดน้ำเสียและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยพระราชทานแก่นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล

         โดยก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังทางน้ำล้นราชประชานุเคราะห์ 13 ตำบลปึกเตียน จังหวัดเพชรบุรี และทรงบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำพระราชทานแก่คณะนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ที่ออกปฏิบัติงานเพื่อผลิตรายการศึกษาทัศน์เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยทรงบรรยายถึงธรรมชาติและทิศทางการไหลของน้ำ การบริหารจัดการอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เกิดปัญหาหากบริหารจัดการได้ถูกต้องเหมาะสม

          นอกจากนี้ยังทรงอธิบายถึงการบริหารจัดการน้ำที่มีจำนวนมาก หากไม่ระบายน้ำลงสู่ทะเลก็จะทำให้น้ำเสียไปทั้งหมด แต่ถ้าระบายน้ำเสียที่มีจำนวนมากออกในปริมาณที่เหมาะสมก็จะทำให้น้ำดีอยู่ด้านบนไหลลงมาแทนที่น้ำที่ระบายออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

          ภาพต้นฉบับจาก วีดิทัศน์ของ โครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย
          ข้อมูล วารสารโดยสำนักงาน กปร.

+++++++++++++++++++++++


         9 มิถุนายน พ.ศ. 2549

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในโอกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยพสกนิกรที่ไปร่วมแสดงความจงรักภักดีเนืองแน่นลานพระบรมรูปทรงม้าและตลอดถนนราชดำเนิน โดยประชาชนได้ร่วมกันสวมเสื้อสีเหลืองกันเต็มพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้ายาวถึงถนนราชดำเนิน

         หลังจากพระราชทานวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี เลขาธิการพระราชวัง ราชเลขาธิการ สมาชิกราชสกุล และพสกนิกร เข้าเฝ้าฯ ทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ใจความว่า

         "ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางมหาสมาคม พร้อมพรั่งด้วยบุคคลจากทุกสถาบันในชาติ ตลอดจนประชาชนชาวไทย ขอขอบใจในคำอำนวยพรและการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนตั้งใจจัดให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ ทั้งรัฐบาลได้จัดงานครั้งนี้ได้เรียบร้อยและงดงาม น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ รวมทั้งที่พร้อมเพรียงกันมาในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออกและตั้งใจมาด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุก ๆ คน จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง

         ประการแรกคือการที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ประการที่สองคือการที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน ประการที่สี่คือการที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ทั้งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และถ่ายทอดความคิด จิตใจนี้กันต่อไปอย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า

         ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล จงคุ้มครองรักษาประเทศชาติไทย ให้ปลอดพ้นจากภัยอันตรายทุกสิ่ง และอำนวยความสุข ความเจริญ สวัสดี ให้เกิดมีแก่ประชาชนชาวไทยทั่วกัน"

         เมื่อจบพระราชดำรัส พสกนิกรพร้อมใจกันเปล่งเสียงคำว่า "ทรงพระเจริญ" กึกก้องต่อเนื่อง และพร้อมจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสไปปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

         ภาพต้นฉบับ อินเทอร์เน็ต
         ข้อมูล นสพ.ผู้จัดการออนไลน์

+++++++++++++++++++++++


         14 กรกฎาคม 2541

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ประทับบนมิมบัร ในมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน จังหวัดเพชรบุรี

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซานในโครงการพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541

         โดยนายทองหล่อ จันทร์อ้น โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน ได้เล่าว่า พ.ศ. 2533 ก็ไปบอกชาวบ้านว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมา ชาวบ้านก็มากันเต็มไปหมด แล้วก็จะเชิญในหลวงเข้ามัสยิด เมื่อมาถึงก็เชิญพระองค์ท่านเข้ามาในมัสยิด พอมาถึงหน้ามิมบัร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ก็มาด้วย ผมกับกรรมการก็เอาเก้าอี้มาตั้งให้พระราชินีโต๊ะเดียว ในหลวงก็ถามว่าจะให้ฉันนั่งที่ไหน อิหม่ามก็บอกว่าไม่ได้เตรียมที่นั่งไว้หรอก ขอเชิญท่านขึ้นไปประทับบนนี้ (มิมบัร) แหละ ท่านจึงได้ก้าวขึ้นไปนั่ง ท่านจึงได้ตรัสถามลงมาว่าที่เชิญฉันมาเนี่ยเพื่ออะไร อิหม่ามจึงตอบว่าเราสร้างมัสยิดนี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทางจังหวัดให้ไปจดทะเบียนมัสยิดแต่ไม่สามารถจดได้ เนื่องจากมัสยิดไม่มีโฉนดที่ดินไปขอทรัพย์สิน เขาก็ไม่ให้ ถ้าอยากได้ก็ไปขอในหลวงเอง เราก็เล่าความจริงทั้งหมดให้ในหลวงฟัง ท่านสั่งเดี๋ยวนั้นเลย คุณสุเมธช่วยจัดการในเรื่องนี้ให้เขาให้เรียบร้อยโดยเร็วด้วยนะ"

