x close

สายน้ำจากก้นบึ้งแห่งภูเขา...ทองผาภูมิ

ทองผาภูมิ

ทองผาภูมิ


ทองผาภูมิ

ทองผาภูมิ


 

ทองผาภูมิ

ทองผาภูมิ





สายน้ำจากก้นบึ้งแห่งภูเขา...ทองผาภูมิ (อสท.)

หัสชัย บุญเมือง...เรื่องและภาพ

         สายน้ำยะเยียบไหลผ่านโตรกผาเป็นสายธารให้ความชุ่มฉ่ำกับผืนป่าและสรรพชีวิต เสียงน้ำตกไหลกระทบแผ่นผาเบื้องล่างผสานกับเสียงเรไรที่กรีดออกมาเป็นจังหวะ เสียงปะทุของไม้ไผ่จากกองไฟ และบรรยากาศของสายลมที่แผ่วพลิ้วในยามค่ำ คืนนี้ไม่มีดาวที่ปลายฟ้าให้เราได้มองเห็น มีเพียงก้อนเมฆบาง ๆ ไล้ริมเงาของภูเขาใหญ่เบื้องหน้า เสียงเขียดดังก้องกังวาน แทรกมาพร้อมกับนกกลางคืน หิ่งห้อยตัวใหญ่บินตัดผ่านคงไผ่ก่อนจะหายลับไป บางความหมายของบทเพลงแห่งผืนป่าดิบที่คอยขับกล่อมคนเดินทาง ที่ต้องการความละมุนแห่งผืนป่ากล่อมเกลาหัวใจ...

         ผมกระชับผ้าขาวม้าผืนเก่าที่อวลไปด้วยกลิ่นควันไฟ และสามของความชื้น ก่อนจะหยิบไฟฉายส่องไปยังเปล ซึ่งแขวนไว้บนความว่างเปล่าระหว่างต้นไม้ ฟลายชีตสีชมพูผืนเดิมยังคงทำหน้าที่ป้องกันสายฝนได้เป็นอย่างดี ทว่ายามที่ไร้ซึ่งเม็ดฝนอย่างคืนนี้ ก็เป็นตัวช่วยกำบังลมให้อุ่นภายใต้เสียงสนทนารอบกองไฟยังแว่วมาเป็นระยะ และเงียบไปเมื่อน้ำค้างตกกระทบหลังคาผ้าใบ

         นั่นเป็นคืนที่ผมได้ลากผืนป่าและขุนน้ำของทองผาภูมิ ซึ่งเป็นอาทิตย์แล้วที่ได้เข้าไปยังหลาย ๆ พื้นที่ของ อำเภอตะวันตกสุดแห่งกาญจนบุรี ที่ซึ่งเรื่องเล่ามากมายเกิดขึ้น และเป็นตำนานที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน...
ถนนสู่ปลายเทือกเขาและดอกไม้ของโลก

         ทางหลวงหมายเลข 323 ทอดคดเคี้ยวไปตามจังหวะของตัวมันเอง สายฝนของฤดูกาลยังคงไม่ขาดเม็ด เสียงเพลงจากลำโพงติดรถยนต์ยังคงส่งเสียงออกมาอย่างไม่ขาดระยะ แม้จะไม่ใสขับพลังได้ไม่ดีนัก แต่มันก็เป็นเพื่อนกันมานาน ผมเดินทางบนถนนสายนี้มาหลายรอบ แต่ละครั้งปลายทางไม่เคยเหมือนกัน บางคราวเราตามรอยท่อแก๊สที่ทอดข้ามจากพม่า เหมือนไส้เดือนเหล็กในดินที่ดูดทรัพยากรขึ้นมาใช้อย่างไม่เคยปรานี บางคราวไปไกลจนสุดทางเดินเท้าสู่บางส่วนของขอบแผนที่ และบางครั้งก็มาเพียงได้สบตา หรือได้สนทนากับเพื่อนเก่าเพียงสักคำสองคำ ก็เหมือนมาถึงทองผาภูมิแล้ว ทว่าในครั้งนี้ผมมีจุดหมายของระหว่างทางมากมายเหลือเกิน ที่จะบอกกล่าวถึงความงดงามบนแผ่นดินนี้

         ฝนนี้เราตามไปดูดอกไม้เล็ก ๆ ที่ชายเขาหินปูนแถวๆ บางตำบลของทองผาภูมิ ซึ่งคณะสำรวจเทียนในโครงการ Flora of Thailand มีแผนเข้าไปในช่วงเวลานี้ เราจอดรถไว้ริมถนน ก่อนจะเดินเข้าไปตามทางป่าไผ่ที่ทอดตัวร่มครึ้ม พื้นล่างแน่นไปด้วยไปของพืชในวงศ์ขิง ระหว่างเดินอยู่บนความฉ่ำของผืนดินที่บอกเราได้ว่าซับน้ำเอาไว้เต็มที่แล้ว ดอกไม้ที่เรามาตามหาคงได้เวลาบานเต็มที่แล้วเช่นกัน คราวนี้ผู้ค้นพบและผู้จัดทำคำบรรยายมาด้วยกัน คงมีอะไรให้เราได้เก็บเกี่ยวความรู้กันบ้าง

