x close

นครปฐม เมืองส้มโอหวาน

พระปฐมเจดีย์


นครปฐม (ททท.)

          คำขวัญ...ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า

          นครปฐม เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรรม โดยเฉพาะการปลูกส้มโอ ซึ่งนำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดจนได้ชื่อว่าเป็น "เมืองส้มโอหวาน" นอกจากนี้ ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้อื่น ๆ และอาหารขึ้นชื่อนานาชนิด

          นครปฐม เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนมาก ที่บ่งบอกว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในสมัยทวารวดี มีปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญคือ “พระปฐมเจดีย์” ซึ่งนับเป็นร่องรอยของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอารยธรรมจากประเทศอินเดีย เข้ามาในประเทศไทยในยุคแรก ๆ มีเนื้อที่ประมาณ 2,168.327 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,355,204 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 65 ของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีที่ดอนเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองฯ และอำเภอกำแพงแสน ส่วนพื้นที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี ได้แก่ ท้องที่ในเขตอำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอบางเลน

          เมืองนครปฐมเดิมตั้งอยู่ริมทะเล และเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมที่เจริญรุ่งเรืองแห่งหนึ่ง จึงมีชนชาติต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดภาวะแห้งแล้ง เพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนทิศทางไป ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำบริเวณใกล้เคียง และสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อว่า "นครชัยศรี" หรือ "ศิริชัย" เมืองนครปฐมจึงถูกปล่อยทิ้งร้างนับแต่นั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี



          ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในขณะที่ยังผนวชอยู่ ได้ทรงธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์ เดิมไว้ ทรงปฏิสังขรณ์บริเวณรอบองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี และโปรดให้ขุดคลองเจดีย์บูชาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านไปยังเมืองนครปฐม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์เหมือนเช่นสมัยโบราณ

          ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดให้สร้าง พระราชวังสนามจันทร์ ขึ้น สำหรับเป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และโปรดให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย รวมทั้งสร้างสะพานใหญ่ข้ามคลองเจดีย์บูชา แล้วทรงพระราชทานนามว่า "สะพานเจริญศรัทธา" และได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจากเมือง "นครชัยศรี" เป็น "นครปฐม" แต่ชื่อมณฑลยังคงเรียกว่า "มณฑลนครชัยศรี" อยู่จนกระทั่งยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ปัจจุบันจังหวัดนครปฐมแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอกำแพงแสน อำเภอนครชัยศรี อำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน อำเภอสามพราน และอำเภอพุทธมณฑล
         
พระราชวังสนามจันทร์


สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

          หรือ พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ห่างจากกรุงเทพ ฯ ลงไปทางใต้ 56 บริเวณที่เป็นพระราชวังสนามจันทร์อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันตก ประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเดิมเรียกว่าเนินปราสาท สันนิษฐานว่าเดิมคงเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ใกล้กับเนินปราสาทมีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่งเรียกขานกันมาแต่เดิมว่า สระน้ำจันทร์ (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าสระบัว) อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังดำคงพระยายศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม สำหรับประทับแปรพระราชฐาน ในโอกาสเสด็จ ฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงเลือกนครปฐมด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกับภูมิประเทศของเมืองนี้

          ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะ จึงทรงขอซื้อที่ดินจากราษฎรที่อยู่รอบ ๆ เนินปราสาทเพื่อจัดสร้างพระราชวังขึ้นรวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 888 ไร่ 3 งาน 24 วา เมื่อ พ.ศ.2450 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ หลวงพิทักษ์มานพ ซึ่งต่อมาได้ดำรงยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลป์) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2440 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การก่อสร้าง พระที่นั่งและพระตำหนักต่าง ๆ ดำเนินการติดต่อกันนานถึง 4 ปี จึงแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2445 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์"

          พระราชวังสนามจันทร์ นอกจากเป็นที่แปรพระราชฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริใน การสร้างพระราชวังไว้เป็นที่มั่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับวิกฤตการณ์ของประเทศอันเกิดขึ้นได้ เพราะพระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมและทรงให้เป็นสถานที่ สำหรับซ้อมรบเสือป่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเป็นองค์ประธานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิขิต การญจนาภรณ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ได้น้อมเกล้า ฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์ โดยส่งมอบพระที่นั่ง พระตำหนักต่างๆ และเรือนข้าราชบริพาร คืนให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลตามพระราชดำริใน สมเด็จพระเจ้าภคินาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

