x close

สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์






สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ (ททท.)

          สตูล คือจังหวัดที่รวมไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของพี่น้องชาวไทยมุสลิม และหมู่เกาะงดงามที่โด่งดังระดับประเทศ เช่น เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม ฯลฯ รวมทั้งผืนป่าดิบ โถงถ้ำ และน้ำตกน้อยใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน และด้วยความหลากหลายเช่นนี้ สตูล จึงนับได้ว่าเป็นเพชรอีกเม็ดหนึ่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน อันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวโดยไม่เคยเสื่อมคลาย

          จังหวัดสตูล มีเนื้อที่ประมาณ 2,479 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงมีหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่าร้อยเกาะอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัด ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินสูง มีที่ราบ ป่าเขา และลำธารทางด้านตะวันออก ตอนกลางใกล้ทะเลเป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับภูเขา ส่วนชายฝั่งทะเลเป็นที่ราบและป่าชายเลน



          ชื่อ "สตูล" เพี้ยนมาจากภาษามลายู คือสโตย ซึ่งแปลว่ากระท้อน ที่ขึ้นดกดื่นอยู่ในพื้นที่นี้ โดยก่อนที่จะผนวกรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย สตูลเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลไทรบุรี มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า นครสโตยมำบังสการา ซึ่งไทยเรียกว่าสตูล แปลว่า เมืองแห่งพระสมุทรเทวา

          ย้อนหลังไปก่อนช่วงรัตนโกสินทร์ สตูล ยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาใด ๆ จนกระทั่งถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ชื่อ สตูล ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 โดยข้องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไทรบุรี นอกจากนี้ ชื่อ สตูล ยังปรากฏอยู่ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ในเวลาต่อมา

          เมื่อถึง พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รักษาเมืองไทรบุรี ปะลิส และ สตูล เป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่ามณฑลไทรบุรี จนล่วงเข้า พ.ศ. 2452 มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ทำให้ไทรบุรีและปะลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลอยู่ในความปกครองของไทย โดยใน พ.ศ. 2453 สตูลมีฐานะเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต กระทั่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ. 2475 สตูลก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดจวบจนทุกวันนี้

          จังหวัดสตูล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ กับ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอมะนัง



สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเยือน

มัสยิดกลางจังหวัดสตูล หรือ มัสยิดมำบัง

          ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนบุรีวานิชและถนนสตูลธานี กลางเมืองสตูล เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอาเก็ม) เป็นเจ้าเมืองสตูล (ประมาณ พ.ศ. 2539) ชื่อ มำบัง ตั้งตามชื่อเมืองสตูลในสมัยนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้จัดสร้างลักษณะรูปทรงมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตัวอาคารสีขาวตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อนและกระจกใส ตัวอาคารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนนอกเป็นระเบียง มีบันไดขึ้นหอคอย ลักษณะเป็นยอดโดม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ ส่วนในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นล่างมีห้องใต้ดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จทรงเปิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2525

          ทั้งนี้ วันเปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล คฤหาสน์กูเด็น

          ตั้งอยู่ถนนสตูลธานี ซอย 5 ตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น อาคารเป็นตึกแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งสถาปัตยกรรมยุโรบ หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยและใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆ เป็นเกล็ดแนวนอน ช่องลมหน้าบนตกแต่งรูปดาวสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม สร้างเมื่อ พ.ศ.2441 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 โดยพระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (กูเด็น บินกูแม๊ะ) เจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          คฤหาสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ได้ประทับแรม และเคยเป็นบ้านพักและศาลากลางจังหวัด ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุและจัดนิทรรศการให้ความรู้ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวสตูลในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7472 3140
   




อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

          เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา 22 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร

          ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน 51 เกาะ  มีเกาะขนาดใหญ่ 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี  แบ่งออกเป็น 2 หมู่เกาะใหญ่ คือหมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2525 ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน

          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th หรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 โทร. 0 7478 3485, 0 7478 3597, 0 7478 1285 หรือ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.1 (อ่าวพันเตมะละกา) บนเกาะตะรุเตา โทร. 0 7472 9002-3

