x close

สัมผัสชีวิตท้องทุ่ง เที่ยวอ่างทอง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก tourangthong และ ททท.

          ... พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน ...

          นี่คือคำขวัญของจังหวัดเล็ก ๆ พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) เพียงระยะทางแค่ 108 กิโลเมตร เรียกว่าสามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว ใช่แล้ว! เรากำลังจะพาเพื่อน ๆ ออกไปสูดความบริสุทธิ์ของท้องทุ่ง ณ จังหวัดอ่างทอง กัน พร้อมแล้วไป เที่ยวอ่างทอง ดีกว่า

          จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 605,232.5 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 71 ของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา แต่มีแม่น้ำสายสำคัญคือแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่อุดมไปด้วยงานหัตถกรรมท้องถิ่น รวมถึงยังเต็มไปด้วยวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก

เที่ยวอ่างทอง

          ตามประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า เมืองอ่างทองเคยมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเป็นชุมชนเมืองขนาดย่อมตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีหลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ "คูเมือง" ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ต่อมาในสมัยสุโขทัย เมืองอ่างทองได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมจากสุโขทัยมาด้วย โดยจะเห็นได้จากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

          ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณปี พ.ศ. 2127 อ่างทองถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ชื่อ "แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ" ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย ต่อมากระแสน้ำในแม่น้ำน้อยเปลี่ยนทิศไป เมืองจึงถูกย้ายไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า "เมืองอ่างทอง" จากนั้นในปี พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยา และเป็นที่ตั้งของอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเมืองวิเศษชัยชาญยังคงเป็นเมืองมาจนถึงปี พ.ศ. 2439 จึงลดฐานะลงเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอไผ่จำศีล" ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอวิเศษชัยชาญ" จนถึงปัจจุบัน

เที่ยวอ่างทอง

          ทั้งนี้ จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่จึงเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้าน และวัดต่าง ๆ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด ได้แก่...

          ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชน าวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดอ่างทองไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาลหลักเมือง และหาของดีเมืองอ่างทองบริเวณศาลนั้น เพื่อเป็นสมบัติประจำตนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

          วัดต้นสน อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง หรือเรียกชื่อย่อว่า สมเด็จพระศรีเมืองทองขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิมเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีสวมเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2528 นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวย งามมากอีกองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีวังปลาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย

         วัดชัยมงคล สร้างราวปี พ.ศ. 2400 ปลายสมัยรัชกาลที่4 เหตุที่ชื่อว่า วัดชัยมงคล เนื่องจากเป็นจุดแพ้ชนะในการแข่งขันเรือเหนือวัดขึ้นมาไปเป็นวัดสนามชัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ใน ปัจจุบันโดยนำศิลปสมัยใหม่มาผสมผสาน




         วิหารหลวงพ่อสด ตั้งอยู่ใกล้วัดจันทรังสี ซึ่งภายในวัดมีการสร้างรูปหล่อหลวงพ่อสดวัดปากน้ำขนาดใหญ่ พร้อมวิหารครอบที่สวยงาม มีการจัดบริเวณที่มีความสวยงามร่มรื่น
 
         วัดอ่างทองวรวิหาร ตั้งยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้างศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็ก ๆ 2 วัด ชื่อวัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จทางชลมารคผ่านวัดทั้งสองนี้จึงโปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกัน และพระราชทานนามว่า "วัดอ่างทอง" มีพระอุโบสถที่งดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีทองด้าน และหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบ ซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
   
         วัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท มหานิกาย เดิมเป็นวัดราษฏร์โบราณ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตารามได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่เป็นปูนขาวไม่ปิดทองไว้กลางแจ้ง ณวัดแห่งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เสด็จมานมัสการและโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโย ในปี พ.ศ. 2430 ระหว่างการลงรากพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาพุทธพิมพ์" เสร็จสมบูรณ์เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2438 รวมเวลาที่ปฏิสังขรณ์นาน 8 ปี จาดนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยขึ้นเป็นอารามหลวง ต่อมาปี พ.ศ. 2531 ได้เริ่มปิดทององค์พระมหาพุทธพิมพ์ โดยดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของกรมศิลปากร
   
         วัดสระเกษ วัดนี้เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยภูมิ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 15 กิโลเมตร สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1892 ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีนามว่า "วัดเสาธงหิน" มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กรีธาทัพขับไล่ข้าศึกถึงบ้านชะไว และได้ชัยชนะจึงให้ชื่อว่าบ้านไชโย เมื่อขับไล่ข้าศึกไปแล้วได้พักทัพที่วัดเสาธงหินสรงน้ำสระเกษาที่วัดนี้ ต่อมาจึงได้เรียกว่า "วัดสระเกษ" ถือเป็นมงคลนาม

         วัดขุนอินทประมูล เป็นพระอารามราษฎร์ ชั้นสามัญ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพลับ อำเภอโพธิ์ทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน องค์พระยาว 2 เส้น 5 วา คือ 50 เมตร ยาวเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย และพระพักตรหันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก จากการสันนิฐานมีความเห็นว่าได้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปัจจุบันองค์พระนอนอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุม เนื่องจากวิหารเดิมคงหักพังไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้จากเสาพระวิหารที่ยังปรากฏอยู่รอบองค์พระนอน