          ปัจจุบันสำนักพระราชวังเปิดให้เข้าชมพระที่นั่งพิมานปฐมและห้องพระเจ้า ภายในพระที่นั่งพิมานปฐมพระที่นั่ง สามัคคีมุขมาตย์ เทวาลัยคเณศร์ พรตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมาริราชรัตบัลลังก์พระตำหนักทับขวัญ และอนุสาวรีย์ย่าเหล ทั้งนี้ วันเปิดทำการคือ วันจันทร์ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย

          ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคตรอบ องค์พระปฐมเจดีย์ กระทั่ง พ.ศ. 2454  จึงได้ย้ายไปไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน (ปัจจุบันยังคงเป็นพิพิธภัณฑสถานในความดูแลของวัดพระปฐมเจดีย์) พ.ศ. 2477 ได้ยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร และเมื่อจำนวนโบราณวัตถุเพิ่มมากขึ้น อาคารหลังเดิมคับแคบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานหลังปัจจุบันขึ้น และเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากหลังเดิมมาจัดแสดงไว้ที่นี่ 

          โดยโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 แนะนำลักษณะทั่วไปของจังหวัดนครปฐม ประวัติความเป็นมาของดินแดนแห่งนี้ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์  การติดต่อรับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อและ วัฒนธรรมท้องถิ่น ภาพปูนปั้นรูปชาวต่างประเทศ  ศิลาจารึกที่พบบริเวณเมืองโบราณนครปฐม ส่วนที่ 2 เสนอเรื่องราวด้านศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีที่นครปฐมสะท้อนผ่านงาน ศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ โบราณวัตถุที่จัดแสดงในส่วนนี้ประกอบด้วย ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและประติมากรรมประเภทต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป ภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ ภาพปูนปั้นเรื่องชาดกประดับฐานเจดีย์และธรรมจักร

          ส่วนที่ 3 เรื่องราวของนครปฐมหลังความรุ่งเรืองสมัยทวารวดี จนถึงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์และเป็นงานสำคัญที่สืบเนื่องต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่นครปฐมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑลนครชัยศรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น เมืองนครปฐมได้รับการพัฒนาเรื่อยมา

          สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3427 0300, 0 3424 2500 โทรสาร 0 3424 2500 พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท

  
เนินธรรมศาลา










เนินธรรมศาลา

          อยู่ที่วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ทางด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม มีสภาพเป็นเนิน เข้าไปด้านในเป็นโพรงซึ่งเชื่อว่าเป็นอุโมงค์จากวัดพระเมรุมาถึงวัดธรรมศาลา เล่าลือกันว่าภายในอุโมงค์มีขุมทรัพย์ เช่น ถ้วยโถโอชาม แต่ไม่สามารถ ที่จะนำออกมาได้ เนื่องจากมีปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไว้ ทั้งนี้ เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
  
 
เนินพระ











เนินพระ หรือ เนินยายหอม

          อยู่ที่วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม จากจังหวัดนครปฐมไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร จะเห็นสามแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนเศรษฐกิจ 2 (ทางหลวงหมายเลข 3097 บ้านแพ้ว-ดอนยายหอม) เข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงเนินพระหรือเนินยายหอมซึ่งอยู่ด้านซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 150 เมตร อยู่กลางทุ่งนาใกล้กับถนนสายนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากเมื่อ พ.ศ.2479 พระธรรมวาทีคณาจารย์ (หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ได้ขุดเอาอิฐที่หักพังแถวชานเนินไปสร้างพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไปพบศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสาญจีเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกับกวางหมอบ ทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ พระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่หักพัง

          เสาศิลานี้ตอนบนมีง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร เป็นแบบเดียวกับที่พบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์วัดพระงาม วัดพระประโทณ และพระราชวังสนามจันทร์  ปัจจุบันเสาศิลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูปส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากโบราณวัตถุที่พบเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่า และตัวเนินคงจะเป็นฐานเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ที่อยู่ภายในบริเวณวัด ตั้งแต่สมัยทวาราวดีหรือก่อนหน้านั้น และมีอายุกว่า 1,000 ปี มาแล้ว ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ ทั้งนี้ เนินพระ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.
   