เกาะหลีเป๊ะ

เกาะหลีเป๊ะ
     
          เกาะสิเป๊ะ หรือ เกาะหลีเป๊ะ อยู่ทางใต้ของเกาะอาดัง 2 กิโลเมตร มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 12 ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านทีมีเชื้อสายชาวเลจะร่วมกันจัดงานรื่นเริง และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมง

          จุดเด่นของ เกาะหลีเป๊ะ คือ ความเป็นธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ มีเวิ้งอ่าวที่สวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง มีอ่าวที่สวยงามชื่อ "อ่าวพัทยา"และ "หาดชาวเล" มีลักษณะโค้งเว้า ทรายขาวละเอียด ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที และยังมีบริการบ้านพักของเอกชนคอยบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไปยังเกาะต่าง ๆ ได้ในราคาลำละ 1,500-1,800 บาท นั่งได้ 8-9 คน โดยติดต่อกับทางรีสอร์ทที่มีบริการทัวร์




อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

          เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกทางใต้ของไทย บริเวณช่องแคบมะละกา ฝั่งทะเลอันดามัน เกาะเภตรา มีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเล ประมาณ 494.38 ตารางกิโลเมตร ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 อุทยานฯ นี้มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า ปะการังหลากสีสวยงาม ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญต่าง ๆ คือ เกาะเภตรา เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ

          สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อ่าวนุ่น เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ อยู่บนโค้งเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่มีบรรยากาศเงียบสงบ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและบ้านพัก หาดราไว เป็นชายหาด ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 และ 4 ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า ห่างจากที่ทำการทุ่งหว้า ประมาณ 26 กิโลเมตร เข้าตรงทางแยกบ้านวังตง มีต้นสนอยู่ตลอดแนวชายหาด มีภูมิทัศน์ที่เหมาะสำหรับตั้งค่ายพักแรม เกาะลิดีเล็ก อยู่ห่างจากที่ทำการฯ (อ่าวนุ่น) ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ฯ บนเกาะมีชายหาดทรายขาว น้ำใสเหมาะจะเล่นน้ำพักผ่อน ด้านข้างของเกาะมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มีสัตว์น้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวที่จะพักบนเกาะต้องนำเต็นท์และอาหารมาเอง เพราะยังไม่มีร้านอาหารบริการ ส่วนเกาะลิดีใหญ่ ซึ่งอยู่ข้างเกาะลิดีเล็ก เป็นเกาะสัมปทานรังนกนางแอ่น สนใจติดต่อเช่าเรือได้ที่  ที่ทำการอุทยานฯ ค่าเช่าเรือประมาณ 700 บาท
 


          เกาะบุโหลน อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใสสวยเล่นน้ำได้ มีจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกกระจายอยู่หลายจุด เช่น เกาะอายำและเกาะหินขาว ยามค่ำคืนบริเวณชายหาดมีปูเสฉวน ปูลม ให้ดู และยังเป็นจุดดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงามจุดหนึ่งด้วย 

          ทั้งนี้ ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพัก และสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา (อ่าวนุ่น) 298 หมู่  4 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล  91110 โทร. 0 7478 3074 (ผู้ที่จองจะต้องมาติดต่อที่อุทยานฯ ด้วยตนเอง หรือมีหนังสือแจ้งล่วงหน้า) www.dnp.go.th



อุทยานแห่งชาติทะเลบัน

          ตั้งอยู่ที่บ้านวังประจัน ตำบลวังประจัน อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสตูล 40 กิโลเมตร อุทยานฯ มีเนื้อที่ 122,500 ไร่ โดยรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุปังปุโต๊ะและหัวกระหมิงและพื้นที่ป่าควนบ่อ น้ำปูยู ในท้องที่ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมือง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 คำว่า "ทะเลบัน" มาจากคำว่า "เลิด เรอบัน" เป็นภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบหรือทะเลอันเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน

          อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เกิดจากการยุบตัวของพื้นดินระหว่างเขาจีนและเขามดแดง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 63,350 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น เลียงผา ช้าง สมเสร็จ หมูป่า ลิง ชะนี และ “เขียดว๊าก” (หมาน้ำ) ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งบึงทะเลบัน รูปร่างคล้ายกบและคางคก แต่มีหาง ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข จะมีชุกชุมตามริมบึงโดยเฉพาะในฤดูฝน สำหรับผู้ชื่นชมการดูนกก็ไม่ควรพลาด เพราะมีนกหลายชนิดให้ดู เช่น นกแอ่นฟ้าเคราขาว นกปรอดคอลาย นกกางเขนน้ำหลังแดง นกหัวขวาน เป็นต้น

          สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ได้แก่ บึงทะเลบัน เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่กลางหุบเขา ขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ มีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงจะมี “ต้นบากง” ขึ้นอยู่หนาแน่น ทางอุทยานฯ ได้สร้างศาลาท่าน้ำไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนและมีทางเดินไม้รอบบึง น้ำตกยาโรย เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำในป่าหัวกะหมิง มี 9 ชั้น แต่ละชั้นเป็นแอ่งสามารถเล่นน้ำได้ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 4184 (สายควนสะตอ-วังประจัน) กิโลเมตรที่ 14–15 ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก 700 เมตร และ น้ำตกโตนปลิว มีต้นน้ำมาจากภูเขาจีน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีหลายชั้น ไหลจากหน้าผาสูง สวยงามมาก การเดินทาง ช้เส้นทางหมายเลข 4184 (สายควนสะตอ-วังประจัน) กิโลเมตรที่ 9–10 หรือห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางลูกรังแยกไปอีก 3 กิโลเมตร
 
          ทั้งนี้ อุทยานฯ มีบ้านพักและร้านสวัสดิการ (เปิดในเวลาราชการ) ไว้บริการนักท่องเที่ยว ส่วนเต้นท์ต้องนำมาเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล 91160 โทรศัพท์ 0 7472 2737, 08 3533 1710 อีเมล์ thalebansatun@hotmail.com
 
          การเดินทางไปอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 406 ระยะทาง 80 กิโลเมตร ถึงสามแยกควนโดนซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าอุทยานเลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข 4184 ไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารประจำทางไปสตูล ลงสามแยกควนสะตอ ต่อรถสองแถวเล็ก สายสตูล-วังประจัน รถออกชั่วโมงละ 1 คัน ค่าโดยสารคนละ 20 บาท



หมู่เกาะสาหร่าย

          ห่างจากท่าเรือเจ๊ะบิลัง อ.เมือง ประมาณ 12 กิโลเมตร นั่งเรือ 2 ชั่วโมง หมู่เกาะสาหร่าย นี้มี 2 เกาะใกล้กัน ชาวเมืองเรียกเกาะยะระโตด และยะระโตดนุ้ย มีชายหาดโดยรอบเกาะ ใกล้เกาะยะระโตด มีเกาะหาดหอยงาม ซึ่งคลื่นซัดเปลือกหอยไปกองไว้เป็นเกาะ คล้ายสุสานหอย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 7521 5867 และ 0 7521 1058

เกาะเขาใหญ่

          อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กิโลเมตร บนเกาะมีอ่าวชื่อนะปุลา จุดเด่นของเกาะเขาใหญ่ คือ ประติมากรรมธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งไปในทะเล ยามน้ำลดสามารถพายเรือลอดได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของประมงจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ใกล้เกาะเขาใหญ่ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมแวะไปชมมากเช่นกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โทรศัพท์ 0 7478 3074

Tips ท่องเที่ยว

          ฤดูกาลเที่ยวหมู่เกาะในสตูล คือช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอับคลื่น อย่างไรก็ตามควรตรวจสอบสภาพอากาศอีกครั้งก่อนเดินทางเพราะอาจมีมรสุมนอกฤดูพัดผ่านเข้ามา

          เที่ยว เกาะหลีเป๊ะให้สนุกและได้ซึมซับวัฒนธรรมของชาวไทยใหม่ (ชาวเล) ควรไปให้ตรงกับวันขึ้น12-15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับช่วงประกอบพิธีลอยเรือของชาวไทยใหม่

          นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เรายกตัวอย่างมาเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว "สตูล" ยังมีที่ท่องเที่ยวดี ๆ แจ่ม ๆ อีกมากมาย ถ้ามีเวลาก็อย่าลืมแวะเวียนไปเที่ยวกันนะจ๊ะ...




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:53:37 9,395 อ่าน
TOP