เที่ยวอ่างทอง

         วัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข309 (สายอ่างทอง-อยุธยา) กิโลเมตรที่ 40 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 329 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3501 จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้เสด็จมาชุมนุม พลและถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้

         ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ เป็นเรือนไทยทรงสูงชื่อว่า "คุ้มสุวรรณภูมิ" อยู่ด้านหลังวัดท่าสุทธาวาส ในพื้นที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ตำบลนี้เดิมชื่อบ้านวัดตาล ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518 และทรงเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีดินที่เหมาะสมแก่การปั้นตุ๊กตาชาววัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการตุ๊กตาชาววังขึ้นจนถึงวันนี้ ชาวบางเสด็จได้สานต่อโครงการจนทำให้ตุ๊กตาจากดินเหนียวของไทยเป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลก โดย ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ จะมีการสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววัง ประดิษฐกรรมดินเหนียวอันสวยงาม ที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น การละเล่นของเด็ก ไทย วงมโหรีปี่พาทย์ ชุดท่วงท่าฤาษีดัดตน หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่สวยงามน่ารักอย่างยิ่ง ซึ่งเปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. โทร. 0 3566 2995

         อนุสาวรีย์พันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ที่วัดนรสิงห์ หมู่ 2 บ้านตะพุ่น ตำบลนรสิงห์ ตามทางหลวงหมายเลข 3501 (สายอ่างทอง-ป่าโมก-อยุธยา) กิโลเมตรที่ 9–10 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2531 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ซึ่งเป็นชาวบ้านนรสิงห์ และเป็นพันท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยสมัยพระเจ้าเสือ ซึ่งยืนยันขอรับโทษประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาลที่ไม่สามารถบังคับเรือพระที่นั่ง จนหัวเรือกระแทกกิ่งไม้หักลง เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป พฤติกรรมของพันท้ายนรสิงห์ได้รับการสรรเสริญในประวัติศาสตร์ตราบจนทุกวันนี้

         อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ตามเส้นทางสายอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 ซอยปู่ดอก-ปู่ทองแก้ว 16 โดยเป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอก และ ปู่ทองแก้ว ซึ่งทั้งสองท่านยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจัน ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ. 2309 อนุสาวรีย์แห่งนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. 2520



         วัดถนนเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองเป็นวัดที่สร้างในราวสมัยกรุงธนบุรีภายในวัดมีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้องค์ยืน สูงประมาณ 2 เมตร นามว่า"หลวงพ่อพุทธรำพึง" ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของประชาชนคนที่มากราบไหว้บูชาเสี่ยงโชคขอพรให้ตั้งไข่ที่หน้าหลวงพ่อถ้าใครตั้งไข่ได้แสดงว่ามีโชคลาภ ดวงดีถ้าใครตั้งไข่ไม่ได้ ก็แสดงว่าไม่มีดวงถ้าจะแก้บนสิ่งที่ทำนายคือให้แก้บนด้วยไข่ต้ม ละครและพวงมาลัยนอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้อีกคือรอยพระพุทธบาทลอยฟ้าซึ่งแกะสลักด้วยไม้ติดอยู่บนเพดานศาลาการเปรียญมีขนาดกว้าง 30 นิ้ว ยาว 70นิ้ว อายุกว่าร้อยปี

         ตลาดวิเศษชัยชาญ ตลาดนี้เป็นตลาดเก่ามีอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ยังคงเห็นสภาพบ้านเรือน ตึกแถวไม้ โรงแรมเก่า โรงสีข้าว ร้านขายของชำ ร้านขายเครื่องยาจีนและไทย ซึ่งยังคงเป็นตลาดเก่าที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งชมตลาดวิเศษชัยชาญ ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่กว่า 100 ปี

         พระตำหนักคำหยาด อยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับของเจ้าฟ้าอุทุมพร (พระราชโอรสองค์ที่ 3 ในพระเจ้าบรมโกศ กับกรมขุนพิพิธมนตรี) ขณะที่ทรงลาออกจากราชสมบัติ แล้วทรงผนวชอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดมา ตราบจนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้จับพระองค์เป็นเชลยศึกติดไปกับบรรดาเชลยชาวไทยจำนวนมาก

          และนี่เป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ ในจังหวัดอ่างทองที่เราหยิบนำมาบอกเล่ากัน แต่จริง ๆ แล้วจังหวัดอ่างทองยังมีแหล่งท่องเที่ยวดี ๆ แจ่ม ๆ อีกเพียบ เอ้า...ใครอยากไป "เที่ยวอ่างทอง" แล้วยกมือขึ้น

การเดินทางสู่อ่างทอง

          รถยนต์

          1. ใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากกรุงเทพมหานคร แยกเข้าเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ผ่านอำเภอบางปะอิน-บางปะหัน-อยุธยา-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุด

          2. ใช้เส้นทางตัดใหม่ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-ตลิ่งชัน เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง-ชัยนาท) ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-อยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร

          3. ใช้เส้นทางกรุงเทพมหานคร-ปทุมธานี ผ่านอำเภอปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-อยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 (วังน้อย-สิงห์บุรี) เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร

          รถโดยสารประจำทาง

          บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถปรับอากาศทุกวัน วันละหลายเที่ยว สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (จตุจักร)




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
      และ tourangthong

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัมผัสชีวิตท้องทุ่ง เที่ยวอ่างทอง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:50:01 3,181 อ่าน
TOP