         ในระหว่างปี พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2544 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังมัสยิดแห่งนี้ 7 ครั้ง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ชาวบ้านห้วยทรายใต้ ยึดความเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา พระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

         จากนั้นในปี พ.ศ. 2539 มัสยิดหลังเก่าเกิดสภาพทรุดโทรม ได้ขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำการสร้างใหม่ในสถานที่เดิม จนกระทั่งมัสยิดหลังใหม่เสร็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานเปิดมัสยิดแทนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2543

         ภาพต้นฉบับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         ข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรี นสพ.ผู้จัดการออนไลน์

+++++++++++++++++++++++


         17 ตุลาคม พ.ศ. 2521

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทรงเจิมป้ายชื่อสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มายังสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ทรงเปิดอาคารโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารนมหลังใหม่ของสหกรณ์ และทรงเจิมป้ายชื่อสหกรณ์

         โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสหกรณ์ โดยได้รับพระราชทานชื่อ "โรงนมผงหนองโพ" โดยให้บริหารงานในรูปแบบบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า "บริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด"

         โดยการจัดตั้งโรงงานแห่งนี้ขึ้นเนื่องมาจากเกษตรผู้เลี้ยงโคนมในเขตจังหวัดราชบุรีและนครปฐม ประสบปัญหาเดือดร้อนเกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ เมื่อความทราบถึงพระเนตร พระกรรณ พระองค์ท่านทรงได้พยายามที่จะหาทางช่วยเหลือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งคณะกรรมการสร้างโรงงานขึ้นและให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้ออกแบบ โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อการก่อสร้างเพิ่มจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายอีกเป็นเงิน 1,002,000 บาทด้วย

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และได้รับพระราชทานเงื่อนไขไว้ด้วยว่า บรรดาเงินกำไรสุทธิที่คณะกรรมการบริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น ไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตรธิดาสมาชิกของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงานเป็นประจำ

         ปัจจุบันสหกรณ์โคนมหนองโพฯ ได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว และทางสหกรณ์ได้ดำเนินกิจการตามแนวพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยตลอด โดยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และผลิตภัณฑ์นมยูเอชที จำหน่ายไปทั่วประเทศ

         อาคารโรงงานผลิตนมหลังนี้มีชื่อว่า "อาคารเดชสหกรณ์ม.ล.เดชสนิทวงศ์" เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ ผู้เป็นประธานกรรมการบริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำ กัด ซึ่งเป็นผู้ที่อุทิศกำลังใจและกำลังกายดำเนินการอย่างดีที่สุด สมดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้แทนพระองค์ และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดอาคารหลังนี้และเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์โคนมหนองโพฯ

         ภาพต้นฉบับ prd.go.th
         ข้อมูล สหกรณ์โคนมหนองโพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

+++++++++++++++++++++++



         19 เมษายน พ.ศ. 2509

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำเรือใบเวคาข้ามอ่าวไทย

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำเรือใบ "เวคา" เรือใบประเภทโอเคที่ทรงต่อขึ้นเอง ออกแล่นใบจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา ของวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ข้ามอ่าวไทย ท่ามกลางอากาศที่แปรปรวนพอสมควร มุ่งสู่หาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 101 กิโลเมตร ทรงใช้เวลาในการแล่นใบประมาณ 16 ชั่วโมง เมื่อพระองค์ท่านทรงเรือใบถึงแล้วได้เปลี่ยนฉลองพระองค์ทรงชุดสนามนาวิกโยธินเป็นครั้งแรก ทรงนำธงราชนาวิกโยธินซึ่งนำข้ามอ่าวมาปักเหนือยอดหินใหญ่ที่ชายหาด และทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึกบนก้อนหินใหญ่นั้น

         ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้เล่าให้ฟังว่า พระเจ้าอยู่หัวท่านจะเอาธงประจำนาวิกโยธิน เอาไปพระราชทานและทรงรับสั่งว่าจะทรงแล่นเรือใบไปจากอ่าวหัวหินไปที่สัตหีบ คราวนี้คนที่ติดตามไปก็มีผมคนหนึ่ง เพราะผมเป็นคอมมอนดอร์ของหมวดเรือใบหลวงจิตรลดา แล้วก็มีท่าน แล้วก็มีคุณสนองพระองค์พีระขอตามเสด็จพระราชดำเนินไปด้วย คือพระเจ้าอยู่หัวไม่อยากให้ไปกันมาก เพราะว่าถ้าไปกันหลาย ๆ ลำแล้วเกิดพายุจะดูแลลำบาก ตกลงก็มีแค่ 4 ลำ ไปด้วยกัน

         พล.ร.อ. ประภัทร์เผ่า ปัณยาชีวะ รองสมุหราชองครักษ์ เล่าว่า ท่านตั้งพระราชหฤทัยที่จะมาถึง นย. ที่จะพระราชทานธงให้ นย. ท่านเอาฉลองพระองค์และเอาธงใส่ท้ายเรือใบ

         ส่วน พล.ท. ม.ร.ว.สมชนก กฤดากร เล่าให้ฟังว่า ยังไม่ถึงเตยงาม แดดร่มลมตก ลมมันหมด ยุ่งกันใหญ่ ท่านก็ไม่ทรงยอมเลิก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านมีน้ำอดน้ำทน ไม่เลิกง่าย ๆ ลมไม่มีท่านก็ไม่ยอมเลิก

         ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า "การเล่นเรือ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือแล้ว เรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้ แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง"

        ภาพต้นฉบับ อินเทอร์เน็ต
        ข้อมูล สารคดีเทิดพระอัจฉริยะด้านการทรงเรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

+++++++++++++++++++++++


         26 มิถุนายน พ.ศ. 2505

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ วัดไทยเชตวัน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปยังสหพันธรัฐมาลายา (ชื่อเดิมของประเทศมาเลเซีย) ระหว่างวันที่ 20-27 มิถุนายน พ.ศ. 2505

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าของวัดไทยเชตวันด้วยพระองค์เอง ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2505 โดยเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจระหว่างการเสด็จฯ เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

         นอกจากนี้วัดไทยเชตวันเป็นวัดไทยแห่งเดียวในมาเลเซียที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ไว้บนอุโบสถของวัดแห่งนี้ด้วย

         โดยที่ภาพนี้ผมได้มาจากหนังสือ K.Sri Dhammananda: a pictorial retrospect ซึ่งทางท่านหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันท่านหามาให้อีกทีครับ เพราะภาพที่ผมนำไปด้วยจากประเทศไทย ไม่ใช่ภาพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินวัดแห่งนี้ แต่เป็นวัดอื่นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ในมาเลเซียครับ

         ภาพต้นฉบับ หนังสือ K. Sri Dhammananda: a pictorial retrospect

+++++++++++++++++++++++


         21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา

         เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปยังบริเวณลานสระว่ายน้ำสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉลองพระองค์เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีฟ้าอ่อนสลับขาว พระสนับเพลาสีดำ พร้อมทั้งทรงจูงคุณทองแดงประทับรถเข็นพระที่นั่งไปตามทางเชื่อมอาคาร เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะ จากนั้นทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศาลาศิริราชร้อยปี และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตึกสยามินทร์ โดยตลอดเส้นทางมีประชาชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และญาติผู้ป่วยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พร้อมเปล่าเสียงถวายพระพรทรงพระเจริญ

         จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณลานสระว่ายน้ำสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อสมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

         ภาพต้นฉบับ อินเทอร์เน็ต
         ข้อมูล นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

