x close

ตลาดโบราณ เพราะอดีตหอมหวน จึงชวนโหยหา

ตลาดโบราณ

 

ตลาดโบราณ นครเนื่องเขต-บ้านใหม่-คลองสวน-บางพลี เพราะอดีตหอมหวน จึงชวนโหยหา (อ.ส.ท.)

เรื่อง จริยา ชูช่วย
ภาพ นภดล กันบัว


             หนังสือเก่า เพลงเก่า รถเก่า บ้านเก่า เสื้อผ้าแนวย้อนยุค ภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน...หลงรักอะไรเก่า ๆ กับบ้างไหม

             เมื่อความเก่ากลายเป็นสิ่งที่คนยุคปัจจุบันอยากบริโภค วัฒนาธรรมโหยหาอดีต (Nostalgia) จึงเกิดขึ้น และเริ่มปรากฏชัดในบ้านเราช่วงหลังวักฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.๒๕๔๐ เมื่อคนเริ่มหมดความเชื่อมั่นกับกระแสหลักอันน่าเมื่อหน่ายของสังคม บวกกับความรู้สึก "ปัจจุบันนั้นขาด..." การถวิลหาอดีตที่แสนหวานจึงกลายเป็นทางออก เพื่อเรียกฟื้นคืนศรัทธาให้ตัวเอง

             เช่นเดียวกับกระแสการเกิดตลาดโบราณ ที่ความหอมหวนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการพลิกอดีตให้มีชีวิต หากแต่ยังเย้ายวนหมู่มวลหนุ่มสาวกลับคืนถิ่น เมื่อเสน่ห์ความเป็นปัจจุบันผสานกับความหอมหวนของอดีต ทำให้เกิดแรงดึงดูด ชวนให้นักท่องเที่ยวอย่างเราหลุดหลงเข้าสู่วงโคจรของตลาดโบราณอย่างเต็มใจ

ตลาดโบราณนครเนื่องเขตอดีตหมุนช้า นาฬิกาหมุนเร็ว

             สะพานไม้เรียงตัวตัดลำคลองเนื่องเขต เชื่อมชีวิตคนสี่ชุมชน (ชุมชนนครเนื่องเขต ชุมชนคลองขวางบน ชุมชนวนมะม่วง และชุมชนนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา) สองฝั่งคลองเข้าด้วยกัน แม่ค้าเริ่มนำสินค้าไม่จำกัดประเภทออกมาอวดโฉม บ้างมาในเรือแจว บ้างก็ยืดทำเลแสนสบายหน้าบ้าน ใครมีอะไรดีก็ขนออกมาวาง ขายได้หรือไม่ดูจะเป็นเรื่องรอง เมื่อเทียบราคากับบทสนทนาอันออกรสของคนคุ้นเคย

ตลาดสี่แยกท่าไข่



             ชาวบ้านแถบนี้เรียกตลาดโบราณนครเนื่องเขตว่า "ตลาดสี่แยกท่าไข่" ตามชื่อลำคลองเก่าที่ตัดผ่าน ที่นี่ถือได้ว่าเป็นตลาดโบราณน้องใหม่ แปลกดีนะ ชื่อตลาดโบราณ ทว่าเป็นน้องใหม่ เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ระยะเวลาเพียง ๑ ปี หากเป็นตลาดใหม่เพิ่งคลอดจริง ๆ ก็คงไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นมากนัก แต่ตลาดโบราณนครเนื่องเขตในความหมายของฉันหาใช่ตลาดคลอดใหม่ไม่ หากแต่เป็นตลาดรุ่นเก๋าที่เผลอหลับใหลและกำลังตื่นในเร็ววัน เสน่ห์ความเก่าแก่กว่า ๑๓๐ ปียังคงอบอวล และมากด้วยประวัติศาสตร์

             ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พระองค์โปรดให้ขุดคลองขึ้นในแปดริ้วหลายสาย เพื่อประโยชน์ด้านคมนาคมและการเกษตร และโปรดให้ขุด "คลองนครเนื่องเขต" ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ เพื่อย่นระยะการเดินทางจากฉะเชิงเทราไปกรุงเทพฯ ให้สั้นลง

             เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ พระองค์เสด็จไปทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออก โดยประทับรถไฟจากสถานีหัวลำโพงมาแปดริ้ว และเสด็จกลับพระนครด้วยเรือพระที่นั่งยอดไชยาผ่านประตูน้ำท่าไข่ เข้าคลองเนื่องเขต ก่อนเสร็จขึ้นเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ท่าน้ำวัดชนะสงสาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา

             ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จจากคลองแสนแสบผ่านคลองเนื่องเขตเข้าสู่คลองท่าไข่ไปขึ้นที่ร้านอาหารนายก๊วก ชาวตลาดเนื่องเขตจึงพร้อมใจกันให้วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์คูคลองแห่งชาติ"