ทองผาภูมิ



         “ตอนนั้นทำปริญญาเอกเกี่ยวกับพืชในวงศ์ขิง แล้วเก็บตัวอย่างเทียนชนิดนี้ไปได้จากที่นี่แหละ จากนั้นก็ส่งไปให้ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ช่วยตรวจสอบ จำแนกชนิด จึงรู้ว่าเป็นชนิดใหม่” ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ นักพฤกษศาสตร์แห่งพิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร บอกกล่าวถึงการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกให้เราฟังในพื้นที่จริง ก่อนที่ ดร.ปิยเกษตร  ผู้จำแนกชนิดและจัดทำคำบรรยายร่วมกับ T. Shimizu นักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ที่ทำการสำรวจพืชสกุลนี้ในประเทศไทย จะมีความเห็นตรงกัน และได้ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้คนพบว่า Impatiens tribounii T. Shimizu & Suksathan มีชื่อไทยว่าเทียนไตรบุญ ตามสกุลของ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ

         หลังจากได้ฟังเรื่องเล่าของการค้นพบทางพฤกษศาสตร์แล้ว เราก็ได้พบกับเทียนไตรบุญของแท้ในธรรมชาติ ที่กำลังแทงช่อผลิดอกอย่างงดงามอยู่บนก้อนหินที่ค่อนข้างร่ม ผมเลือกทำเลที่สามารถกางขาตั้งกล้องนั่งรอแสง และรอลมหยุดพัดเพื่อให้ดอกนิ่งๆ สักพัก ผมจึงสังเกตเห็นสีเหลืองที่งดงามอย่างยิ่งของดอกเทียนชนิดนี้ ส่วนที่เป็นเดือยดอกโค้งได้รูปกับกลีบดอกที่คล้ายหลอด มีขีดสีแดงอมส้มบางๆ ไล่น้ำหนักดูงามตา เวลาที่ได้นั่งนิ่งมองดอกไม้ในธรรมชาติบานอย่างงดงาม กับการเฝ้ารอเพื่อบันทึกภาพบางจังหวะให้งดงามสมบูรณ์ในขณะเสี้ยวแห่งการรอคอยนั้น มีผีเสื้อสีน้ำตาลตัวขนาดพอเหมาะกับดอกไม้บินมาเกาะ และล้วงงวงเข้าไปหาน้ำด้อยอย่างสบายอารมณ์ พร้อม ๆ กับที่ผมกดชัตเตอร์ไปหลายภาพ แต่ผลก็ออกมาไม่ดีนัก แล้วเจ้าผีเสื้อก็ตกใจบินไปอย่างรวดเร็ว

         จากเวลาที่มีค่อนข้างเยอะสำหรับการถ่ายภาพ ทำให้ผมนั่งรอด้วยใจจดจ่อ เพราะเห็นเจ้าผีเสื้อสีเดิม แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเดิมหรือไม่ กำลังบินเกาะดอกอื่น ๆ และทำกิริยาในลักษณะไม่ต่างกัน ผมหันไปเซตกล้องและอุปกรณ์ไว้จนพร้อมมือถือสายลั่นชัตเตอร์ แฟลชพร้อมอย่างเต็มที่ ในที่สุดการรอคอยก็สิ้นสุดลงพร้อม ๆ กับผีเสื้อมาเกาะยังจุดที่ต้องการ และเมื่อดอกนิ่ง ผมกดชัตเตอร์ไปเป็นจังหวะอย่างไม่เร่งรีบ แต่ไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดลอยไป และได้ภาพมาเกือบสิบเฟรม ซึ่งมีทั้งแฟลชออกบ้าง ไม่ออกบ้าง แต่ผมชอบแบบเปิดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ครับ เรียกว่าแค่การเกาะหนึ่งครั้งกับเสี้ยววินาทีเท่านั้น เราจะพลาดไม่ได้เลย เพราะหากมัวแต่เผลอ หรือขาดสมาธิ ภาพแบบนี้ก็คงไม่สามารถมาอยู่บนไฟล์ได้ครับ


ทองผาภูมิ




ผาเขียว ทางสายดิบของแผ่นดิน

         ผมแยกตัวจากทีมงานสำรวจพืชในสกุลเทียนเมื่อภารกิจสำเร็จไปด้วยดี และทางคณะต้องกลับสู่ต้นสังกัด ทว่าการเดินทางมาเยือนทองผาภูมิของผมเพียงเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง เพราะนอกเหนือจากเรื่องราวสุดแสนจะอ่อนหวานของดอกไม้งามแล้ว ดินแดนแห่งทองผาภูมิยังมีความเร้นลับและบางแง่มุมที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอีกด้วย การจะเข้าไปสู่บางแง่มุมของผืนป่ายังจำเป็นเสมอที่ต้องได้คนรู้ใจในการร่วมทาง ซึ่งคราวนี้ผมนัดไว้กับพี่ชายที่ได้มาลงหลักปักฐานอาศัยสายน้ำเล็ก ๆ ของห้วยอู่ล่องเป็นบ้านหลังสุดท้าย...

         ในระหว่างที่สายฝนยังคงต่อสายไม่ขาดเม็ด นกกินปลาคอแดงและนกสีชมพูสวนกำลังขะมักเขม้นกับลูกตะขบฝรั่งสีแดงหวานฉ่ำ ผมนั่งคุยกับเจ้าของบ้านผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวในทองผาภูมิ และใครๆ  ต่างรู้จักชื่อของชายไทยวัยเกินสี่สิบปีคนนี้ว่า "โจ อู่ล่อง" ผู้บริหาร บ้านห้วยอู่ล่องรีสอร์ท ซึ่งบุกเบิกการท่องเที่ยวและงานด้านบริการมากว่าทศวรรษ การได้กลับมาเยือนที่นี่ของผม นับห่างจากครั้งล่าสุดที่มาได้ถึงแปดปี ใช่...ระยะเวลาอาจจะนาน ทว่ามิตรภาพของคนที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยความหฤโหดของการเดินทางไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะเวลาเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านพ้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรามือดีตอันงดงามเช่นกัน

         แผนการสำรวจน้ำตกใหม่ ๆ เริ่มต้นขึ้นแบบไม่ต้องพูดจากันมากนัก ทีมงานเดินป่า และมือขับโฟร์วิลไดรฟ์ได้รับการประสานเรียบร้อย สายน้ำในลำห้วยอู่ล่องขับประสานหรือหริ่งเรไรร้อยกันเป็นท่วงทำนองน่าฟัง หลังมื้อค่ำผ่านไปจึงแยกย้ายกันพักผ่อน พร้อมนัดแนะถึงวันพรุ่งนี้กับการเข้าไปสัมผัสน้ำตกงามกลางผืนป่าใหญ่ ที่ซึ่งบางความหมายได้ซ่อนเร้นไว้ให้ชวนค้นหา

ทองผาภูมิ



         พลังขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี พาเราผ่านเนินชันที่ค่อนข้างลื่นมาได้อย่างไม่ยากเย็น หลังจากผ่านไร่มะนาวมาได้ไม่เกิน 10 นาที ก่อนจะพ้นเนินยาว ผมบอกให้คนขับช่วยจอดหากเป็นไปได้ เพราะในป่าไผ่ด้านขวามือมีกล้วยไม้ดอนกำลังออกดอกช่อโต ทว่าสีของกลีบดอกค่อนข้างจะกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ทำให้มอง ผ่านๆ  จะเจอยากสักหน่อย ความงดงามของดอกไม้ในผืนป่ากว้าง ที่ยามผลิตดอกอย่างนี้แล้วเราได้พบเห็น ช่างเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมยิ่งนัก โดยเฉพาะผมที่รักกล้วยไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้การเดินทางมีสิ่งที่ควรจดจำเพิ่มขึ้นมาอีก และเมื่อบันทึกภาพจนครบถ้วนที่ต้องการเราก็เดินทางกันต่อตามเส้นทางออฟโรด และผมยังขอให้เจ้าม้าเหล็กเคลื่อนที่หยุดอีกหลายรอบ เพราะมองไปเจอกล้วยไม้ดินที่กำลังออกดอกอีกหลายชนิด สำหรับชนิดแรกนั้นมีชื่อว่าเอื้องนางสายใหญ่  ถัดมาก็เป็นท้าวคูลู และเอื้องหางกระรอก ราว 1 ชั่วโมงเต็ม ๆ กว่าจะมาถึงจุดจอดรถที่ทางบ้านห้วยอู่ล่องมาจัดการเรื่องห้องน้ำ และที่นั่งพักไว้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

         จากจุดนี้เราใช้เวลาอีกเพียงนิดหน่อยไปตามลำธารน้ำใส และผืนป่าดิบขึ้นที่เพิ่งผ่านฝนมาหมาดๆ ลุงบุญมี ชายไทยวัยเจ็ดสิบกว่าส่งสำเนียงแบบคนเมืองกาญจน์ เตือนให้ระวังลื่นกันหน่อย ในที่สุดเราก็มาถึงน้ำตกผาเขียว หลังจากจอดถ่ายภาพเห็ดชนิดต่าง ๆ ตลอดทาง สายน้ำใสไหลผ่านลงมาจากที่สุดขอบผาด้านบน บนหน้าผาหินได้รับการปกคลุมโดยพืชหลากชนิด ทั้งหญ้าขน หูช้าง เถาวัลย์ ทำให้นำตกแห่งนี้มีความเขียวชอุ่ม และมีสายน้ำสีขาวไหลลงมาคลอเคลียไม่ขาดสาย ด้วยความงดงามของพืชนี่แหละ ที่ทำให้ได้รับการเรียกขานเช่นนี้

         ผมเดินเก็บภาพอย่างไม่เร่งรีบนัก เพราะในแต่ละมุมต่างก็ให้ความละมุนละไมอย่างยิ่ง สายน้ำใสไหลผ่านแผ่นหินผาสี ก่อนจะลงมาสู่ก้อนหินใหญ่ลงไปตามแก่งเล็กๆ สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่าและหล่อเลี้ยงชีวิตให้งดงาม การได้นั่งมองธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กับผืนป่าดิบไกลรอยเท้าผู้คน มีเพียงสำเนียงประสานของธรรมชาติคอยกล่อมให้ผ่อนคลาย เราเดินออกจากน้ำตกหลังจากมื้อกลางวันผ่านไปในช่วงบ่าย พร้อมๆ กับที่สายฝนโปรยลงมาสู่ผืนแผ่นดิน
ผาสุข ต้นธารแห่งแม่น้ำน้อย

         ฟ้าฉ่ำฝนจนกลืนบรรยากาศรอบข้างให้ดูทีม ๆ หมอกหนาดลอยคลอเคลียเทือกเขาหินปูนแห่งทองผาภูมิดูแปลกตา สายน้ำแควน้อยยังคงไหลต่อเนื่องอย่างสงบงาม ผืนป่าที่มองเป็นสีเขียวเข้มทำให้ชีวิตและความคิดบอกได้ว่า บนห้วงธารนั้นยังคงมีน้ำหล่อเลี้ยงจากบนภูเขา วันนี้ผมกำลังเดินทางสู่ น้ำตกผาสุข ซึ่งอยู่ตามทางสู่ชายแดนไทย-พม่า  คณะเดินทางยังคงเป็นชุดเดิม คือ ลุงบุญมี น้าเปี๊ยก ผู้เชี่ยวชาญพื้นที่ในป่าละแวกนี้ แต่วันนี้ผมได้โฟร์วิลไดรฟ์อีกคันเป็นพาหนะ โดยมีแดงนั่งหลังพวงมาลัยพาเราไปยังปลายทาง

