x close

เพลินไปกับความมหัศจรรย์ของเปลือกหอย










เพลินไปกับความมหัศจรรย์ของเปลือกหอย (เดลินิวส์)


เรื่องโดย : Sanddy.T@gmail.com

          "ซอกแซกกรุงเทพฯ" สัปดาห์นี้จะพาทัวร์ "พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ" (Bangkok Seashell Museum)เพื่อชมความมหัศจรรย์ และความสวยงามของเปลือกหอยหายากหลากชนิดรวมไปถึงฟอสซิสเปลือกหอย ที่มีอายุกว่า 350 ล้านปีก่อน

          สำหรับ"พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ" ตั้งอยู่หัว มุมถนนสีลมซอย 23เยื้องสี่แยกโรงพยาบาลเลิศสิน เป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ที่เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากความรักความเชี่ยวชาญในเรื่องเปลือกหอยของ "คุณสมหวัง ปัทมคันธิน"แฟนพันธุ์แท้เปลือกหอย 2 สมัย (ปี 2007 และ 2008) นอกจากนี้ยังได้หุ้นส่วนอย่าง "คุณอรพิน ศิริรัตน" อีกผู้หนึ่งที่หลงใหลในความสวยงามของเปลือกหอยเข้ามาบริหารจัดการภายในพิพิธภัณฑ์ฯบวกกับความตั้งใจที่อยากจะให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเปลือกหอยในกรุงเทพฯ เหมือนอย่างพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ที่ จ.ภูเก็ต

          พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ แห่งนี้ มีส่วนจัดแสดงทั้งหมด 3ชั้นด้วยกัน รวบรวมเปลือกหอยไว้ประมาณ 600 สายพันธุ์ กว่า 3,000 เปลือกเริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 1 จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวงศ์ "หอยจุกพราหมณ์-หอยสังข์ทะนาน"ซึ่งที่มาของชื่อเรียกนั้น ก็มาจากเกลียวของก้นหอย(ส่วนปลายของยอดเปลือก)ที่บิดเป็นเกลียวกลมคล้ายมวยผมของพราหมณ์ มีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูงสวยงามทั้งรูปทรง สีสัน และลวดลาย มีขนาดเล็ก-ใหญ่มากมายจึงเป็นที่นิยมของนักสะสมทั่วโลก

          นอกจากนี้ ยังมีวงศ์หอยมะเฟือง วงศ์หอยโข่งทะเล หอยโข่งบางโข่งเปลือกบาง วงศ์หอยรังนก วงศ์หอยตีนช้าง หอยกระต่ายรวมไปถึงเจ้าตัวกลมน่ารักๆ อย่าง "เม่นทะเล"ซึ่งไม่ได้เกี่ยวพันทางสายพันธุ์กับหอยแต่หากมีความสัมพันธ์กันทางห่วงโซ่อาหาร อาทิเม่นจิ๋วน้ำลึกจากเกาะไต้หวัน เม่นเขียว, เม่นม่วง, เม่นบอลล์และเม่นระเบิดหนามใหญ่ จากภูเก็ต เป็นต้น





          ส่วนไฮไลต์ของชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ "เปลือกหอยมือเสือยักษ์"ซึ่งเป็นหอยสองฝาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งขนาดและน้ำหนักโดยหอยมีเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อาจมีน้ำหนักมากถึง 300 กิโลกรัมสำหรับเปลือกหอยมือเสือชิ้นที่อยู่ในส่วนจัดแสดงนี้พบตามแนวปะการังน้ำตื้น ชายฝั่งเขตอินโด - แปซิฟิคแต่ยังไม่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด

          ในส่วนของพื้นที่จัดแสดงชั้นที่ 2 นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาไปกับ "เปลือกหอย" รูปร่างแปลกตามากมาย ไม่ว่าจะเป็น วงศ์หอยสังข์มงคล, หอยงวงช้าง, หอยหัวใจมีลักษณะโดดเด่นด้านรูปทรง ที่คล้ายรูปหัวใจ สีสันสวยงามพบตามแอ่งน้ำระหว่างกอปะการังที่น้ำตื้น เค็มจัด มีความสะอาด หรือหอยเพรียงเจาะหินยักษ์ เป็นหอยที่มีวิวัฒนาการปรับปรุงทรงเปลือกโดยสร้างปลอกหินปูนหนาและแข็งไว้ภายนอกขณะที่ลดขนาดและรูปทรงของฝาทั้งสองไว้ที่ส่วนลึกสุดบริเวณส่วนต้นของท่อปลอก สายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่นี้พบจากเกาะพาลาวัน ทางทิศตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น

          ไฮไลต์ของชั้นที่ 2 นี้คงหนีไม่พ้นฟอสซิลหอยขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญระหว่างการขุดเจาะชั้นหินเพื่อสร้างถนนระหว่างเมืองในประเทศเยอรมัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2จัดเป็นแอมโมไนต์จากยุคจูราสสิกตอนต้น อายุประมาณ 180 ล้านปีก่อนโดยฟอสซิลชิ้นนี้ได้มาจากประเทศเดนมาร์ก

