x close

เที่ยวแม่ฮ่องสอน ก้าวตามรอยเท้าพ่อ จากแม่ลาน้อยถึงปางตอง

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          เที่ยวแม่ฮ่องสอน สัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ณ บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย และศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยังคงความสวยงามและบริสุทธิ์

          บ้านห้วยห้อม หมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบเขา ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยความที่บ้านห้วยห้อมถูกโอบกอดด้วยขุนเขา ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเยือนที่นั่นล้วนเต็มอิ่มไปกับวิวทิวทัศน์สีเขียวสวย ๆ อย่างไม่อาจละสายตา รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ก็ล้วนมีเสน่ห์สะกดใจได้ไม่ยากเย็น เช่นเดียวกับที่เว็บไซต์ Artoftraveler.com ได้มีโอกาสลงไปสัมผัสและคลุกคลีกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมถึงเรียนรู้กระบวนการประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน อันเป็นสิ่งที่ "พ่อหลวง รัชกาลที่ 9" ได้ทรงพระราชทานไว้ให้

          จากนั้นไปเยือน "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย" ดูการปลูกเมล็ดกาแฟอาราบิก้าบ้านห้วยห้อมอันโด่งดัง ก่อนจะเลยไปถึง "ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ" ชมขั้นตอนการทอผ้าจากขนแกะ !! แต่ละแห่งจะน่าเที่ยวขนาดไหนนั้น ตามเรามาดูด้วยกันเลย

++++++++++++++++++++

          รอยเท้าพ่อ จากแม่ลาน้อยถึงปางตอง

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          ท้องฟ้าสดใส ใบไม้เปลี่ยนสี ลมหนาวกับเรื่องราวของผู้คนบนพื้นที่สูง บอกให้รู้ว่า "พ่อหลวง" รักและห่วงใยพวกเราแค่ไหน อาจหนาวแค่เพียงกาย แต่หัวใจเราอบอุ่นยิ่งนัก

          ตอซังข้าว สงบนิ่งในผืนนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว ฝูงแกะทอดน่องเล็มหญ้าอย่างมีความสุข หากอยู่ในการศึกสงคราม ชัยภูมิของบ้านหลังนี้ถือว่าได้เปรียบคู่ต่อสู้ เพราะอยู่บนเนินสูงมองเห็นที่ราบด้านล่างจรดทิวเขาไกลลิบอย่างแจ่มชัด จนรู้สึกอิจฉาผู้เป็นเจ้าของบ้านอย่าง มะลิวัลย์ นักรบไพร ที่ยกกาแฟมาเสิร์ฟให้นั่งจิบชมวิวไปเพลิน ๆ

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          นาทีนี้น้อยคนนักจะไม่รู้จักเมล็ดกาแฟอาราบิก้าบ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้นพันธุ์กาแฟที่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาให้ปลูก บัดนี้หยั่งรากอย่างมั่นคงแข็งแรง เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ลูก ๆ จนชีวิตมีสุขในทุกวันนี้

          "กาแฟอาราบิก้าที่รสชาติดี ขึ้นอยู่กับสามลักษณะคือ หนึ่ง … ปลูกภายใต้ร่มเงา สอง … ความสูงหนึ่งพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป สาม … อากาศเย็นเฉลี่ยทั้งปี บ้านห้วยห้อมสูงแค่เก้าร้อยกว่า ๆ แต่ได้ปัจจัยเสริมอย่างอื่น คืออยู่ใกล้ร่องห้วย อากาศเย็น มีป่ามีร่มเงา กาแฟเลยมีคุณภาพ"

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          มนูญ รักษาชล เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งคลุกคลีอยู่กับงานส่งเสริมการปลูกกาแฟที่บ้านห้วยห้อมมานาน เล่าต่ออีกว่า ประเพณีของชาวปกาเกอะญอ จะนำสายสะดือเด็กเกิดใหม่ไปผูกไว้กับต้นไม้ แล้วคนนั้นต้องคอยดูแลรักษา เพราะมันหมายถึงอายุขัยของเค้า ตรงไหนมีปกาเกอะญอที่นั่นป่ามักจะสมบูรณ์