         ผ่านทางเข้าพุปูราชินีมาไม่มากนัก ก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางที่มีปลายทางอยู่บนแนวสันเขาตะนาวศรี ซึ่งมีฐานของทหารและตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) ตั้งเป็นแนวคอยตรวจความเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เมื่อเราผ่านจุดตรวจเล็กๆ ของ ตชด. ก็เข้าสู่เส้นทางที่หากฝนตกลงมาเชื่อว่าคงจะลำบากไม่น้อย และได้รับการยืนยันจากทีม ตชด. ที่จะร่วมทางไปรับเราด้วยว่าทางเส้นนี้ โหดมาก ๆ หากมาตรงกับช่วงฝนตก จากด่านไปราว ๖ กิโลเมตร เราก็ถึงทางลงสู่ น้ำตกผาสุข

         ลุงบุญมี จอมพรานแห่งทองผาภูมิ เดินวนมองทางเก่าอยู่สักครู่ก็กลับมาบอกว่าเจอทางลงแล้ว หญ้าขึ้นปกคุลมเยอะไปหน่อย แต่รับรองได้ว่าไม่พลาดหมายแน่ๆ ทางเดินเท้าที่ทอดตัวลงไปยังหุบเบื้องล่างมองลงไปยังไม่เห็นสุดทาง และเสียงน้ำตกก็ยังไม่แว่วขึ้นมา ป่าไผ่ในฤดูฝนอย่างนี้ นอกจากหน่อไม้ที่แทงขึ้นมาอย่างแน่นขนัดแล้ว เห็ดป่าหลากสีสันก็มีให้เห็นไม่น้อย และนี่รวมไปถึงยุงและทากด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่หยุดเดินหรืออยู่เฉยๆ ยุงรำคาญเหล่านี้จะบินวนรอบๆ ตัว และไม่น้อยที่มุ่งลงดูดเลือด การเดินป่านเอกเหนือจากแรงกายที่ต้องทุ่มเทอย่างมากแล้ว แรงใจก็ต้องไม่น้อยลงไปด้วย รวมไปถึงความอดทนต่อทุกสถานการณ์ที่ต้องเจอในป่าอีกด้วย

         น้าเปี๊ยกดึงยาเส้นแล้วม้วนด้วยใบจากแห้งที่ติดมาด้วย ก่อนจะดึงเอาไฟแช็กพลาสติกสีเหลืองออกมาจากกระเป๋า แกอัดควันเข้าปอดก่อนจะระบายออกไปอย่างสบายอารมณ์ เกือบๆ ชั่วโมงเต็มที่เราผ่านเนินชันและป่าดงดิบทึบจนมาทะลุอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำน้อย ผมมองไปตามสายน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา กับก้อนกรวด ทราย และสิ่งมีชีวิตมากมาย  ซึ่งต้องพึ่งพากันและกัน หลายอย่างยังคงเร้นลับอยู่ในความหมายของตัวมันเอง บางอย่างแม้จะเปิดเผยออกมาให้เราเห็น แต่ใช่ว่าเราจะรู้จัก ผมลงไปวักน้ำในสายธารมาล้างหน้าและลูบตัวไล่ความร้อน ก่อนจะมาขอยาเส้นและใบจากเพื่อใส่ยุง
เราออกเดินกันอีกครั้งเมื่อลุงบุญมีส่งเสียงเรียก ทางเดินก่อนถึงน้ำตกนั้นค่อนข้างลื่น เพราะต้องเลาะไปตามลำน้ำ แต่ใช้เวลาเพียงแค่สิบนาที เราก็ได้มายืนชมความงามของน้ำตกผาสุข ที่สายน้ำสีขาวใส่ไหลลงมาตามหน้าผาหินแกรนิตอย่างงดงาม ผมไต่ไปตามหน้าผาริมน้ำตกเพื่อขึ้นไปชั้นบนสุด ซึ่งมีความสวยงามที่สุดด้วย ผมนั่งมองความงามชิ้นนี้ของธรรมชาติอย่างชื่นชม กับการเดินทางของสายน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาแดนไกลแห่งตะนาวศรี ที่ลัดเลาะคดเคี้ยวมาตามเส้นทางแห่งแม่น้ำ ตลอดการเดินทางจากต้นน้ำจนถึงจุดที่เราเห็นอยู่นี้ คงมีผืนป่าแน่นขนัดช่วยโอบอุ้มเอาไว้ และถัดจากนี้ แม่น้ำน้อยก็จะไหลลงไปยังเขื่อนวชิราลงกรณ และไปสมทบกับแม่น้ำแควน้อย จากนั้นจึงไปรวมสายกับแม่น้ำแควใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง


         การได้เข้ามานั่งมองและซึมซับลมหายใจแห่งธรรมชาติกลางผืนป่าลึกไกลรอยเท้าผู้คนอย่างนี้ มันทำให้เราได้เห็นอะไรมากมาย ได้เห็นการเดินทางของก้อนหินเล็กๆ ที่สายน้ำพัดพาไหลมาจากเขาลูกไหนไม่อาจทราบ และเดินทางมายาวนานแค่ไหนก็ไม่รู้ ทั้งยังไม่อาจรู้อีกเช่นกันว่าจะเดินทางอีกนานแค่ไหน แต่มันคงต้องเดินทางไปกับแม่น้ำและสายน้ำต่อไป