             "เกือบล่มทั้งลำแล้วไหมละ มีหวังปลามันได้อิ่มทั้งคลองแน่" เสียงป้าหนา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณสูตรเด็ดตะโกนบอกเรือลำข้าง ๆ หลังรอดพ้นจากการพายเรือเลี้ยวลดหลบตอไม้ที่ผุดขึ้นให้เห็นพรึบพรับในช่วงฤดูน้ำน้อยเช่นนี้ เรือร้านทอดมัน ร้านขนมครกโบราณ ร้านข้าวโพดต้ม และอีกลหายลำ เริ่มมาจับจองพื้นที่ประจำแถบใต้สะพานกันตั้งแต่เช้าตรู่

             เสียดายก็แต่วันนี้ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสกาแฟโบราณตาตี๋ คุณตาอายุเกือบ ๘๐ ปีที่ยึดอาชีพนักชงมือฉมังมากว่า ๕๐ ปี ขายในเรือพาหนะคู่ใจอายุเกือบร้อยปี เมื่อก่อนตาตี๋จะพายขายไปตามลำคลองเรื่อยๆ เริ่มจากหน้าบ้านตัวเองไปทางประตูน้ำท่าไข่ สัปดาห์หนึ่งจะขายสี่วัน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ คนแถวนี้จะรู้ทันทีไม่ว่าจะกำลังทำภารกิจใด หากได้ยินเสียงแตรลมดังมาเมื่อไร นั่นแหละช่วงเวลาพักผ่อนกับกาแฟเย็น โอเลี้ยง ชาดำเย็น รสเข้มหวานมันมาถึงแล้ว

ตลาดสี่แยกท่าไข่



             เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ร้านรวงทั้งสองฝั่งดูคึกคักไม่แพ้ในเรือสภากาแฟร้านผู้ใหญ่แกะเริ่มคับคั่งด้วยผู้คนอายุรุ่นๆ คุณลุง คุณตา ที่กำลังเสวนากันอย่างออกรส ชาวบ้านบอกว่าถ้าเป็นสมัยก่อนสภากาแฟจะครึกครื้นกว่านี้มาก พอคนเก่า ๆ เริ่มตายไป มันก็เลยดูเงียบ ๆ ลงไปบ้าง แต่ในความรู้สึกของผู้มาเยือน บรรยากาศห้องแถวไม้ประตูบานเฟี้ยมเรียงขนานกับลำคลอง เพดานทางเดินประดับริ้วธงหลากสีเป็นแนวยาว ได้นั่งจิบกาแฟ ซดน้ำชา มองดูความเคลื่อนไหวของชีวิตในคลองเนื่องเขต เคล้ากับบทสนทนาเรื่องการบ้านการเมืองของผู้เฒ่าผู้แก่ ก็เพียงพอที่จะทำให้เช้านี้ "อิ่ม" ได้แล้ว

             ฉันเดินไปตามทางเดินเลียบริมคลองยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร มนต์ขลังความเก่าของที่นี่ยังมีให้พบเห็นได้ตลอดทาง ในอดีตริมคลองแถบนี้เคยมีปั๊มน้ำมันถึง ๓ ปั๊ม ปัจจุบันเหลือให้เห็นเฉพาะเสาเหล็กของป้ายปั๊มเซลล์เพียงจุดเดียวเท่านั้น ส่วนปั๊มคาลเท็กซ์และปั๊มตราม้าบินไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็น เช่นเดียวกับโรงสีข้าวที่ในอดีตมีมากถึง ๕ โรง เพราะแถบนี้เป็นชุมทางการค้าขายข้าวที่คึกคัก แต่ปัจจุบันมีเหลือเพียงโรงสีรุ่งเรืองอรัญญะกิจเพียงแห่งเดียวที่ยังดำเนินกิจการอยู่

             เดินไปจนสุดตลาด ตรงบริเวณสี่แยกท่าไข่ เป็นที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์ชุมชนเดิม สภาพทรุดโทรมแต่ยังเหลือโครงสร้างให้พอนึกเชื่อโยงถึงความรุ่งเรืองในอดีตได้

ตลาดสี่แยกท่าไข่



             ตรงสี่แยกท่าไข่นี้ถือเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญเชื่อมต่อกับเมืองต่างๆ หากเลี้ยวซ้ายสามารถเดินทางไปตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปี และตำบลคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เลี้ยวขวาออกอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก หากล่องตรงไปเรื่อยๆ จะไปออกที่คลองแสนแสบ กรุงเทพฯ

             สถานที่สำคัญอื่น ๆ ยังมีร้านทอง ปั๊มน้ำมันหลอด ร้านขายยา โรงฝิ่นเดิม ที่ไม่เหลือร่องรอยเดิมให้เห็น ต้องอาศัยคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บวกกับโครงสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่ แล้วเติมจินตนาการเอาเอง

             เดินเรื่อยมาหยุดที่พิพิธภัณฑ์บ้านเลขที่ ๕ เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นที่ตั้งของ "การไฟฟ้าเนื่องเขต" ห้องแถวไม้สองชั้นหนึ่งห้อง จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ มีนิทรรศการและภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตลาด ทำให้เราได้ถือโอกาสเปรียบเทียบระหว่างภาพในจินตนาการจากคำบอกเล่าเมื่อครู่ กับความจริงที่เห็นจากภาพถ่ายว่าพอจะมีส่วนคล้ายคลึงกันบ้างหรือไม่ ชาวบ้านยังฝากบอกว่าหากผู้ใด มีภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวเมื่อครั้งอดีตของตลาด รบกวนส่งให้ทางพิพิธภัณฑ์ใหม่แห่งนี้บ้าง จักขอบพระคุณยิ่ง