+++++++++++++++++++++++


         24 มีนาคม พ.ศ. 2556

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทอดพระเนตรทัศนียภาพเจ้าพระยา

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์พระบรมราชชนก และพระรูปหล่อสมเด็จย่า และทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยา

         โดยเมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินลงจากที่ประทับ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โดยประทับรถเข็นพระที่นั่ง โอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีเลือดหมู ลายกราฟิกสีฟ้าดอกแดง พระสนับเพลาสีเทา รองพระบาทหนังสีดำ พระองค์ท่านมีพระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลแก่พสกนิกที่มาเฝ้ารอรับเสด็จบริเวณโถงชั้นล่าง

         จากนั้นเสด็จฯ ไปยังลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะ และเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรต้นศรีตรังที่ทรงปลูกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ณ บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วเสด็จฯ ไปยังตึกสยามินทร์ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

         จากนั้นประทับรถตู้พระที่นั่งเสด็จฯ ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช โดยประชาชนที่เฝ้ารอรับเสด็จต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" เมื่อเสด็จฯ ไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงจูงคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ที่มารอเฝ้ารับเสด็จบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล จากนั้นเสด็จฯ ไปยังชั้น 7 สถาบันการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทรงเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ และทอดพระเนตรทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา และเสวยพระกระยาหารค่ำ กระทั่งเวลา 18.50 น. เสด็จฯ กลับยังที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

         ภาพต้นฉบับ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง
         ข้อมูล นสพ.คมชัดลึก

+++++++++++++++++++++++


         9 มีนาคม พ.ศ. 2502

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินหาดสุรินทร์ จังหวัดภูเก็ต

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังหาดสุรินทร์ ในการเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม ถึง 12 มีนาคม พ.ศ. 2502

         โดยในปี 2550 หน่วยงานราชการได้สร้างหอสมุดภาพในโครงการสร้างสัญลักษณ์แห่งสถานที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่บริเวณหลักหาดสุรินทร์ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต แห่งนี้

         ภาพต้นฉบับ อินเทอร์เน็ต
         ข้อมูล กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดภูเก็ต

+++++++++++++++++++++++


         23 เมษายน พ.ศ. 2540

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2540

         โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นั้นเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกในจำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ พระองค์พระราชทานแนวทางการพัฒนาศูนย์ ไว้ดังนี้

         1. พัฒนาให้เป็นศูนย์ตัวอย่างด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ทั้งการพัฒนาแหล่งนี้ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน การวางแผนปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้ามาชมศึกษาค้นคว้าหาความรู้และนำไปปฏิบัติได้

         2. พัฒนาพื้นที่รอบนอกศูนย์ศึกษาฯ บริเวณลุ่มน้ำโจนให้มีความเจริญขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างต่อไป

         3. ให้นำวิธีการที่ได้ผลมาแล้วถูกต้อง ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดมาดำเนินการ

         ที่นี่จึงทำหน้าที่เหมือนเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต และเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ กล่าวคือเป็นทั้งศูนย์สรรพวิทยาการ และการพักผ่อนหย่อนใจไปในคราวเดียวกัน ดังพระราชดำริที่ว่า "...เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับสามารถที่จะมาดู จะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้ คือเป็นทัศนศึกษา พานักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยก็ตาม หรือไม่ใช่นักเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นผู้น้อยมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับ ทุกอย่าง คือ หมายความว่าทุกหน้าที่สามารถมาดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสายต่าง ๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา นอกจากนั้นไปดูศูนย์ศึกษาฯ ก็ไปหย่อนใจได้ เพราะว่าทำงานเครียดก็ไปเที่ยวศูนย์ศึกษาเหมือนไปเที่ยวสวนสาธารณะก็ได้ความรู้ด้วย นี่แหละเป็นหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนา..."

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้ 4 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2522, พ.ศ. 2523, พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2540

         ภาพต้นฉบับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         ข้อมูล สำนักงาน กปร.