          บ้านห้วยห้อมอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของศูนย์ฯ แม่ลาน้อย ระยะทางห่างกันประมาณ 9 กิโลเมตร หนุ่มปักษ์ใต้เมืองนครศรีธรรมราชอย่างมนูญ เข้ามาเริ่มงานตั้งแต่ถนนยังไม่มีในแผนที่และชีวิตจริง ต้องเดินเท้าไป-กลับร่วมสามชั่วโมง เจ้าหน้าที่ใจต้องสู้และรักงานนี้ จึงจะอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมยากลำบาก อันเป็นเป้าหมายแท้จริงของมูลนิธิโครงการหลวง

          "โครงการหลวงแต่ละแห่งเส้นทางจะยากเสมอ เมื่อทางยากหน่วยงานรัฐเข้าไปไม่ถึง ชาวบ้านจึงทำอะไรก็ได้ อย่างที่นี่มีเส้นทางขนฝิ่นไปออกพม่าได้เลย"

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          แม้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาวุธคู่กายมีเพียงรองเท้าบูท มีด จอบ เสียม เสื้อกันฝนและความรู้เพื่อถ่ายทอดให้ชาวบ้าน มนูญเล่าว่าก่อนมีถนน (ลูกรัง) ชาวบ้านเดินตามลำห้วยเข้าตัวอำเภอ หากเอาข้าวเปลือกไปขายสองถัง ต้องเพิ่มเข้าไปสองลิตรเป็นเสบียงหุงกินระหว่างทาง ขายข้าวถังละ 35 บาท เปลี่ยนเงินเป็นเกลือและปลาทูเค็มกลับมาบ้าน อาหารอร่อยที่สุดคือปลากระป๋อง

          "ชาวบ้านเรียกพวกเราว่าเกษตร สมัยก่อนจะเข้าไปประชุมในตัวอำเภอ ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชั่วโมง หน้าฝนใครไม่พกจอบ พกเสียม เค้าไม่ให้ขึ้นรถนะ เผื่อรถติดหล่มจะได้ช่วยกันกลบหลุมกลบร่อง ผมต้องเอาชุดใส่ถุงพลาสติกไปเปลี่ยน แล้วฝากไว้ที่ป้อมตำรวจ ขากลับก็มาเปลี่ยนใส่ชุดเก่า"

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          ความยากลำบาก ห่างไกลบ้านเกิด รสอาหารไม่คุ้นลิ้น ภาษาในการสื่อสาร เป็นอุปสรรคระหว่างทำงานจนมนูญเกือบถอดใจกลับบ้านหลายหน แต่ทุกครั้งเค้าจะนึกถึงพระองค์เสมอ จนอยู่ที่นี่มานานถึง 25 ปี เริ่มจากงานส่งเสริมการปลูกกาแฟ โดยนำต้นพันธุ์มาจากศูนย์ฯ แม่หลอด ระยะแรกได้ผลผลิตน้อยมาก แก้ไขปรับปรุงจนได้เมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมเป็นที่ยอมรับ

          "การบินไทยกับอเมซอนคือลูกค้าหลัก ส่วนสตาร์บัคส์เป็นคู่ค้าที่เข้ามาทีหลัง กลุ่มชาวบ้านก็สร้างแบรนด์ห้วยห้อมของเค้าเอง ต้นกาแฟสร้างเรื่องราวหลายอย่าง อาชีพ รายได้ ป่า น้ำ และระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์"

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          มะลิวัลย์ พาเราขึ้นเขาไปดูไร่กาแฟ หนทางร่มรื่นไต่ระดับสูงชันขึ้นเรื่อย ๆ จนมองเห็นบ้านแต่ละหลังเล็กกว่านิ้วก้อย เป็นเส้นทางที่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินขึ้นมา ทรงรับสั่งว่าบนนี้มีแหล่งน้ำ แต่ไม่มีบ่อกักเก็บ ทรงให้ปลูกต้นไผ่ใช้เป็นท่อส่งน้ำ ภายหลังได้พา "ตาเลอะ" พ่อของมะลิวัลย์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในตอนนั้นขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูการทำประปาหมู่บ้านที่ดอยสุเทพ