ตลาดสี่แยกท่าไข่



             จุดเด่นอีกอย่างของตลาด คืออากาศปลอดโปร่ง ทำให้สามารถเดินได้เรื่อย ๆ ไม่ร้อนอบอ้าว อยากแวะนั่งตรงไหน หน้าบ้านใคร เจ้าบ้านก็เห็นจะต้อนรับเชื้อเชิญให้นั่งโดยไม่หวง หิวเมื่อไหร่ก็มีอาหารอร่อยให้แวะชิมตลอดทาง ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ดแป๊ะซัว ขนมกุยช่ายเจ้กรุง ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อบ้านเลขที่ ๑ เย็นตาโฟป้ากี ฯลฯ

             อิ่มท้องแล้วยังมีร้านน่ารัก ๆ ให้เลือกช็อป ทั้งร้านเศรษฐ์เงิน ขายสินค้ายอดนิยม โปสการ์ด เสื้อยืด และแม็กเน็ต ร้านบ้านทนายขายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายแนววินเทจ ถามไถ่ทราบว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านคุณตาของคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก อดีตนางงามจักรวาล

             ขาดเสียไม่ได้หากมาเยือนตลาดโบราณนครเนื่องเขตแล้ว ต้องไปสักการะศาลเจ้าปุนเถ้ากง ตั้งอยู่หลังโรงงิ้วของชุมชนสวนมะม่วง และศาลเจ้าไท่จือเอี๊ย ตั้งอยู่ในชุมชนโรงหมู บริเวณใกล้ ๆ มีต้นไกรใหญ่อายุราว ๒๐๐ ปีที่แผ่กิ่งใบปกคลุมให้พื้นที่ส่วนล่างเป็นลานสันทนาการของคนหลายวัย

             ฉันว่าอดีตเดินช้าและน่าจดจำเสมอ...เช่นตลาดแห่งนี้...

ตลาดบ้านใหม่ บ้านหลังใหญ่ของใครหลายคน

             "แห้ว กระจับ เชิญด้านนี้เลยจ้า อร้อย อร่อย ไม่เหมือนใคร เชิญด้านนี้เลยจ้า" กิ่งร้องส่ง

             "ขนมถ้วย ขนมเหนียว ขนมต้ม สด ๆ ใหม่ ๆ อร้อยอร่อย ไม่เหมือนใคร เชิญด้านนี้เลยจ้า" แก้มร้องรับ

             คงไม่ใช่เรื่องแปลกตามวิสัยของพ่อค้าแม่ขายที่จะใช้เสียงเชื้อเชิญลูกค้าให้ซื้อของ แต่ถ้าใครลองได้สัมผัสกับเส้นเสียงและความน่ารักของ "น้องกิ่งและน้องแก้ม" แม่ค้าสองพี่น้องอายุไม่เกินหลักหน่วย เจ้าของเสียงเจื้อยแจ้วที่ผลัดกันรับส่งตะโกนเรียกแขก ไม่มีผิดคิว ช่างน่าเอ็นดู และน่าทึ่งเลยละ ที่สำคัญยังแอบสงสัยว่าเด็กชั้นอนุบาล ๒ คิดเงินได้แล้วหรือนี่ เพราะจำได้ว่าสมัยตัวเองอายุเท่านี้ อย่าว่าแต่คิดเงินเลย แค่เจอคนแปลกหน้าเดินเข้าทักก็วิ่งแล้ว

ตลาดบ้านใหม่



             บ้านหลังเดิมของร้านค้าเจ้าเก่ายังคงอยู่ของมันเช่นนั้น ทั้งกุยช่ายร้านลุงแดง ข้าวห่อใบบัวครูลิน ข้าวหลามแม่พิสมัย ปลาร้าแม่ประทุม ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อร้านจุกดี กาแฟเฮียคุณ ไอติมไข่กี้ ร้านบ้านป้าหนู ร้านสามแม่ครัว (เตาฟีน) ร้านตำเคียงน้ำ ร้านกาแฟแป๊ะเอ๊ย ร้านก๋วยเตี๋ยว เรือต่อชาม ฯลฯ

             เห็นจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง คือหลายร้านกำลังปรับปรุงพื้นที่หน้าร้านให้แข็งแรง โอโถง และปรับเปลี่ยนพื้นที่หลังร้านเป็นที่นั่งรับลมริมแม่น้ำบางปะกง นั่งชมรถไฟแล่นเพลิน ๆ และที่ดูจะผิดหูผิดตาจากปีแรกๆ แต่ไม่แปลกจากความคาดหมายคือจำนวนลูกค้าที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