+++++++++++++++++++++++


         15 มีนาคม พ.ศ. 2502

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ น้ำตกพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังน้ำตกพรหมโลก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2502

         โดยก่อนถึงน้ำตกพรหมโลก ประมาณ 10 กิโลเมตร ทรงเปลี่ยนรถยนต์พระนั่งเป็นรถจี๊ปเป็นถนนที่ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันสร้างถวาย และก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ภปร และ พระนามาภิไธย สก บริเวณหน้าผาน้ำตกชั้นที่ 1 ปัจจุบันยังปรากฏพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์

         เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพลับพลาหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดกราบบังคมทูลนำข้าราชการและราษฎรเฝ้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจในการต้อนรับอย่างพร้อมเพรียงทำให้ทรงหายเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ทรงยินดีที่ทราบว่าการทำอาชีพมีผลดีแล้วทรงขอให้พระบรมธาตุ ทั้งพระพุทธสิหิงค์ได้คุ้มครองประชาชนให้เจริญรุ่งเรือง

         ทั้งนี้การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นการเยี่ยมราษฎรชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13-16 มีนาคม พ.ศ. 2502

         ภาพต้นฉบับ อินเทอร์เน็ต
         ข้อมูล ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ และข่าวช่อง 3

+++++++++++++++++++++++


         20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจิมศาลหลักเมืองนครราชสีมา

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเจิมศาลหลักเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 โดยศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บนถนนจอมพล จังหวัดนครราชสีมา

         นอกจากนี้แล้วในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรกิจการโรงเรียนสุรนารีวิทยา และทอดพระเนตรการปฏิบัติทางด้านวิชาการของนักเรียนด้วยความสนพระราชหฤทัย

         จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ทอดพระเนตรโรงฝึกงาน และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมวิทยาลัยครูนครราชสีมา ทรงฟังการอภิปรายหน้าพระที่นั่ง และเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 18.10 น.

         ภาพต้นฉบับ พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
         ข้อมูล พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

+++++++++++++++++++++++


          3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ไทรงาม จังหวัดนครราชสีมา

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปยังอุทยานไทรงาม ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

         โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ประทับชิงช้าใต้ต้นไทร โดยมีในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นผู้โล้ชิงช้า

         ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ทีวี ได้สัมภาษณ์ นายหนูแดง สุขสบาย ชาวอำเภอพิมาย อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างกลโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ เปิดเผยว่า พ่อของเขาได้เล่าให้ฟังเมื่อครั้งทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มาที่ไทรงาม พร้อมกับนำไปดูจุดที่ใช้ผูกชิงช้าให้สมเด็จพระราชินีประทับ ดังที่เห็นในรูป แต่ปัจจุบันต้นไทรต้นนั้นได้ล้มไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จากเหตุพายุพัด ต่อมาทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาได้ให้สร้างศาลไว้เพื่อกราบไหว้ เพราะต้นไทรต้นนั้นมีอายุกว่า 400 ปีแล้ว

         ภาพต้นฉบับ พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
         ข้อมูล เวิร์คพอยท์ ทีวี
         หมายเหตุ : จุดที่ถ่ายภาพนี้ไม่ตรงจุดซะทีเดียวนะครับ หากยึดตามคำให้สัมภาษณ์ของนายหนูแดง จุดของภาพนี้อยู่ตรงศาลที่อยู่ด้านหลังของภาพนี้อีกที แต่ไม่สามารถลงไปยืนให้ตรงจุดเพื่อถ่ายภาพนี้ได้ครับ

+++++++++++++++++++++++

        
         3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ปราสาทหินพิมาย

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปราสาทหินพิมาย ในการเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครราชสีมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 โดยทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498

         ในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จทอดพระเนตรปราสาทหินพิมาย ในอำเภอพิมาย โดยก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จทอดพระเนตรปราสาทหินพิมาย ได้ทรงเยี่ยมราษฎร มีพระราชปฏิสันถารถึงทุกข์สุขของราษฎรและการประกอบอาชีพรายบุคคล ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองพิมาย

         โดยในปี พ.ศ. 2507-2512 ได้มีการบูรณะปราสาทพิมายด้วยวิธีอนัสติโลซิส โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ผ่านทางองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 หลังจากกรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะและปรับปรุงเมืองพิมายจนแล้วเสร็จ ระหว่าง พ.ศ. 2519-2532 และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม

         ภาพต้นฉบับ พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
         ข้อมูล หนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต

+++++++++++++++++++++++


         15 กรกฎาคม 2547

         ...วันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว...