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          ลุงตาเลอะลงมือขุดบ่อด้วยจอบ ทำลำพังคนเดียวไม่เอ่ยปากเรียกใครมาช่วย แต่ก็มีลูกบ้านคว้าจอบเสียมมาร่วมแรงบ้างในช่วงหลัง ใช้เวลา 10 ปี หมดจอบปีละสองด้าม บ่อน้ำขนาด 30x50x50 เมตร ที่เรียกว่า "บ่อพ่อ" จึงสำเร็จด้วยความวิริยะอุตสาหะ เป็นบ่อเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง มี "บ่อแม่" ใกล้ ๆ กันเป็นบ่อสำรอง และ "บ่อลูก" สำหรับเอาไว้ใช้ในคอกแกะ

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          "ลุงตาเลอะเป็นเกษตรกรรายแรกที่เข้ามาร่วมปลูกกาแฟ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งอะไรแกปลูกหมด เป็นคนขยันมาก หกโมงครึ่งเดินขึ้นเขาไปแล้ว ประมาณแปดโมงลงมากินข้าวเสร็จแล้วขึ้นไปใหม่" มนูญ บอก

          แม้ลุงตาเลอะจะจากลูกหลานไปเมื่อปีก่อน แต่สิ่งที่ทำเป็นแบบอย่างให้คนในหมู่บ้านเห็นและปฏิบัติตาม ทุกวันนี้บ้านห้วยห้อมสมบูรณ์พร้อมทั้งป่า แหล่งน้ำ อาชีพทำกิน ด้วยพระเมตตาของพ่อหลวง ทรงชี้นำทางจนพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ลำบาก ร่ำรวยรอยยิ้มแห่งความสุข

เที่ยวแม่ฮ่องสอน


          ศาสตร์ของพระราชาเริ่มจากสวมหมวกให้ภูเขา ใช้พื้นที่ด้านล่างทำการเกษตร ป่าข้างบนจะค่อย ๆ เจริญเติบโตฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ เชิงเขาปลูกไม้ผล ถัดลงมาเป็นพืชอายุยาวอย่างเคพกูสเบอร์รี มะเขือม่วง ฯลฯ ลดหลั่นมาอีกชั้นเป็นพืชผักอายุสั้นปลูกเร็วขายเร็ว ปลูกข้าวนาปีเฉพาะบริโภคในครัวเรือน โครงการหลวงเตรียมตลาดรองรับผลผลิตไว้ล่วงหน้า ชาวบ้านจึงมีรายได้หมุนเวียนตลอดสิบสองเดือน

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          บ้านห้วยห้อมเหมาะกับกาแฟเพราะสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ส่วนหมู่บ้านอื่นรอบ ๆ ศูนย์ฯ แม่ลาน้อย โฟกัสไปที่ไม้ผลและพืชผัก เกษตรกรรับต้นกล้าไปปลูก เก็บผลผลิตมาส่ง ส่วนของต้นทุนจะถูกหักเข้าศูนย์

          มนูญยังพบว่าวิธีเรียนรู้จากธรรมชาติของชาวบ้านกับหลักวิชาการ แท้จริงคือเรื่องเดียวกัน แต่ชาวบ้านไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลอย่างในตำราได้

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          "ชาวบ้านเค้าทำไร่หมุนเวียน ทำตรงนี้เจ็ดปีแล้วย้าย อีกเจ็ดปีก็ย้อนกลับมาที่เดิม เราถามว่าทำไมต้องเจ็ดปี เค้าบอกว่าน้อยกว่านั้นไม้ยังอ่อนเอาไปทำประโยชน์ไม่ได้ มากกว่านั้นแข็งเกินไปฟันยาก ความจริงคือดินได้รับการฟักฟื้นตามธรรมชาติ เรื่องทำนาเราถามว่าทำไมต้องเผาตอซังข้าว เค้าบอกว่าฆ่าเชื้อ เผาเสร็จปลูกอะไรก็งาม แต่สาเหตุคือดินที่นี่สภาพค่อนข้างเป็นกรด เผาแล้วจะได้ขี้เถ้าซึ่งเป็นด่าง เราก็อธิบายให้เค้าฟัง แล้วเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงดินแทนการเผาให้เค้าดู บอกอย่างเดียวไม่ได้ ชาวบ้านเค้าไม่เชื่อหรอก เราต้องพิสูจน์ให้เห็น"