             ส่วนเรื่องความอร่อยคงต้องชวนให้ไปชิมกันเอาเอง เพราะถ้าจะให้สาธยายเห็นทีต้องขอเพิ่มฉบับพิเศษอีกสักหนึ่งเล่ม มีคนเคยบอกว่าของอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ "ลิ้นคนชิมกับใจคนทำ" สงสัยคนที่นี่คงใส่ใจไปเต็มร้อย ลิ้นของพวกเราเลยต้องรับศึกหนักเป็นพิเศษ

             ตลาดบ้านใหม่อยู่คู่ชาวแปดริ้วมากว่า ๑๕๐ ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ตลาดแบ่งเป็น ๒ ชุมชน คือ ชุมชนตลาดบน และชุมชนตลาดบ้านใหม่ (ตลาดกลางและตลาดล่าง) ชุมชนตลาดบนมีขุนอินทรนรกิจเป็นผู้ก่อตั้ง ตั้งอยู่ด้านเหนือของคลองบ้านใหม่ข้างวัดเทพนิมิตร ต่อเนื่องไปจนถึงวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ส่วนชุมชนตลาดบ้านใหม่อยู่บริเวณริมน้ำด้านหน้าวัดอุภัยภาติการาม มีขุนอัษฏาริวานวัตร (จีนฮี้) กับขุนพิพิธพาณิชย์กรรม (จีนแดง) คหบดีชาวจีนเป็นผู้ก่อตั้ง ภายหลังมีสะพานเชื่อมสองชุมชนเข้าด้วยกัน ทำให้ไปมาหาสู่ได้สะดวกขึ้น

             "ไม่ควรส่งเสียงดัง เพราะกุ้งแม่น้ำและปลาซ่อนเมืองแปดริ้วไม่ชอบเสียงดัง..."

             กฎหนึ่งในเก้าข้อของบริการล่องเรือชมคลองบ้านใหม่ ที่ทำให้อมยิ้มและสงสัยว่าตัวเองกำลังจะกลายพันธุ์เป็นสัตว์น้ำเมืองแปดริ้วเข้าทุกที ต้องขอปลีกตัวชวนพรรคพวกเปลี่ยนบรรยากาศจากความครึกครื้นในตลาดเป็นรื่นรมย์ในคลองกันดีกว่า ปล่อยทิ้งช่างภาพวัยดึกของเราเดินเก็บภาพในตลาดอยู่คนเดียว

             เรือมาดอายุ ๘๐ ปีค่อยๆ ถอยออกจากท่าเรือต้นลำพูด้วยฝีพายของลุงจ๊อด นายท้ายที่ชีวิตผูกพันกับลำน้ำแต่กำเนิด และเลือกเดินในอาชีพที่ได้อยู่ในอ้อมกอดของแม่ (น้ำ)

ตลาดบ้านใหม่



             สองฝั่งคลองแน่นทึบด้วยป่าจาก แต่ลุงจ๊อดบอกว่าที่เราเห็นถือว่ายังน้อยนักถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ที่ต้นจากสองฝั่งคลองจะโน้มเข้าหากัน เหลือเพียงช่องเล็ก ๆ ให้แสงจันทร์ลอดผ่าน เป็นไฟนำทางให้คนเรือยามค่ำคืน

             กิจกรรมล่องเรือไหว้พระนอนกระจกเป็นกิจกรรมล่าสุดของตลาดบ้านใหม่ เพื่อต้องการอนุรักษ์รูปแบบการสัญจรในอดีต ขยายพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นรอบ ๆ ชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เปิดให้บริการวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ปกติจะใช้เวลาล่องประมาณ ๒๐ นาที ราคาคนละ ๒๐ บาท 

             เรือจะจอดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบสักการะพระนอนกระจกและหลวงพ่อโตที่วัดเทพนิมิตร แล้วกลับมาที่ท่าต้นลำพู ตลาดบ้านใหม่เหมือนเดิม ฝั่งตรงข้ามเยื้อง ๆ กับวัดเทพนิมิตเป็นวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ในอนาคตมีแผนจะสร้างสะพานข้ามฝั่งถึงกัน

             วันนี้นายท้ายอาสาพาเราล่องลึกเข้าไปในลำคลอง ถือเป็นทริปสำรวจ เผื่อจะขยายเส้นทางล่องเรือให้ไกลมากขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงกลางวันแสก ๆ แต่บรรยากาศเงียบสงัดมากๆ มีเรือสวนมาเพียงลำเดียว ยิ่งพอลุงจ๊อดบอกว่าจุดหมายปลายทางของเรา คือบ้านนางนาก สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนางนาก (เวอร์ชันทราย เจริญปุระ) ก็ยิ่งชวนให้อินกับบรรยากาศมากขึ้น น่าเสียดายที่วันนี้บ้านนางนากถูกไฟไหม้ไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงท่าน้ำที่แม่นากใช้รอพี่มากจ๋าให้ดูต่างหน้าอย่างเหว่ว้าและวังเวง

ตลาดบ้านใหม่



             พวกเรากลับขึ้นฝั่งด้วยอาการเพลียแดดเล็กน้อย ได้ที่พักริมแม่น้ำเย็น ๆ บ้านป้าเง็ก อดีตประธานชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่ ที่เปิดใหม่ทุกคนนั่งนอนได้ตามอัธยาศัย ทำให้ค่อยมีแรงเดินต่อ