 
เนินวัดพระงาม











เนินวัดพระงาม 

          ตั้งอยู่ที่วัดพระงาม (วัดโสดาพุทธาราม) ตำบลพระปฐมเจดีย์ ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครปฐม เป็นสถานที่ที่ค้นพบพระเจดีย์ขนาดสูงใหญ่สมัยทวาราวดีและยังขุดค้นพบโบราณ วัตถุต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปศิลาหักพัง พระเสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และพระพิมพ์ดินเผาซึ่งเป็นของเก่าแก่ฝีมืองดงามมากยากจะหาที่อื่นเทียบได้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ที่เรียกว่า วัดพระงาม นั้นเพราะพระพุทธรูปดินเผาที่ขุดได้จากบริเวณวัดนี้งามเป็นเลิศนั่นเอง ปัจจุบันบางส่วนเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหลายชิ้นเก็บไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์ โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้ล้วนแต่เป็นวัตถุเก่าสมัยทวาราวดีซึ่ง เป็นสมัยเดียวกับวัตถุที่ค้นพบบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.

พระประโทณเจดีย์ 

          เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในวัดพระประ โทณเจดีย์ ตำบลพระประโทน อยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปตามถนนเพชรเกษมทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รูปทรงเดิมของพระประโทณเจดีย์ เป็นทรงโอคว่ำ ตามลักษณะของเจดีย์สมัยทวารวดี เนื่องจากวัดพระประโทณตั้งอยู่กลางเมืองโบราณนครชัยศรี ในบริเวณมีการขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3421 2011, 0 3421 2313, 0 3424 2440 เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.

ตลาดน้ำวัดลำพญา

          ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดลำพญา ริมแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) ลำพระยา เดิมเป็นชื่อของหมู่บ้าน ในสมัยที่ยังเป็นอำเภอบางปลา มณฑลนครชัยศรี มีประวัติเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยากรมท่าขุดคลองบริเวณท้ายตลาดในปัจจุบันเพื่อการจับจองที่นาชุมชนชาวบ้านสองกลุ่ม คือ ชาวมอญอพยพมาจากสามโคกในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำทำอาชีพการเกษตร  และชาวจีนซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทำการค้าขาย  บริเวณนี้จึงกลายเป็นตลาดริมน้ำวัดนี้ถือกำเนิดราวปี พ.ศ. 2400 อยู่คู่ชุมชนแห่งนี้นานนับ 100 ปี ได้รับการบูรณะและพัฒนาให้สวยงาม สงบร่มเย็น เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อมงคลมาลานิมิต พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลาแลง พอกปูนและปิดทองทับ มีงานนมัสการในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 รวม 3 วัน
 
          ตลาดน้ำวัดลำพญา แห่งนี้ริเริ่มโดย สภาวัฒนธรรมตำบลลำพญา ร่วมกับวัดลำพญา เป็นแหล่งรวมพืชผักผลไม้  ผลิตผลทางการเกษตร เช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ ผ้าย้อม และอาหารราคาถูก มีอาหารไทยจำหน่าย อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ขนมหวาน ขนมเปี๊ยะ ห่อหมก ผัก และผลไม้ บริเวณหน้าวัดมีปลานานาชนิด เช่น ปลาสวาย ปลากระแห ปลาแรด ปลาเทโพ  นอกจากนี้ทางวัดมีบริการจักรยานน้ำ เรือล่องแม่น้ำท่าจีนโดยมีเรือบริการหลายประเภท ดังนี้ เรือแจวโบราณ ล่องลำน้ำท่าจีน ออกจากหน้าวัดลำพญาไปนมัสการศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ประจำ ตำบลลำพญา ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เรือลาก ล่องแม่น้ำท่าจีนไป-กลับ ออกจากหน้าวัดลำพญาไปวัดสุขวัฒนาราม ที่บริเวณหน้าวัดลำพญามีวังปลาชุกชุมสามารถให้อาหารปลาได้ เรือกระแชง ออกจากหน้าวัดลำพญาไปวัดบางพระ (วัดหลวงพ่อเปิ่น) ใช้เวลาประมาณ 2ชั่วโมงครึ่ง