ทองผาภูมิ



ปูราชินี ความงามแห่งป่าพุ

         เมื่อเราฝ่าความชันของป่าไผ่กลับมาถึงจุดจอดรถได้ก็เล่นเอาเหนื่อยไม่น้อยเลย แต่นั่นก็คุ้มค่าที่จะแลกกับความงามแห่งดงลึก จากที่นี่ลองคำนวณเวลาดูแล้ว เราสามารถจะไปต่อกันที่พุปูราชินีได้ทันก่อนพระอาทิตย์จะตกดินแน่นอน แต่ต้องภาวนาให้ระหว่างทางออกนั้นไม่มีฝน และตอนนี้ใครบางคนก็ดึงข้าวห่อออกมาจากถุงในกระบะรถ เพราะวันนี้ตอนเที่ยงเรายังไม่ได้กินข้าวกลางวันกันเลย ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก ข้าวหมูกรอบและข้าวมันไก่ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ใช้เวลาไม่นานนักด้วยความชำนาญพื้นที่ของคนหลังพวงมาลัย เราก็ผ่านทะลุผืนป่าปลูกขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มาจอดรถไว้บริเวณสานจอดรถของเส้นทางศึกษาธรรมชาติพุปูราชินี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดูแลของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ผมมีโอกาสได้รับหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นผลงานวิจัยของอาจารย์แห่งภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นพรรณไม้งดงามมากมายจากป่าพุแห่งทองผาภูมิตะวันตก ทว่าการไปครั้งนี้ นอกเหนือจากเรื่องราวเกี่ยวพรรณไม้ที่ผมถนัดแล้ว ปูราชีนิยังเป็นที่สุดของการเดินทางมายังพื้นที่นี้ นั่นคงเป็นเพราะได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

         จากลานจอดรถเดินผ่านป่าไผ่ไปเพียงแค่ 150 เมตร ก็ถึงทางเดินศึกษาธรรมชาติพุปูราชินีที่เป็นสะพานทอดอย่างดี สภาพบรรยากาศก็ร่มรื่นยิ่งนัก มองลงไปบนผืนดินที่มีน้ำเจิ่งนิดๆ ก็เห็นรูปู และเมื่อค่อยๆ มองเข้าไปก็จะเจอกับเจ้าตัวที่ค่อนข้างจะขี้อายพอสมควร มันโผล่ให้เห็นเฉพาะบางส่วนเท่านั้นเอง ซึ่งจากปูมสำรวจปูชนิดนี้ได้รับการบันทึกไว้ว่า นายสุรพล ดวงแข และว่าที่ร้อยตรีพิทักษ์ ชิตเครือ พบครั้งแรกบนภูเขาบริเวณจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ต่อมาทางผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีความงดงาม และตรงกับโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามปูราชินีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thaiphusa sirikit (Naiyanetr, 1992) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Regal Crab ปัจจุบันปูราชินีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากในสภาพธรรมชาติ

         เรานั่งเฝ้ามองปูราชินีอย่างเงียบๆ กันนานพอสมควร ในที่สุดก็มีบางตัวไว้ใจเรา เดินออกมาจากปากรูเพื่อหาอาหาร และนั่นเองที่ทำให้ผมได้เห็นสีสันสวยงามของชีวิตในธรรมชาติ ตรงโคนขาเป็นสีแดง ก้ามหนีบและบริเวณขอบกระดองเป็นสีขาว ตรงกลางกระดองเป็นสีน้ำเงินอมม่วงแดงๆ ดูแล้วคล้ายกับธงชาติไทย ชาวบ้านจึงมักจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ปูสามสี” ผมค่อยๆ หันกล้องและเลนส์เทเลโฟโตไปยังปูชนิดนี้อย่างช้าๆ และบรรจงถ่ายภาพมาแบบเน้นๆ เพราะกลัวว่าปูจะตกใจและวิ่งลงรูไปเสียก่อน จากความร่มครึ้มของพื้นที่ทำให้ภาพที่ได้ไม่ค่อยจะดีนัก เพราะเจ้านี่ไม่ค่อยจะหยุดนานพอให้บันทึกภาพ ผมหันไปมองปุ่มปรับบนกล้อง ขยับความไวแสงเพิ่มขึ้นอีกนิด เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดจุดรบกวนในภาพ         

         เราใช้เวลากับปูราชินีกันพอสมควร จนได้ภาพที่ดีจึงเดินทางไปยังพุหนองปลิง ซึ่งอยู่ห่างกันไม่มากนัก และที่นี่เราได้เห็นสังคมของป่าพุที่แท้จริงแบบมีน้ำขังและฉ่ำๆ กว่าทางพุปูราชีนี สำหรับคำจำกัดความของคำว่า “พุ” และ “พรุ” ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปีพุทธศักราช 2542 ได้ให้คำจำกัดความที่แตกต่างกันชัดเจน โดย “พุ” มีความหมายอยู่สองทาง อย่างแรกเป็นคำกิริยา หมายถึง อาการที่น้ำหรือแก๊สผุดขึ้นมา เช่น น้ำร้อนพุขึ้นมา แก๊สธรรมชาติพุขึ้นมา เป็นต้น ส่วนความหมายที่สองเป็นคำนาม หมายถึง “น้ำที่พุขึ้นมา เรียกว่าน้ำพุ” ในขณะที่คำว่า “พรุ” ให้ความหมายในลักษณะที่เป็นคำนาม หมายถึง “ที่ลุ่มสนุ่นหรือบริเวณที่ลุ่มขึ้นแฉะ มีสนุ่น คือ ซากผุพังของพืชพรรณทับถมอยู่มาก”