             "ตลาดบ้านใหม่มาไกลในเรื่องพัฒนา แต่จะอยู่ต่อไปได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับใจของคนในพื้นที่เอง การยิ้มแย้มแจ่มใส และความซื่อสัตย์ของพ่อค้าแม่ขายเป็นสิ่งสำคัญ ต่อให้คนอื่นเขาจะช่วยโปรโมตขนาดไหน แต่ถ้านักท่องเที่ยวมาแล้วไม่ประทับใจมันก็จบ" ป้าเง็กพูดกับเราด้วยแววตาของนักบุกเบิกตลาดบ้านใหม่ และน้ำเสียงที่ยืนยันว่าตลาดบ้านใหม่ ยังเป็นบ้านที่อบอุ่นของใครหลายคนเสมอ

อดีตตลาดคลองสวนล้วนยังจริง

             "อยู่สมุทรปราการดื่มกาแฟร้านแป๊ะเก๊า ข้ามสะพานมาฉะเชิงเทราดื่มกาแฟแป๊ะหลี"

             สองร้านกาแฟในตำนานของตลาดคลองสวน ที่รุ่มรวยทั้งเสียงหัวเราะและกลิ่นอายความโบราณ สภาพของโต๊ะเช็กโกสามสี่ชุด ถ้วยน้ำชาเชรามิกแตกลายงา พอจะบ่งบอกอายุของร้านและอายุการทำงานของคนขายได้บ้าง

             ฉันมาตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปีเป็นครั้งที่สาม ดูจะคุ้นเคยกับบางร้านและบางคนบ้างแล้ว แต่แปลก ทุกครั้งที่ถามไถ่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แม้มันจะเป็นคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำกับเมื่อครั้งก่อนโน้น และอาจจะซ้ำกับใครอีกหลายร้อยคน แต่ชาวตลาดคลองสวนดูจะยินดีเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตด้วยความตื่นเต้นราวกับเพิ่งโดนยิงคำถามนี้เป็นครั้งแรก

             ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ตลาดคลองสวนเข้าไปอยู่ในใจใครหลายคน สังเกตจากรูปข้างฝาที่มีคนดังทั้งระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ผลัดเปลี่ยนกันโชว์อยู่ในกรอบ บ้างวางบนหิ้ง บ้างแขวนข้างฝา หรือโชว์หราที่ป้ายหน้าร้านก็มี

ตลาดคลองสวน



             ถ้าจะให้ชัดลองแวะไปดูที่ร้านกาแฟแป๊ะหลี ที่ดูคล้ายแกลเลอรีแสดงภาพถ่ายส่วนตัวเก๋ไก๋ไม่เบา มีช่างภาพทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นมาจับภาพให้ไม่ขาดสาย แป๊ะหลี แช่แต้ อายุ ๘๗ ปีแล้ว แต่ก็ยังดูแข็งแรงในชุดเครื่องแบบชินตา คือ เสื้อกล้ามสีขาว กางเกงขาสั้น คาดเข็มขัด รองเท้าแตะสีดำ นอกจากจะจนจัดเรื่องชงกาแฟแล้ว ดูเหมือนว่าวันนี้แป๊ะหลีจะเชี่ยวชาญเรื่องมุมกล้องเป็นพิเศษ

             ตลาดคลองสวนตั้งอยู่คาบเกี่ยวระหว่างตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ กับตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดริมคลองประเวศบุรีรมย์ เชื่อมสองจังหวัดด้วยสะพานไม้เต็งสูงชันเพื่อให้เรือลอดได้ มีหลังคากันแดด

             การสัญจรในอดีตมีเพียงเรือเมล์ขาวของนายเลิศเพียงลำเดียวที่แล่นจากประตูน้ำท่าถั่ว (ฉะเชิงเทรา) ผ่านตลาดคลองสวน เพื่อเข้าสู่ประตูน้ำวังสระปทุม (กรุงเทพฯ) ใครในละแวกนี้จะไปกรุงเทพฯ ก็ต้องมาใช้บริการท่าเรือที่ตลาดแห่งนี้ หรือไม่ก็ต้องนั่งเรือไปต่อรถไฟที่สถานีรถไฟคลองบางพระ

             คุณวิรัช พรทวีสุข รองนายเทศมนตรีตำบลเทพราช เล่าให้ฟังว่า "เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ การค้าขายยังจำกัดเฉพาะอยู่ในเรือ ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้า ใครมีหมูเอามาแลกปลา มีผักมาแลกไข่ ต่อมาเริ่มมีการใช้เงินห้าสตางค์ สิบสตางค์ สตางค์รู บ้านสมัยนี้สร้างจากไม้ตาลที่เรียกว่าหลาวไม้ชะโอน มุงหลังคาจาก มีแคร่นอนวางบนพื้นดิน ทางเดินเป็นดิน จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๗๗ เริ่มมีการค้าขายบนบก ช่วง พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมาการค้าขายก็เจริญมาโดยตลอด แม้จะมีการตัดถนนที่ส่งผลให้การค้าขายทางเรือซบเซาลง แต่การค้าขายบนฝั่งก็ยังถือว่าดำเนินไปได้"