          ตลาดน้ำแห่งนี้มีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์ตลาดน้ำวัดลำพญา โทรศัพท์ 01763 4179, 0 1659 7371, 01721 4874 สภาวัฒนธรรมตำบลลำพญา โทรศัพท์ 03439 1626 วัดลำพญา โทรศัพท์ 0 3439 1985 โรงเรียนวัดลำพญา โทรศัพท์ 03439 2022

ตลาดท่านา หรือ ตลาดนครชัยศรี

          อยู่ในตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี เป็นตลาดโบราณย่านชุมชนริมน้ำที่น่าท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม เปิดค้าขายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่เก่าแก่และหาดู ได้ยาก และอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ตลาดแห่งนี้มีการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ด้วยรูปแบบอาคารร้านตลาดสร้างด้วยไม้ซึ่งยังคงกลิ่นอายแบบดั้งเดิมเหมือน เมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นแหล่งร้านอาหารริมน้ำและย่านจำหน่ายของกินอร่อย ๆ มากมาย อาทิ เป็ดพะโล้ ขนมปังเย็น ปลากริมไข่เต่า บัวลอย รวมถึงผลไม้มากมายโดยเฉพาะ ส้มโอนครชัยศรี นอกจากนี้ยังมีศาลอาม่า นอกจากจะเป็นศาลเจ้าเพื่อให้ประชาชนมากราบไหว้แล้ว ยังเปิดสอนภาษาจีนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

          นอกจากบรรยากาศตลาดแล้วยังสามารถแวะเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น วัดบางพระที่มีพระดังอย่างหลวงพ่อเปิ่น วัดกลางบางแก้วกราบไหว้หลวงพ่อบุญ ตลาดต้นสนซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ตลาดท่านาเปิดทุกวันแต่จะคึกคักในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ 

ตลาดบางหลวง

          ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเลน ตลาดบางหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำท่าจีนอายุกว่า 100 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 ในปัจจุบันตลาดยังคงสภาพความสวยงามและบรรยากาศของสถาปัตยกรรมตลาดเก่าใน อดีตไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งรูปแบบวิถีชีวิต ที่เรียบง่าย การค้าขายของคนในชุมชน รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรม ที่ผสมกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีนที่สืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี อาทิ ร้านขายยาจีนสมุนไพร ร้านทำฟันปลอม ร้านทำทอง ร้านบัดกรีโลหะ ร้านทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

          นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร ผักผลไม้สด ๆ ปลา กุ้ง อาหารขึ้นชื่อทั้งหวาน-คาว อาทิ ปอเปี๊ยะสูตรจีนโบราณ ข้าวเกรียบปากหม้อไส้ผักที่ไม่เหมือนใคร หมูสะเต๊ะ เป็ดพะโล้ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บน้ำใส ขนมจีบไส้หน่อไม้และไส้ผัก กาแฟสูตรโบราณ และยังมีขนมไทย ๆ ที่ทำใหม่ สดทุกวัน ตลาดเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-17.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bangluang.go.th/market.htm หรือโทรศัพท์ 08 9882 2233, 08 9171 2075, 08 1910 9683  

          อีกทั้งยังมีกิจกรรมล่องเรือชมแม่น้ำท่าจีน ค่าบริการคนละ 30 บาท ชมนกปากห่างที่มาวางไข่ในช่วงหน้าหนาว ไหว้หลวงปู่คล้าย วัดศิลามูล ไหว้หลวงปู่ทา เกจิอาจารย์วัดบางหลวงวัดเก่าแก่อายุกว่า 130 ปี ขี่จักรยานชมสวนและนกอพยพ ขี่จักรยานน้ำ

ตลาดดอนหวาย

ตลาดดอนหวาย

ตลาดดอนหวาย

ตลาดดอนหวาย

ตลาดดอนหวาย

          ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระทึก หลังวัดดอนหวาย เป็นตลาดที่ยังเหลือสภาพตลาดเก่าในอดีตสมัยรัชกาลที่ 6 ให้เห็นลักษณะตัวอาคารเป็นอาคารไม้เก่า ๆ ที่อยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน มีพ่อค้า แม่ค้า พายเรือนำสินค้า และอาหารมาจำหน่ายในบริเวณวัดดอนหวาย อาหารขึ้นชื่อที่นี่จะเป็นอาหารคาวหวาน เช่น เป็นพะโล้ ห่อหมกปลาช่อน ปลาตะเพียนต้มเค็มสามรส ปลาทูต้มเค็มชานอ้อย ก๋วยจั๊บนายตือ ขนมตาล ข้าวเม่าคลุก มีตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรที่วัดดอนหวายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์จะมีของขายมาก