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ โครงการแหลมผักเบี้ย

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย ซึ่งเป็นโครงการบำบัดน้ำเสีย เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะชุมชนที่ประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศได้อย่างกว้างขวาง

         ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ทรงนำคณะนักเรียนจากโรงเรียนวังไกลกังวลมาเรียนรู้ ทรงสอนและอธิบายถึงวิธีการจัดการน้ำที่ถูกต้อง พร้อมทั้งทรงบรรยายขั้นตอนในการบำบัดน้ำเสียของศูนย์วิจัยฯ ในรายการศึกษาทัศน์

         ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่ใช้การพักน้ำเสียไว้ในเวลาที่เหมาะสมกับค่าความสกปรกของน้ำ เติมออกซิเจนลงในน้ำด้วยการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนและสาหร่าย โดยใช้แรงลมในการพลิกน้ำเติมอากาศเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังมีระบบหญ้ากรองน้ำเสีย และระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม

         เมื่อระบบนิเวศกลับคืนมาชาวบ้านในบริเวณนี้ก็สามารถเก็บหอยได้กว่า 3 ตันต่อวัน ทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งเรือประมงก็เข้ามาทำมาหากินในบริเวณแหลมผักเบี้ย ซึ่งช่วยยืนยันความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

         ศ. ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เล่าให้ฟังว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รับสั่งว่าขาดทุนเท่ากับกำไร" โดย อ.เกษม บอกว่าที่แหลมผักเบี้ยแต่ละปีใช้งบประมาณประมาณ 25 ล้านบาท แต่ชาวบ้านสร้างรายได้ได้ 120 ล้านบาทต่อปี แต่รัฐก็ไปคิดว่ามันคือการลงทุนที่ขาดทุน แต่จริง ๆ ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชนแล้ว

         ภาพจาก VDO ของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         ข้อมูล โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกรมชลประทาน

+++++++++++++++++++++++


         15 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทางน้ำล้นราชประชานุเคราะห์ 13 จังหวัดเพชรบุรี

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทอดพระเนตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดเพชรบุรี สืบเนื่องจากการเกิดน้ำท่วมใหญ่ ในช่วงเดือนตุลาคม 2546 ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคันกั้นน้ำเค็ม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อใช้ในการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม และปรับปรุงทางระบายน้ำล้น โดยพระราชทานนามประตูระบายน้ำว่า ราชประชานุเคราะห์ 4 ถึง 13 รวม 11 แห่ง

         ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ทรงนำคณะนักเรียนจากโรงเรียนวังไกลกังวล มาเรียนรู้ ทรงสอน และอธิบายถึงวิธีการจัดการน้ำที่ถูกต้องอีกด้วย

         โดยวันที่ผมไปถ่ายภาพที่บริเวณนี้ผมได้มีโอกาสคุยกับชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังที่อยู่ใกล้จุดที่ตั้งของลานพลับพลาชั่วคราว ในอำเภอท่ายาง โดยคุณลุงได้เล่าให้ฟังว่าได้มีโอกาสมารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย

          นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าก่อนที่จะทำโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวง น้ำท่วมบ่อยเพราะถนนบริเวณนี้สูงมาก น้ำที่มาจากคลองต่าง ๆ ไม่สามารถข้ามถนนไปได้ก็เลยท่วมขัง รวมถึงประตูน้ำก็เล็กใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็เลยทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตลอดมา แต่หลังจากที่โครงการตามแนวพระราชดำริเสร็จแล้ว "ก็ไม่เคยเจอปัญหาน้ำท่วมอีกเลย" เพราะมีการปรับถนนให้ต่ำลงมาเพื่อให้น้ำสามารถข้ามถนนเพื่อลงทะเลได้ ประตูระบายน้ำก็เปิด-ปิดอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นการเปิด-ปิดประตูน้ำก็ยังทำให้คุณลุงสามารถเลี้ยงปลาในกระชังกลายเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อีกด้วย

         ภาพ ทวี เต็มญารศิลป์
         ข้อมูล กรมชลประทาน

+++++++++++++++++++++++


         3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

         ...วันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว...