ทองผาภูมิ


สู่ทางแห่งเทือกเขาในนิยาย

         บางห้วงคำนึงถึงสิ่งที่เคยบรรจุไว้ในนิยายและตัวอักษรผ่านปลายปากกาของนักเขียนชั้นครู ที่ได้กล่าวถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในผืนป่าทองผาภูมิ ก่อนที่ตัวละครจะตัดผ่านขึ้นสู่เขาพระศิวะ ซึ่งผมเชื่อว่านักอ่านไม่น้อยได้ผ่านทางเส้นนั้นมาแล้ว กับที่สุดแห่งนวนิยายกลางพงไพร “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน กล่าวถึงหมู่บ้าน ที่ผมกำลังจะเดินทางไปเยือนแห่งนี้ไว้ว่า “ขณะที่คณะสำรวจซึ่งนำโดยรพินทร์ไพรวัลย์ กำลังผ่านบ้านพุเตย และได้ตั้งปางพัก ก็สังเกตเห็นว่าผู้คนหายไปหมด และสุดท้ายก็รู้ว่า ทั้งหมู่บ้านเกิดโรคระบาดขึ้น และได้ต่อสู่กับวิญญาณร้ายของยะขิ่น จนสุดท้ายก็ต้องเผาหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมคณะ” ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างย่อจากดงมรณะ เล่ม ๒ ซึ่งมีผู้รู้หลายท่านบอกว่า ส่วนใหญ่ฉากต่างๆ ในนิยายเรื่องนี้ได้มาจากทองผาภูมิและสังขละบุรีแทบทั้งสิ้น ดังนั้น การได้เข้าไปยังบางเส้นทางที่นิยายผจญภัยเรื่องยาวที่สุดของโลกนำมาเป็นฉากในการเดินทาง ย่อมทำให้ความรู้สึกของเรามีความสุขแบบแปลกเกิดขึ้นในใจ

          ในที่สุดพาหนะคันแกร่งของเราก็มาถึงจุดจอดรถในหมู่บ้านพุเตย ที่ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นบ้านภูเตย ตามชื่อของโรงเรียนและวัดภูเตย ที่สำคัญหมู่บ้านแห่งนี้ก็ไม่ได้ร้างอย่างในนิยาย ปัจจุบันผู้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็ทำการเกษตร ปลูกข้าวโพด ฟักทอง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

          "มากินข้าวก่อน เดี่ยวค่อยไป" น้าพล ชายวัยใกล้หกสิบร่างเล็กแข็งแรง ส่งเสียงและรอต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีใครปฏิเสธคำชวน ดังกล่าว เพราะหลายคนรู้สึกว่าความหิวกำลังจู่โจม

          มื้อนี้กับข้าวของเรามีเพียงต้มไก่บ้าน ใส่ตะไคร้ ข่า และเกลือ ที่ให้รสชาติหอม หวาน และข้าวไร่เม็ดอ้วนกลมอัดแน่นอยู่ในหม้อใบเขื่อง ใครบางคนต้องการความเผ็ดก็เดินเข้าไปในครัว ทำน้ำจิ้มแจ่วให้ส่งรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม มาให้เราถ้วยใหญ่ ความเรียบง่ายของชีวิตในชนบททำให้เราได้เห็นอะไรที่งดงามมากมาย หลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างก็พร้อม และทีมงานของเราก็ออกเดินทางต่อไปยังปลายทางของการมาเยือนในคราวนี้ โดยมีรถอิแต๊ก ซึ่งปกติใช้สำหรับงานในไร่ ก็เอามาเป็นรถโดยสาร ผมเห็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา

          “ปีนี้ฟักทองราคาดี ได้กิโลฯ ละเกือบยี่สิบห้าบาท หลายบ้านได้ออกรถใหม่เลยละ แต่ก่อนราคาตกกิโลฯ ละห้าหกบาทก็เต็มกลืนเลยคุณ” น้าพลบอกพวกเราขณะที่รถกำลังจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางแคบๆ ในไร่ชาวบ้าน

          เส้นทางในป่าไผ่ทอดไปอย่างแน่วนิ่งลงสู้หุบเขาเบื้องล่างเสียงดนตรีของผืนป่าค่อยๆ ประโคมต้อนรับพวกเราสอดประสานกัน จนมีเสียงน้ำตกดังเข้ากลบสำเนียง ใช้เวลาเดินจากจุดจอดรถจนถึงแคมป์พักแรมของเราเพียงแค่สามสิบนาทีเท่านั้นเอง ผมวางเป้หลังลง ก่อนจะเดินลงไปริมตลิ่ง วักน้ำใสๆ ขึ้นมาล้างหน้า ความชุ่มเย็นที่ซาบซ่านเข้าสู่ร่างกาย มันทำให้หัวใจผ่อนคลาย และร่างกายสดชื่นข้นอย่างรวดเร็ว ผ้าใบขนาดใหญ่ถูกนำมากางไว้เป็นที่พักกันฝน บางคนเริ่มก่อไฟและหุงข้าว การช่วยเหลือและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันของคนเดินป่าเป็นสิ่งสวยงามเสมอ