             จนกระทั่งเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.๒๕๔๐ คนหนุ่มสาวเริ่มทิ้งถิ่นฐานออกไปทำมาหากินที่อื่น ทิ้งร้างบ้านเก่ากับคนแก่ไว้ที่เดิม กระทั่ง ปี พ.ศ.๒๕๔๓ คนในชุมชนรวมตัวกันฟื้นฟูตลาด เริ่มจากช่วยกันค้าหาจุดเด่นของตัวเอง "เรือนไม้ใกล้กรุง บ้านงาม สามวัฒนธรรม เลียบคลองอาหารอร่อย และไมตรี" คือข้อดีที่พวกเขาค้นพบ

ตลาดคลองสวน



             ร้านอาหารอร่อยที่นี่เห็นจะมีอยู่มาก สังเกตเห็นนักท่องเที่ยวบางคนเดินถือรายชื่อร้านค้ายาวเหยียด คงกะลองชิมให้หมดตามรายชื่อที่หาข้อมูลมากระมัง ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้เจ็ง ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้ดำ ร้านแป๊ะงื้น-ยายพร ขายกุนเชียงสูตรดั้งเดิม วันนี้มีเอ็นหมูลวกกับน้ำจิ้มรสเด็ดให้ชิม เด็ดไม่เด็ด เอ็นถาดโตขายเกลี้ยงในพริบตาเดียว

             ชุมชนรอบ ๆ ตลาดคลองสวนเป็นชุมชนผสมผสานระหว่างชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน และชาวไทยมุสลิม ฝั่งตรงข้ามกับตลาดมีศานสถานทั้งวัดคลองสวน ที่มีบรรยากาศร่มรื่น มีคนไปนมัสการหลวงพ่อปานไม่ขาดสาย ถัดมาเพียงคลองกั้นเป็นมัสยิดอัลวะต้อนียะห์ (สุเหร่าขาว) และมัสยิดดารุ้ลอาบิดิน (สุเหร่าแดง) ช่วงเวลาละหมาดจะมีเสียงอาซานลอยตามลมให้ฟังจับหู ฝั่งตลาดเองมีศาลเจ้าพ่อคลองสวน อายุกว่า ๑๐๐ ปี ชาวบ้านแถบนี้ศรัทธามาก โดยเฉพาะการสักการะให้ค้าขายรุ่งเรืองทุกเดือนมีนาคมจะมีงานประจำปีศาลเจ้าพ่อคลองสวน มีการแสดงงิ้วให้ชม

ตลาดคลองสวน



             สามวัฒนธรรมที่ดูจะแตกต่างทั้งในเรื่องพิธีกรรมและวิถีปฏิบัติกลับผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว "เวลามีการใช้เครื่องขยายเสียงจะได้ยินกันทั่ว เราจะสลับกันใช้เสียงโดยให้ทำพิธีกรรมทางศาสนาเรียบร้อย ไม่ให้รบกวนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เรื่องศาสนาจะไม่ก้าวก่ายกัน อยู่กันแบบพี่น้อง เวลามีงานไม่ต้องบอกก็ไปเยี่ยมเยือนกัน สิ่งไหนที่ขัดกับศาสนาจะไม่ทำ" คุณวิรัชเล่าทิ้งท้าย

             วันนี้ลูกหลานที่เคยร้างถิ่นไปเป็นมนุษย์เงินเดือนหวนคืนถิ่นเก่าสืบทอดสูตรดังสูตรเด็ดของบรรพบุรุษ ปักหลักค้าขายกันที่นี่ บางคนยังทำงานในต่างจังหวัด แต่ก็กลับมาช่วยครอบครัวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

             อดีตที่น่ารื่นรมย์ของที่นี่ยังมีอยู่จริง...

ในบางพลี มีบางอย่าง

             "ตลาดบางพลี" มีหลายอย่างที่สามตลาดข้างต้นมี บ้านไม้ริมคลองวัด มัสยิด ร้านอาหารอร่อย แต่ฉันสังเกตเห็นบางอย่างที่ตลาดบางพลีมี แต่ตลาดอื่นไม่มี ตลาดบางพลีเต็มไปด้วย “หอม” ทว่าเป็นหมอดูและหมอนวดแผนโบราณ

             เพราะเราไม่รู้จักอนาคต จึงไปหาหมอดู และเพราะเราผ่านอดีตอันแสนเหน็ดเหนื่อย จึงไปหาหมอนวด

             เช้าวันธรรมดาเช่นนี้ ตลาดบางพลีดูจะดำเนินไปอย่างเนิบช้า ไม่ต้องรบร้อน มีเวลามองตาแล้วพูดคุยกัน เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มาทางถนนเทพารักษ์ ตัดสินใจจอดรถที่ห้างปิ๊กซีสาขาบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจะได้สัมผัสกับสะพานเรือ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำเรือมาผูกติดกัน ๒ ลำขวางลำคลองเป็นสะพานให้คนเดินข้ามระหว่างตลาดบางพลีกับห้างบิ๊กซี คิดค่าบริการคนละ ๑ บาทต่อรอบ