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทรงเปิดรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก สายเฉลิมรัชมงคล ณ สถานีหัวลำโพง

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดใช้รถไฟฟ้าใต้ดินอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เวลา 17.30 น.

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกดปุ่มเปิดผ้าแพรคลุมป้ายโครงการ จากนั้นเสด็จฯ ลงสู่ชั้นชานชาลาเพื่อประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังสถานีปลายทางที่ศูนย์ซ่อมบำรุงพระราม 9 เพื่อกดปุ่มระบบคอมพิวเตอร์เปิดการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินอย่างเป็นทางการ

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยการเดินรถใต้ดินเป็นอย่างมาก ในระหว่างทางได้เสด็จไปประทับ ณ ห้องพนักงานขับรถ ได้ทอดพระเนตรอุโมงค์ทางวิ่ง ผู้ว่าการ รฟม. ในขณะนั้น ได้ถวายคำอธิบายจนถึงสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ พระองค์ท่านจึงเสด็จออกมาประทับที่เดิม

         เมื่อเวลา 19.00 น. ขบวนรถไฟฟ้าพระที่นั่งได้วิ่งเข้ามาถึงศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา จากนั้นทั้ง 3 พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเข้าศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเพื่อทรงรับฟังรายงานสรุป และทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน

         โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสถามด้วยความสนพระราชหฤทัย อาทิ สภาพถนนหลังการคืนผิวถนนรัชดาภิเษกเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ การก่อสร้างสถานีสีลมที่ต้องตัดตอม่อสะพานและต้องสร้างตอม่อใหม่บนหลังคาสถานี รางรถไฟจะใช้รางรถไฟของการรถไฟฯ ได้หรือไม่ และการใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรางที่สาม และยังตรัสถามโครงการรถไฟฟ้าในอนาคตว่าควรจะมีการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าเพราะจะแก้ปัญหาจราจรได้ เนื่องจากเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นระยะทางที่สั้นเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

          ครั้นถึงเวลา 19.19 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกดปุ่มเปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการ โดยขบวนรถไฟฟ้าที่ทรงกดปุ่มเปิดการเดินรถได้วิ่งไปที่สถานีรถไฟฟ้าพระรามเก้าเป็นสถานีแรก และมีรถไฟฟ้าให้บริการอยู่ในขณะนั้น 14 ขบวน

         ในระหว่างการทอดพระเนตรการเดินรถผ่านทางโทรทัศน์วงจรปิดปรากฏว่ามีประชาชนสนใจใช้บริการเป็นอย่างมาก ในหลวงทรงซักถามถึงระบบคอมพิวเตอร์ในการเดินรถไฟฟ้าด้วยความสนพระราชหฤทัย และยังทรงถามถึงราคารถไฟฟ้าและการใช้โทรศัพท์มือถือว่าคลื่นความถี่ต่าง ๆ จะรบกวนระบบการเดินรถไฟฟ้าหรือไม่

         หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 19.50 น.

         โดยสถานีโทรทัศน์ www.mcot.net ได้สัมภาษณ์ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟม. โดยนายประภัสร์ให้สัมภาษณ์ว่า "พระองค์ท่านได้ตรัสกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า เหมือนที่ฝรั่งเศสเลยนะ และท่านก็ดีใจที่ไทยมีรถไฟฟ้าใต้ดินเหมือนในยุโรป"

         ภาพ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
         ข้อมูล บางส่วนจาก YouTube PR MRTA Official, MCOT และ นสพ.เมเนเจอร์

         ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวความทรงจำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ให้พสกนิกรชาวไทยได้ย้อนรำลึก กี่รอยพระบาทของพระองค์ที่ทรงก้าวเดินบนผืนแผ่นดินไทย ได้สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้ หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจอยากติดตามเรื่องราวเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูเรื่องราวได้ที่ เฟซบุ๊ก ที่ที่พ่อไป แล้วจะรู้เลยว่าพระองค์ท่านรักพวกเรามากเพียงใด

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เฟซบุ๊ก James Apisit, เฟซบุ๊ก ที่ที่พ่อไป
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"ที่ที่พ่อไป" ภาพถ่ายเรื่องเล่าความทรงจำตามรอยพระบาทในหลวง ร.9 อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 20:56:29 37,548 อ่าน
TOP