          นอกจากนั้นที่ตลาดดอนหวายมีบริการเรือล่องแม่น้ำท่าจีนด้วย เรือเอี้ยมจุ้น และเรือกระแชง โดยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางแรก จากวัดดอนหวาย ผ่านวัดท่าพูด วัดไร่ขิง และวังปลา ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 15นาที  เส้นทางที่สอง จากวัดดอนหวาย ผ่านวัดไร่ขิง วังปลา ลอดใต้สะพานโพธิ์แก้ว ร.ร.ภปร.ราชวิทยาลัย วัดสรรเพชร วัดเดชานุสรณ์ และสวนสามพราน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง แบ่งออกเป็นรอบๆ  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศรีสวัสดิ์ย้อนยุค อาจารย์สวัสดิ์ โทร. 0 3439 3637, 08 1448 8876, 08 1659 5805 มิตรสายชล โทร. 08 1446 8556, 08 4146 5616, 08 1482 1107 เรือรุ้งฟ้า โทร.08 1241 8027, 08 1196 3372, เรือโชคดี โทร. 08 1241 8027, 08 1196 3327

เจษฎาเทคนิคมิวเซี่ยม

          ตั้งอยู่เลขที่ 100 หมู่ 2 ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวมรวบและจัดแสดงยานยนต์ เครื่องกล ยานพาหนะ หลากหลายชนิดจากทั่วทุกมุมโลก ก่อตั้งโดย นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ นักธุรกิจชาวไทยที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก เมื่อมีโอกาสเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในต่างแดน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสะสมขึ้น โดยยานพาหนะที่รวบรวมนี้มีทั้งยานพาหนะทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เช่น รถเล็ก รถการ์ตูน เรือดำน้ำสัญชาติรัสเซีย เครื่องบินโบอิ้ง 747  เครื่องบินไทรสตาร์ ฯลฯ

          เปิดให้ชมวันอังคาร์-วันอาทิตย์ ในเวลา 9.00-17.00 น. ผู้สนใจเยี่ยมชมสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. +668 9679 8778, +66 2883 2880 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.jesadatechnikmuseum.com ทั้งนี้ เปิดบริการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.

พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทย

          ตั้งอยู่เลขที่ 9/1 หมู่ 4 บ้านลานแหลม ถนนนครชัยศรี-ดอนตูม กิโลเมตรที่ 14–15 ตำบลวัดละมุด ในบริเวณบ้านของอาจารย์เริงชัยและคุณป้าพยอม แจ่มนิยม ซึ่งใช้บ้านของท่านเป็นที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ของชาวนาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเล่าขานตำนานวิถีชาวนาไทย ตัวอาคารเป็นเรือนไทยเครื่องผูก 2 ห้อง จัดแสดงวิถีชีวิตชาวนาย้อนไปเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน เครื่องมือเครื่องใช้การเกษตร เครื่องมือจับปลา เครื่องมือก่อสร้างบ้านเรือน ผู้สนใจสามารถชมการเกษตรแบบดั้งเดิม การเกษตรแบบพอเพียง สาธิตการผลิตข้าวกล้องข้าวซ้อมมือ การหุงข้าวด้วยหม้อดิน  การผลิตหัตถกรรมจักสานผักตบชวาของอำเภอนครชัยศรี  โดยควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม 20 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 3429 6086, 08 1991 6084, 08 5186 4404, 08 7165 1681

หมู่บ้านไทยโซ่ง

          ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อยู่ห่างจากอำเภอบางเลนมาทางทิศใต้ ตามเส้นทางสายบางเลน-ดอนตูม ประมาณ 9 กิโลเมตร หรือ ทางหลวงหมายเลข 3296 กิโลเมตรที่ 5 เป็นหมู่บ้านของชาวไทยเชื้อสายโซ่ง (หรือไทยทรงดำหรือไทดำ) ซึ่งอพยพเข้ามาเมืองไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2311 เข้ามาอยู่ที่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้ขยับขยายที่ทำกินไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย เลย พิจิตร พิษณุโลก เป็นต้น

          วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประเพณีของชาวไทยทรงดำเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง การแต่งกาย ชาวไทยโซ่งชอบใช้เครื่องแต่งกายสีดำหรือสีครามเข้มจนเกือบดำ ผู้หญิง ไว้ผมยาวเกือบ 1 เมตร เพื่อทำทรงผม เรียกว่า ปั้นเกล้า ไว้กลางศีรษะและสับปิ่นไว้ เสื้อผ้ามีเสื้อก้อม เสื้อฮี ผ้าเปียว ผ้าซิ่นสีครามแก่มีลายทางสีฟ้า เรียกว่า ลายแตงโม ผู้ชาย สวมเสื้อก้อมหรือเสื้อไทแขนยาว กางเกงขายาวเรียกว่า “ส้วงขาฮี หรือ ส้วงก้อม” มีสีดำ และ “เสื้อฮี” เป็นเสื้อประจำตัวในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ บ้านของชาวไทยทรงดำเป็นแบบดั้งเดิมโบราณ เป็นบ้านแบบเครื่องผูกวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ เช่น ฝาบ้าน พื้นบ้าน โครงสร้างหลังคาสูงชัน มุงด้วยหญ้าแฝก ใต้ถุน อุปนิสัยชาวไทยทรงดำ รักสงบ ซื่อสัตย์ อดทน ขยันขันแข็ง มีความรักและสามัคคีในหมู่คณะ รักความสนุกสนานเพลิดเพลิน
          
          นอกจากนั้นภายในหมู่บ้านมีหัตถกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การทอผ้า และเครื่องจักสานต่าง ๆ ชาวไทยทรงดำยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณี ทุกปีในวันที่ 14 เมษายน จะมีงานประจำปีของหมู่บ้านคือ ประเพณีสงกรานต์ และมีสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อผ้า ข้าวซ้อมมือ ทองม้วน กล้วยฉาบ ผู้สนใจสามารถศึกษาวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำได้

ทิปส์ท่องเที่ยว

          ล่องเรือเที่ยวชมคลองมหาสวัสดิ์และคลองต่าง ๆ ควรนำร่มและหมวกไปด้วย โดยเฉพาะในหน้าร้อน เพราะแดดค่อนข้างแรง แต่หากไม่ได้นำติดตัวไป ที่ท่าเรือบางแห่งมีบริการให้ยืม

          เที่ยวตลาดน้ำแห่งต่าง ๆ ควรตรวจสอบเรื่องเวลาก่อนออกเดินทาง เพราะตลาดน้ำบางแห่งมีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ หรือเฉพาะช่วงเวลาเช้าเท่านั้น ในขณะที่บางแห่งมีทุกวันตั้งแต่เช้าจดเย็น

          วิธีเลือกซื้อส้มโอ ควรเลือกส้มที่มีผิวเหลืองจัด ผิวเต่ง ตาน้ำมันถ่างใหญ่ ก้นนิ่มแม้จะอยู่กับต้น แต่ถ้าตัดหลายวันก้นก็นิ่มได้ แต่ผิวจะไม่เต่ง

          จังหวัดนครปฐม ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง นอกเหนือจากที่เราได้นำมาบอกเล่ากัน แต่ถ้ามีเวลาว่าง ก็ไม่ควรพลาดไปท่องเที่ยวกันนะจ๊ะ..

การเดินทาง

          นครปฐมอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามเส้นทางถนนเพชรเกษม 56 กิโลเมตร หรือตามเส้นทางถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า–นครชัยศรี) ประมาณ 51 กิโลเมตร และตามเส้นทางรถไฟประมาณ 62 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดนครปฐมได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

          โดยรถไฟ : การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี ไปยังจังหวัดนครปฐมทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ และรถพิเศษชานเมือง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีหัวลำโพง สามเสน บางซื่อ และบางบำหรุ นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางและราคาตั๋วโดยสารของการรถไฟแห่ง ประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 (ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th และจองตั๋วรถไฟก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ได้ที่ โทรศัพท์ 0-2220-4444 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

          โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม หรือใช้ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม

          โดยรถประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-นครปฐม ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 05.30-23.15 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

          การเดินทางภายในนครปฐม

          ในตัวจังหวัดนครปฐมมีรถชนิดต่าง ๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

          รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

          รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง บริเวณรอบพระปฐมเจดีย์ ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ วิกีพีเดีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นครปฐม เมืองส้มโอหวาน อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:00:41 3,911 อ่าน
TOP