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          บ้านห้วยห้อมยังทอผ้าขนแกะนุ่ม ๆ ซึ่งมีต้นทางจากแกะที่มิชชันนารีนำเข้ามาในหมู่บ้าน ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งเสริมให้นำแกะจากต่างประเทศ เข้ามาเลี้ยงปรับปรุงสายพันธุ์แล้วแจกจ่ายให้ชาวบ้าน แต่ปริมาณขนแกะไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          เราตามรอยขนแกะไปถึงศูนย์ฯ ปางตอง แกะฝูงใหญ่แยกย้ายกันเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลิน บางส่วนหลบร้อนไปนอนเล่นในคอก

          "การปรับปรุงพันธุ์แกะเริ่มจากพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม โดยนำเข้าแกะขนยาวพันธุ์บอนด์กับคอร์ริเดล เป็นแกะกึ่งเนื้อกึ่งขน เข้ามาทดลองเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์ว่าสามารถทนอยู่กับสภาพอากาศบ้านเราได้หรือไม่ ปรากฏว่าอยู่ได้และคุณภาพขนนุ่มกว่าพันธุ์ดอร์เซ็ทที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่"

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          ภูรี วีระสมิทธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน กรมปศุสัตว์ ขยายความให้ฟังต่ออีกว่า แกะที่นี่มีสองร้อยกว่าตัว จะตัดขนปีละครั้ง ก่อนเข้าฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม ปริมาณโดยเฉลี่ยตกประมาณ 5 กิโลกรัมต่อหนึ่งตัว ตอนนี้เราส่งขนแกะให้ทางห้วยห้อมปีละ 300 กิโลกรัม เป็นการสนับสนุนแบบให้เปล่า ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกำลังขยายไปยังพื้นที่ทดลองเลี้ยงอื่นอย่างเชียงใหม่ โดยมีคุณมะลิวัลย์ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับการทอผ้าควบคู่กันไป

          ขนแกะที่ได้ต้องผ่านการล้าง ซัก ฟอก สางยีด้วยแปรงซี่เล็ก ๆ ที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ทุกขั้นตอนทำด้วยความประณีต จนได้ขนแกะขาวสะอาดนุ่มฟู นำไปปั่นเป็นเส้นใยเพื่อใช้ทอ บ้านห้วยห้อมจึงมีผ้าทอจากขนแกะดอร์เซ็ทและอีกสองพันธุ์ซึ่งได้รับการสนับสนุน หากสัมผัสจะรู้สึกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน กว่าจะได้ผ้าหนึ่งผืนใช้เวลาร่วมเดือน กลุ่มห้วยห้อมทุ่มเทกับเรื่องนี้มาก พัฒนาฝีมือและรูปแบบจนชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          ชั้นสองของบ้านมะลิวัลย์ แขวนภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสต้นบ้านห้วยห้อมไว้บนข้างฝา บ้านหลังนี้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย โต๊ะอาหาร ร้านกาแฟ โชว์รูม โฮมสเตย์ คลังเก็บสินค้า ห้องรับแขก … คอยต้อนรับอาคันตุกะต่างถิ่นที่แวะเวียนมาทุกฤดูกาล อยากเดินเก็บเมล็ดกาแฟ แวะทักทายฝูงแกะ ดูนาขั้นบันไดสวย ๆ ของแม่ลาน้อยในช่วงปลูกข้าว ชิมอาหารท้องถิ่น จิบกาแฟหอมกรุ่น ที่นี่มีโฮมสเตย์หลายหลัง ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 08-9555-3900 Line ID 08 9854 0914

          "ในหลวงและพระราชินี มีบุญคุณกับเรามาก ชาตินี้คงตอบแทนไม่หมด" มะลิวัลย์ บอกความรู้สึก

          เฮลิคอปเตอร์ของพระราชาผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ซึ่งลงจอดกลางป่าเมื่อหลายสิบปีก่อน เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านไปตลอดกาล

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

          ทั้งนี้ติดตามเรื่องราวท่องเที่ยวสถานที่อื่น ๆ เพิ่มได้ที่ เฟซบุ๊ก ART of Traveler อ๊ะ ๆ อย่าลืมกด Like เป็นกำลังใจให้ด้วยนะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
artoftraveler.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวแม่ฮ่องสอน ก้าวตามรอยเท้าพ่อ จากแม่ลาน้อยถึงปางตอง อัปเดตล่าสุด 23 มกราคม 2560 เวลา 18:46:40 6,778,821 อ่าน
TOP