ตลาดบางพลี



             อากาศยามเช้าสดชื่น ยิ่งได้ลงเรือล่องไปในคลองสำโรง ชมวิถีชีวิตสองฝั่งคลอง เปิดปอด เปิดสมองให้เช้าวันใหม่ได้ดีทีเดียว

             ลุงแก่ ๆ ว่ายน้ำลอยตัวพร้อมกะละมังใบโตกำลังเก็บผักบุ้งและผักกระเฉด รอไปขายที่ตลาดอีกสักครู่

             ป้าใบหน้ายิ้มแย้มใต้ฮิญาบผืนงาม ยกยอโชว์ให้เราดูเมื่อครั้งหันมาสบตากับเลนส์ตัวยาวของช่างภาพ

             ยายพายเรือสาละวนอยู่หน้าบ้าน ยิ้มโชว์เหงือกงาม ก่อนยื่นมะม่วงอกร่องให้ช่างภาพ

             ปลาสวายที่ท่าน้ำวัดบางโฉลงนอกผุดเป็นน้ำพุดนตรีทันทีที่ได้ยินเสียงเรือผู้มาเยือน

             คุณอาลอยเรือนิ่ง ๆ สาวตาข่ายให้เราช่วยลุ้นว่าจะได้ปลาอะไรติดขึ้นมาบ้าง

             ระหว่างทางล่องเรือเต็มไปด้วยภาพชีวิต เรือล่องเรื่อยไปตามคลองสำโรงผ่านตำบลบางพลี เข้าสู่ตำบลบางปลา แล้วมาหยุดที่ท่าน้ำวัดบางโฉลงนอก จอดให้ชมปลาสวายดำผุดดำว่าย ก่อนวกกลับไปทางเดิม แล้วมาแวะจอดที่วัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งแต่เดิมชื่อวัดพลับพลาไชยชนะสงคราม แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า "วัดใหญ่" หรือ "วัดหลวงพ่อโต"

ตลาดบางพลี



             หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองงสัมฤทธิ์ทั้งองค์ศิลปะสมัยสุโขทัย ตามตำนานเล่ากันว่าหลวงพ่อโตลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อครั้งไทยทำสงครามกับพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้าน อาราธนาท่านลงแม่น้ำเพื่อหลบหนีข้าศึก ลอยเรื่อยมาจนถึงคลองสำโรงประชาชนจำนวนมากได้อาราธนา ท่านขึ้นที่ปากคลองแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงอาราธนาท่านผูกแพลอยไปตามลำคลอง แล้วอธิษฐานว่าถ้าท่านปรารถนาจะขึ้นที่ใด ขอให้แสดงอภินิหารให้แพหยุด ครั้นเมื่อถึงหน้าวัดพลับพลาไชยชนะสงคราม แพเกิดหยุดนิ่ง ชาวบางพลีจึงอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำและประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถจนทุกวันนี้

             แม้จะเป็นวันธรรมดา แต่ภายในวัดก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คน บ้างมากราบไหว้ขอพร บ้างถือไข่หวานไข่ต้มถาดใหญ่มาแก้บน และมีหลายคนที่ถือโอกาสมาใช้บริการส้วมวัดที่เขาว่ากันว่าสบายที่สุดในประเทศติดแอร์เย็นฉ่ำ มีประตูอัตโนมัติเปิดปิด เดินเข้าไปเป็นห้องโถงมีพื้นที่พักผ่อนประดับสวนสวย มีน้ำตกจำลองไหลเอื่อย ส้วมใช้ระบบสัมผัสเพียงเอามือแตะเซ็นเซอร์ ระบบทำความสะอาดก็ทำงานเองอัตโนมัติไม่ต้องกดให้เมื่อมือ จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนจำนวนมากมานั่งพักผ่อนและยิ้มแฉ่งหามุมถ่ายรูปกันในที่ปลดทุกข์แห่งนี้

ตลาดบางพลี



             พวกเราเดินเลาริมทางเดินหน้าวัด ข้ามสะพานไม้ยกพื้น มาที่ทางเข้าตลาดบางพลี แต่เดิมตลาดแห่งนี้ชื่อ "ตลาดศิริโสภณ" เป็นตลาดเก่าอายุ ๑๕๐ กว่าปีที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ อาคารเป็นเรือนไม้สองชั้นหลายคูหา หลังคาทรงปั้นหยา พื้นตลาดเป็นไม้ สามารถเดินติดต่อกันได้เป็นทางยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร มีร้านค้าทั้งเก่าใหม่ตลอดเส้นทาง

             ฉันเดินข้ามสะพานมาหยุดตรงร้านตังเส็ง ร้านขายของมีคมทุกชนิดเฮียหนูเจ้าของร้านชี้ให้ฉันเงยดูบนหลังคาทางเดิน เห็นถังน้ำสีแดงแขวนเป็นระยะ ๆ เดินเข้าไปใกล้ถึงรู้ว่าเป็นถัง (น้ำ) ดับเพลิงโบราณ เฮียเล่าว่าด้วยบ้านเรือนเป็นอาคารไม้ จึงเสี่ยงต่อการถูกไฟไหม้ วิธีป้องกันและการเฝ้าระวังเช่นนี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีของชาวบ้านในสมัยก่อน