ทองผาภูมิ



สายน้ำจากก้นบึ้งแห่งภูเขา

          เสียงไม่ไผ่โดนความร้อนแตกในกองไฟ และสะเก็ดไฟลอยแผ่วเบาขึ้นในอากาศ วูบเดียวก็เหลือเพียงขี้เถ้าสีเทาเหมือนไร้น้ำหนักเรานั่งคุยกันรอบกองไฟอย่างเป็นกันเอง เรื่องเล่าจากคงลึกของทองผาภูมิถูกถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจากชายสูงวัยที่ย้ายถิ่นมาตั้งรกรากเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน จนถึงคนที่เกิดบนแผ่นดินนี้แม้จะยังไม่ถึงห้าสิบปี แต่ก็ใช้ชีวิตมาอย่างโซกโซน ขุนเขาและสายห้วยที่เคยอุดมสมบูรณ์แปรเปลี่ยนไปเป็นเหมืองแร่ หรือไม่ก็ผ่านการสัมปทานป่าไม้มาแล้วแทบทั้งสิ้น ทองผาภูมิต้อนรับคนต่างถิ่นในช่วงเวลานั้น หลังจากที่ป่าถูกปิด สัมปทานต่างๆ ถูกยกเลิก ผู้คนเหล่านั้นก็กลายเป็นคนเมืองไกลแห่งนี้ไปโดยปริยาย

        ผมนั่งร่วมวงฟังเรื่องราวต่างๆ บ้างถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริง บ้างช่วยกันส่งเสริมเรื่องเล่าที่พวกเขาอยู่ในประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งก็สนุกสนานยิ่งนัก โดยเฉพาะเรื่องราวขบขันชวนทะลึ่งต่างๆ ที่ล้วนมีอะไรมาเล่ากันมากมาย ราวๆ สามทุ่ม ผมก็ออกเดินไปรอบบริเวณแคมป์พักเพื่อหาปาดหรือสัตว์ในกลุ่มนี้ ในที่สุดก็ถ่ายมาได้ แม้จะไม่มากนักก็ตาม แต่ทำให้เราได้เห็นบางชีวิตของยามค่ำคืนที่เราได้เข้าไปอยู่ร่วมกันในผืนป่ากว้าง ณ ห้วงเวลาหนึ่ง เมื่อเก็บอุปกรณ์เรียบร้อยพร้อมๆ กับฝนเม็ดบางๆ เริ่มร่วงหล่นจากฟากฟ้าผมก็ขอตัวขึ้นแปล และตรวจสอบสายยึดฟลายซีดอีกครั้งว่ายังคงแน่นหนาดี หากฝนตกหรือลมแรงคงไม่ทำให้ผมต้องลำบากกลางดึก

        เสียงคุยกันเบาๆ ของลุงบุญมี น้าพล และน้าเปี๊ยก ช่วยให้ผมสลัดถุงนอนออกจากตัว ก่อนจะทำภารกิจส่วนตัวเพียงครู่เดียว แล้วเดินเข้าไปสมทบกับเพื่อนร่วมทางยามเช้า กาแฟแบบชงสำเร็จถูกเทลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้แทนแก้วกาแฟ ผสมน้ำร้อนที่ร้อนจริงๆ จากกองไฟใกล้กัน ผมดื่มไปพร้อมกับยินมองแสงเช้าที่ค่อนข้างจะซึมเซา แต่ก็คิดว่ายังดีกว่าฝนตกเยอะเลย และระหว่างนั้น อาหารมื้อเช้าก็เริ่มปรุงไว้แบบง่ายๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไปสัมผัสน้ำตกแห่งนี้กันแบบใกล้ชิด

         "กระเหรี่ยงเรียกสายน้ำแห่งนี้ว่าห้วยองเผาะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร แต่ด้านบนสุดของลำห้วยเป็นตาน้ำขึ้นมาจากซอกหิน แล้วลำห้วยสายนี้น้ำก็เย็นกว่าสายอื่นๆ ในละแวกนี้เลยน่ะ" พี่อู่ หนึ่งในคนต่างถิ่นที่ย้ายมาอยู่ในบ้านภูเตยจนกลายเป็นคนพื้นที่บอกกับผมอย่างนั้น ก่อนจะเดินข้ามขอนไม้ และลัดเลาะนำทางสู่น้ำตกเบื้องล่างในชั้นต่อๆ ไป พวกเราทั้งหมดเดินกันอย่างไม่เร่งรีบ เพราะมีเวลาสำรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผมในฐานะช่างภาพและผู้เก็บเรื่องราวของคราวนี้ ก็เดินไปบันทึกสิ่งต่างๆ อย่างอิ่มเอมใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกไม้งดงามแปลกตาหลายชนิดที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการให้เป็นชนิดใหม่ของโลก จากบริเวณเหนือน้ำตกชั้น 2 คือจุดที่พวกเราตั้งแคมป์ จนถึงน้ำตกชั้นที่ 8 ใช้เวลาเดินกับแบบสบายๆ แค่ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้นเอง โดยทุกชั้นมีความงดงามแตกต่างกันอกไปตามสไตล์น้ำตกหินปูน

ทองผาภูมิ



          "จากชั้น 8 ที่เราเดินลงกันไปได้แล้ว ยังต่อไปยังชั้น ๙ และมีอีกเยอะแยะเลย หากตามสายน้ำไปเรื่อยๆ ก็จะถึงหน้าถ้ำลำคลองงูเลยละ" น้าพลบอกกับเราระหว่างที่ผมรอแสงเพื่อบันทึกภาพน้ำตกชั้นที่ 8 และเมื่อยาเส้นที่ม้วนด้วยใบจากเหลือแค่ก้นเกือบติดริมฝีปาก คณะจึงพร้อมออกเดินกลับไปยังแคมป์พัก เพื่อคืนสู่โลกภายนอกอีกครั้ง

