x close

23 ข้อน่ารู้พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ย้อนอดีตคลังความรู้การแพทย์ไทย

          ข้อน่ารู้ของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน หนึ่งในที่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ  ที่จัดแสดงและรวบรวมวิทยาการทางการแพทย์ และจำลองวิถีชีวิตชุมชนชาวบางกอกน้อยเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน พิพิธภัณฑ์ที่เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางการแพทย์ ใครที่กำลังคิดว่าพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ต้องน่าเบื่อ ดูไปก็ไม่น่าจะรู้เรื่อง ขอให้คุณรีบเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นไปเสีย พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับการแพทย์ ให้เป็นเรื่องที่สนุก น่าตื่นเต้น และจับต้องได้ จนคุณจะต้องลบภาพการเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ ออกไป แต่ก่อนจะเที่ยวให้สนุก เรามารู้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานแห่งนี้กันเสียหน่อยดีกว่า ลองถ้าได้รู้แล้วละก็ รับรองว่าเพื่อน ๆ ต้องอยากไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากขึ้นกว่าเดิม

           ● 1. โครงสร้างอาคารหลักของอาคารพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ดัดแปลงมาจากสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ตรงบริเวณปากคลองบางกอกน้อย และที่ดินผืนดังกล่าว ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับมอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 2. ก่อนเข้าตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ลองหันไปทางด้านขวาสักนิด จะเจอเข้ากับลานพลับพลาประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ตั้งเด่นสง่าสวยงามอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 3. เมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคาร ภายในตกแต่งให้คงสภาพของสถานีรถไฟเดิมเอาไว้ เราจึงเห็นเคาน์เตอร์ขายบัตรที่เหมือนเคาน์เตอร์ขายตั๋วที่สถานีรถไฟ แถมยังมีที่นั่งสีน้ำตาลเก๋ ๆ ดูคลาสสิก ที่เราเห็นตามสถานีรถไฟอยู่บ่อย ๆ อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 4. ณ ห้องศิริสารประพาส จะเป็นห้องที่บอกเล่าเรื่องราวภาพรวมพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดให้คุณได้รู้ ภายในห้องตกแต่งให้อารมณ์เหมือนอยู่ในห้องสมุด ที่มีหนังสือรายล้อม ที่นั่งมีลักษณะเป็นโต๊ะเลคเชอร์ในห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 5. ถัดมาอีกหน่อย คือ "ห้องสถานพิมุขมงคลเขต" เป็นห้องที่ไว้สำหรับแสดงพระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขผ่านจิตรกรรมไทย พร้อมบทพูดและดนตรีประกอบสวยงาม ที่แสดงเกี่ยวกับพระประวัติตั้งแต่ประสูติ ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ จนกระทั่งสวรรคต

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 6. อีกหนึ่งห้องไฮไลท์เด็ด คือ "ห้องคมนาคมบรรหาร" ห้องที่คุณจะได้ย้อนรอยรับรู้เรื่องเล่าเกี่ยวกับพื้นที่บางกอกน้อยผ่านภาพยนตร์ 4 มิติ

           ● 7. ก่อนเข้าห้องดังกล่าว จะมีแว่นตาสามมิติให้คุณได้หยิบใส่ เมื่อเดินเข้าไปข้างใน จะเห็นจอภาพ และที่ยืนสามชั้นมีราวเหล็กให้จับอยู่ทางด้านหน้า

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 8. ภาพยนตร์ฉายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่บางกอกน้อย สถานีรถไฟ รวมถึงฉากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่เด็ดกว่าอยู่ตรงที่ ภายในห้องได้พยายามจำลองบรรยากาศให้เสมือนจริง ทั้งแสง สี เอฟเฟกต์ อย่างฉากสงครามที่มีทิ้งระเบิด ก็เหมือนมีระเบิดลงตรงหน้า ตรงส่วนนี้น่าจะถูกใจเด็ก ๆ อยู่ไม่น้อย

           ● 9. ถัดขึ้นมาบริเวณชั้น 2 จะเห็นเลยว่าพื้นที่อาคารยังคงมีการรักษาสภาพของสถานีรถไฟเดิมไว้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ทางเดินทอดยาวบริเวณริมหน้าต่าง พื้นที่ทางเดินสีน้ำตาลเคลือบเชลแล็กเป็นมันเงา แลดูคลาสสิกอย่างบอกไม่ถูก

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 10.  ในส่วนของชั้น 2 ทั้งหมด เป็นชั้นที่เกี่ยวกับศิริราชทั้งหมด ไล่เรียงตั้งแต่กำเนิดโรงพยาบาล เรื่อยมาจนถึงประวัติการเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทย

           ● 11. เดินเข้ามาเรื่อย ๆ จะเจอกับมุมจำลองห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ รวมถึง "อาจารย์ใหญ่" หัวใจสำคัญของการเรียนกายวิภาคศาสตร์ ที่ไม่มีนักเรียนแพทย์คนไหนไม่รู้จัก ที่นอนอุทิศร่างอยู่บนโต๊ะไม้ โครงกระดูก และกระดานดำ สังเกตดี ๆ ใต้โต๊ะจะมีถังรองน้ำมันจากตัวอาจารย์ใหญ่ ซึ่งหลังจากที่นักเรียนแพทย์เรียนเสร็จ จะนำถังเหล่านี้ไปทิ้ง และทำความสะอาดต่อไป ซึ่งโต๊ะปฏิบัติการชุดนี้เคยรองรับอาจารย์ใหญ่มารุ่นแล้วรุ่นเล่า