          มาถึงพื้นที่ส่วนสุดท้าย ชั้นที่ 3 ซึ่งเมื่อขึ้นมาถึงด้านบนสิ่งแรกที่จะเห็นคือ ภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีที่ทรงประทานให้กับผู้แข่งขันที่ชนะเลิศเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตอนเปลือกหอย

          พื้นที่ในส่วนจัดแสดงชั้นนี้ จะประกอบไปด้วย เปลือกหอยที่หายากอย่าง "วงศ์หอยนมสาวน้ำลึก-หอยนมสาวปากร่อง"ซึ่งเป็นหอยที่จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของความหายากและความนิยมในหมู่นักสะสมรุ่นใหญ่เนื่องจากหอยชนิดนี้จะอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกตั้งแต่ระดับหลายร้อยเมตรลงไปถึงพื้นมหาสมุทร มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ช่องเปิดด้านข้างปากของเปลือกที่คาดว่าอาจเป็นช่องระบายของเสีย รวมถึงใช้เป็นกลไกในการป้องกันตัว





          "วงศ์หอยเต้าปูน"หอยขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายหอยเบี้ย แต่ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมมากกว่าปัจจุบันพบชนิดของหอยเต้าปูนแล้วกว่า 600 ชนิดทั่วโลกมีลวดลายและสีสันที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ "หอยเต้าปูน"ยังนับว่าเป็นหอยชนิดหนึ่งที่มีพิษออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่สำคัญหากใครได้สัมผัสเข้า ขอบอกเลยว่าในปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาพิษของหอยเต้าปูนได้ ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวคนใดที่ชอบดำน้ำดูสัตว์ทะเลหายากไม่แน่ใจและไม่ทราบชัดว่าสัตว์หน้าตาสวยงามเหล่านั้นเป็นตัวอะไรอย่าไปจับหรือแตะต้องตัวมันเด็ดขาด เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

          นอกจากนี้ยังมีวงศ์หอยสังข์หนาม, วงศ์หอยสังข์ปีก, วงศ์หอยเม็ดขนุน, วงศ์หอยเบี้ย,วงศ์หอยเจดีย์ และมุมจัดแสดงเปลือกหอยน้ำจืด อย่างหอยขมหนามจากทะเลสาบแทนแทนยิกา หอยกาบปุ่ม หอยเรือบิน หอยกาบหอยเดือยไก่ดำ และหอยกาบน้ำจืดยักษ์จากประเทศจีนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเปลือกใหญ่ที่สุดในโลก

          อีกหนึ่งความแปลกตาที่ไม่เคยเห็นที่ไหนคือ "หอยลูกกวาดคิวบา" หรือ "หอยทากโพลีมิต้า"นับว่าเป็นหอยทากบกที่มีลวดลายและสีสันที่สดใสที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ชนพื้นเมืองในเกาะคิวบานิยมเก็บไปทำสร้อยคอหรือเครื่องประดับอีกทั้งยังถือเป็นมรดกแห่งชาติของคิวบาด้วย นอกจากนี้ยังมีหอยทากพันธุ์อื่นๆ อย่าง หอยลุ หอยน้ำพริก หอยนกขมิ้นหอยทากยักษ์แอฟริกันและอเมริกาใต้  หอยทากต้นไม้ฟลอริด้าหอยทากทะเลทรายจากประเทศเปรู จัดแสดงไว้ให้ชมกันอีกด้วย





          ไฮไลต์สุดท้าย บริเวณชั้น 3 นี้ คือ ซากฟอสซิสฝูงโกเนียไตต์ อายุประมาณ 350 ล้านปีก่อนจากเทือกเขาแอตลาส เมืองไอบูเซอร์ ประเทศโมรอคโค แอฟริกาเหนือลักษณะเด่นอยู่ที่ห้องแบ่งภายในตัว มีลักษณะเป็นลายซิกแซกและเพื่อให้เห็นลักษณะเด่นอย่างชัดเจนผู้เชี่ยวชาญชาวโมรอคโคจึงได้ทำการขัดแต่งพื้นผิวฟอสซิลแต่ละตัวเพื่อชักนำลวดลายให้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา

          วันว่างหรือวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หากยังไม่รู้ว่าจะพาครอบครัวไปเที่ยวที่ไหนดี ลองจูงมือกันไปที่"พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ" ดู รับรองว่าจะได้ทั้งความรู้ความเพลิดเพลิน กลับบ้านไปเพียบ

          หมายเหตุ :พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยกรุงเทพฯ ตั้งอยู่หัวมุมถนน สีลมซอย 23เยื้องสี่แยกโรงพยาบาลเลิศสิน เปิดตั้งแต่เวลา 10.00 - 21.00 น. ทุกวันค่าเข้าชมสำหรับคนไทย 100 บาท (อาจจะแพงไปนิดสำหรับบางคนแต่ถูกมากเมื่อเทียบกับการที่ไม่ต้องเดินทางไปชมไกลถึงภูเก็ต)สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.02-234-0291 หรือที่ E-mail :bkkseashellmuseum@gmail.com




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพลินไปกับความมหัศจรรย์ของเปลือกหอย อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:47:16 3,863 อ่าน
TOP