เมื่อสายฝนและห้วงน้ำยังคงชุ่มเย็น

          ผมยังคงใช้ชีวิตในผืนป่าและเทือกดอยแห่งทองผาภูมิอีกหลายวันนับจากเดินออกมาจากบ้านภูเตย ได้เห็นวันที่ฝนตกต่อเนื่องไม่ขาดตลอดเวลา พบกันความเย็นขึ้นที่แทบจะไม่เคยหมาดแดด หมอกปกคลุมไปทั่วทุกตารางนิ้ว ควันไฟจากครัวฟืนของคนบนชุมชนปลายถนนที่บ้านอีต่องสอดกลืนประสานกันเป็นเนื้อเดียวกับหมอกจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นหมอกหรือควัน ในหุบเขาและสันดอยบางแห่ง ดอกไม้งามกำลังผลิบานประดับผืนโลก ให้คนรักดอกไม้ได้ดั้นต้นไปสัมผัสความงดงามของธรรมชาติ

          ณ ดินแดนปลายทางตะวันตกของประเทศแห่งนี้ มีอะไรอีกมากมายนักให้เราได้เรียนรู้ เพียงแค่เปิดใจ แล้วพาร่างกายจากเมืองใหญ่มานอนหลบมุมฟังเสียงน้ำเซาะตลิ่งประสานกับเรไร รวมถึงสายลมที่โยกไกวเรือนยอดต้นไม้ ให้จิตใจชุ่มเย็น พร้อมกับได้ชำระร่างกายด้วยสายน้ำที่เย็นชื่นใจกว่าสายอื่นใด ที่ซึ่งแผนน้ำและผืนป่าพึ่งพาผูกพันสอดประสานกันอย่างงดงามจากกันบึ้งแห่งธรรมชาติ
ณ ปลายทางแห่งนี้...ทองมาภูมิ

ขอขอบคุณ

          บ้านห้วยอู่ล่องรีสอร์ท 281/3 หมู่ 4 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 71108 สำนักงานทองผาภูมิ โทรศัพท์ 034-53 1050-1, 034-551543 สำนักงานกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-4495377, 081- 8212621 เว็บไซต์ banhuayuiong.com/ อีเมล info@banhuayuiong.com พี่โจ ลุงบุยมี น้าเปี๊ยก ฟู่ แดง น้าพล พี่อู๋ เซแคว และทุกท่านที่ช่วยเหลือในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้

คู่มือนักเดินทาง

- การเดินทาง
- กรุงเทพฯ-เมืองกาญจนบุรี
- รถยนต์

          ไปตามถนนเพชรเกษม หรือถนนบรมราชชะนี (ทางหลวงหมายเลข ๓๒๔ และ ๓๒๓ ตามลำดับ) ผ่านนครชัยศรี นครปฐม บ้านโป่ง ท่ามะกาท่าม่วง ถึงจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ ๑๒๙ กิโลเมตร จากตัวอำเภอเมืองกาญจนบุรีแยกไปอำเภอทองผาภูมิตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ ผ่านน้ำตกไทรโยคน้อย ไทรโยคใหญ่ ฯลฯ ระยะทางจากอำเภอเมืองฯ ถึงอำเภอทองผาภูมิประมาณ ๑๓๗ กิโลเมตร

รถโดยทาง

          นั่งรถทัวร์จากสถานขนส่งสายใต้ใหม่ ไปยังอำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี รถโดสารประจำทางปรับอากาศชั้นหนึ่ง (ปอ.1) ออกทุกๆ 15 นาที เวลา 15.00 - 22.00 นาฬิกา

         ถปรับอากาศชั้นสอง (ปอ. 1) ออกทุกๆ 15 นาที เวลา 04.00-21.00 นาฬิกา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ โทรศัพท์ 02-8846249
เมืองกาญจนบุรี-อำเภอทองผาภูมิ

          รถตู้ปรับอากาศ (11 ที่นั่ง)
ให้บริการวันละ 7 เที่ยว เวลา 07.30, 10.30, 11.30, 12.30, 14.30, 15.30 และ 16.30 นาฬิกา คิวรถอยู่ที่บริเวณหลังสถานีขนส่ง จังหวัดกาญจนบุรี

          รถไมโครปัสปรับอากาศ (30 ที่นั่ง) ให้บริการวันละ 2 เที่ยว คือ 19.00 และ 13.30 นาฬิกา คิวรถอยู่ที่บริเวณหลังสถานขนส่ง จังหวัดกาญจนบุรี สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 034-513151
          รถประจำทางสีส้ม มีรถให้บริการวันละหลายเที่ยว อัตราค่าโดยสาร ไปอำเภอทองผาภูมิ คนละ 55 บาท ไปอำเภอสังขละบุรี คนละ 90 บาท คิวรถอยู่ที่บริเวณสถานขนส่ง จังหวัดกาญจนบุรี

กรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์

รถโดยสาร

          นั่งรถทัวร์จากสถานีขนส่งหมอชิด 2 มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้นหนึ่ง (ปอ.1) และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้นสอง (ปอ.2) ซื้อตั๋วได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วที่ 21 ชั้น 1 ภายในอาคารสถานีขนส่งหมอชิต 2 สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 02-7938111

       



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ที่มา หนังสือ อสท. ISSN 0125 7226 ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 กันยายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สายน้ำจากก้นบึ้งแห่งภูเขา...ทองผาภูมิ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:05:40 3,148 อ่าน
TOP