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 12. ถัดเข้าไปจะเป็นการจำลองการสอนผ่าตัดในอดีต แน่นอนว่าคุณจะได้เห็นในส่วนของอุปกรณ์การผ่าตัดทั้งหลาย ทั้งมีด ใบมีด กรรไกร ที่คีบ เครื่องดึงถ่าง และผ้าก๊อซ เหมือนกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดเลยทีเดียว

           ● 13. ตรงบริเวณการจำลองสอนผ่าตัดนี้ เราจะเห็นรูปภาพที่นักศึกษาแพทย์ที่ชะเง้อคอยาว โดยมุ่งสายตามาที่เตียงผ่าตัดจำลอง ซึ่งนี่เป็นบรรยากาศการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการผ่าตัดมากนัก นักศึกษาแพทย์เหล่านี้จะต้องนั่งในห้องใหญ่แล้วดูการผ่าตัดที่อยู่ข้างล่างไปพร้อม ๆ กัน ผิดกับสมัยนี้ที่สามารถเข้าไปในห้องผ่าตัดได้อย่างใกล้ชิด

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน


           ● 14. บนชั้น 2 มีการจำลองห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์แบบต่าง ๆ ทั้งห้องผู้ป่วยนอก ห้องตรวจภายใน ซึ่งเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตลอดช่วงเวลาการมีอยู่ของโรงพยาบาลศิริราช

           ● 15. พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังพาเราเดินทางย้อนกลับไปรู้จักการแพทย์แผนไทย ปัจจุบัน โรงพยาบาลศิริราชมีสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่มุ่งรวบรวมความรู้ วิจัย ตรวจรักษาโรค ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ทั้งยังผลิตยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย

           ● 16. เดินเข้ามาไม่นานก็จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นไทย จะเห็นโถยาไทยชนิดต่าง ๆ ตั้งเรียงรายอยู่ในตู้กระจกใสอยู่เต็มไปหมด รวมถึงร้านขายยาโบราณ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือที่หลากหลาย

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 17. เดินต่อไปอีกหน่อย จะเจอเข้ากับห้องอยู่ไฟหลังคลอดลูก ซึ่งเป็นค่านิยมในอดีตสำหรับผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ๆ จนเมื่อไทยเริ่มรับแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามา มีส่วนทำให้ค่านิยมเรื่องการอยู่ไฟลดลง จะมีให้เห็นบ้างก็เพียงประปรายเท่านั้น

           ● 18. หมดจากอาคารนี้ ถัดไปเป็นส่วนของการชมโบราณวัตถุสำคัญ ณ ตึกนิวาสศิรินาเวศ ภายในบรรจุเรือไม้ลำใหญ่ ซึ่งขุดค้นพบบริเวณแถวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ บอกเลยว่าใหญ่มากจริง ๆ เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปบนหลังคา จะเห็นเป็นกระจกที่ทำหน้าที่สะท้อนให้เราเห็นท้องเรือขนาดใหญ่ลำนี้

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 19. ในอาคารเดียวกันนี้ ยังได้จำลองภาพความเป็นอยู่ของชุมชนบางกอกน้อยในอดีต มีโรงละครหุ่นเล็ก ตลาด รวมถึงสมเด็จโตแห่งวัดระฆัง อันเป็นศูนย์รวมจิตใจที่เคารพนับถือของคนในย่านชุมชนบางกอกน้อยแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

           ● 20. พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ หรือภายในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช

           ● 21. ใครที่ขับรถมา สามารถเข้ามาจอดรถได้ที่บริเวณด้านข้างของพิพิธภัณฑ์ หรือเข้าไปจอดใต้ตึกโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดี เดินทางมาด้วยเรือหรือรถสาธารณะอาจจะสะดวกกว่า

           ● 22. พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เปิดให้บริการวันจันทร์ และวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (หยุดวันอังคารและวันนักขัตฤกษ์) เฉพาะพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร หยุดวันอังคาร, วันเสาร์, วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์

           ● 23. ราคาบัตรค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ชาวต่างชาติ ราคา 200 บาท, ผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ราคา 80 บาท, เด็ก (อายุไม่เกิน 18 ปี) ราคา 25 บาท และเด็ก (สูงไม่เกิน 120 ซม.) เข้าชมฟรี

           ทั้งหมดนี้เป็นข้อน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เบื้องต้นของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน จริง ๆ แล้วหากใครได้ลองเข้าไปเที่ยวจริง ๆ จะรู้เลยว่าที่นี่เป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์ หากแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บและบันทึกลมหายใจของวงการแพทย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน นี่ต่างหากที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงอย่างยากที่จะหาได้จากที่ไหน อย่าลืมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ประวัติศาสตร์วงการแพทย์ของไทยที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานกันนะคะ ^ ^

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก Siriraj Museum – พิพิธภัณฑ์ศิริราช
, sirirajmuseum.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
23 ข้อน่ารู้พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ย้อนอดีตคลังความรู้การแพทย์ไทย อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2562 เวลา 14:11:32 8,843 อ่าน
TOP