             เหลือบไปเห็นสินค้าในร้านเฮียหนู ของมีคมหน้าตาแปลก ๆ แขวนเรียงเป็นตับ มีด พร้า ขวาน เคียว เลื่อย ค้อน เฮียหนูเล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อนของมีคมเปรียบเหมือนปัจจัยที่ ๕ ใช้ทั้งทำมาหากินและเป็นอาวุธปัจจุบันมีแหล่งทำของพวกนี้เหลืออยู่ไม่มาก สินค้าส่วนใหญ่จะรับมาจากบ้านร่องฟอง จังหวัดแพร่ และบ้านอรัญญิก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของมีคมที่เห็นทำจากวัสดุ ๓ ชนิด คือ เหล็กกล้า ใบเลื่อย และแหนบรถยนต์

ตลาดบางพลี



             ส่วนที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของบางพลีเองมีอยู่ ๒ ชนิด คือ เคียวบางพลีที่ชาวนาบอกว่าโค้งดี งอได้สัดส่วน จับถนัดมือกว่าเคียวทั่วไป และพร้า หวดหน้าปลาหลด ยาวประมาณ ๑ เมตร เอาไว้ไล่ฟันหญ้าในบ่อปลาสลิดได้จากระยะไกล

             ร้านอื่น ๆ เช่น ร้านทอง ร้านขายของทำบุญ ร้านขายยา ร้านตัดผ้า ร้านขายอุปกรณ์ช่าง ยังมีให้เห็นตลอดทางเดิน เดินเรื่อยจนมาหยุดแวะดูแม่ค้าหน้าแฉล้มร้านบุญศรีขนมชั้น ที่กำลังทำกันแบบสด ๆ สีสันสดใสของขนมชั้นกับกลิ่นหอมอ่อน ๆ บวกกับใบหน้ารับแขกของแม่ค้าชวนให้น่าชมและน่าชิมเสียยิ่งกระไร

             ร้านก๋วยเตี๋ยวหมู (ไม่มีชื่อ) แต่รสชาติขึ้นชื่อเลยละ คุณแนนมัคคุเทศก์สาวท้องถิ่น บอกว่าวันนี้โชคดีที่เรามากันเร็ว จึงมีโอกาสได้ลิ้มรสก๋วยเตี๋ยวชามโต ที่ขายสืบทอดมากว่า ๕๐ ปี เส้นนุ่ม น้ำซุปหวาน เครื่องเต็มสูตร ลึกไปตามทางเดินยังมีร้านขายอาหารให้เลือกซื้อตลอดทาง หอยทอดขนมครกสูตรโบราณป้าแต๋ว กะละแมข้าวเม็ด แม่แฉล้ม ตี๋น้อยขนมถ้วยขนมกล้วยโบราณ ฯลฯ

ตลาดบางพลี



             ร้านหมอนวดแผนโบราณสองสามร้านก็อยู่ถัดไปไม่ไกล นอกจากนวดตัว นวดเท้าแล้ว ยังมีบริการ "ถอน" ด้วยนะ ทว่าเป็นบริการถอนหงอก ราคาชั่วโมงละ ๑๐๐ บาท กะว่าจะส่งหนึ่งในพรรคพวกไปลองก็เกรงว่าจะไม่มีผมพอให้ถอนครบหนึ่งชั่วโมง

             เดินมาจนสุดตลาด นั่งเรือมุ่งหน้าต่อไปยังวัดบางพลีใหญ่กลางเดิมชื่อวัดน้อยปทุมคงคา ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อวัดบางพลีใหญ่กลางในปัจจุบัน แต่ชาวบ้านแถบนี้ มักเรียกวัดนี้ว่าวัดกลาง

             จุดเด่นของที่นี่คือมีพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยาว ๒๖ วา ๙ ศอก ๙ นิ้ว (๕๓ เมตร) ลักษณะภายในองค์พระแบ่งได้ถึง ๔ ชั้น สามารถเดินเข้าไปชมได้ ชั้นล่างมีห้องปฏิบัติกรรมฐาน ๒๘ ห้อง ชั้นสองและสามแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ นรก สวรรค์ พระโพธิสัตว์ และรูปเกจิอาจารย์ทั่วประเทศ ชั้นบนสุดบรรจุหัวใจ ปอด ตับ และไส้ของพระนอน สีทองอร่าม เชื่อกันว่าใครที่ได้มาปิดทองหัวใจพระนอนจะเป็นสิริมงคลกับชีวิต

             ฉันว่า ฉันพบบางอย่างที่มากกว่าตลาดในบางพลีแล้วละ...


             ใครบอกว่าอดีตผ่านแล้วผ่านเลย สุดสัปดาห์นี้ลองหาเวลาไปสูดความหอมของอดีตที่ตลาดโบราณใกล้กรุงทั้งสี่แห่ง แล้วจะพบว่า แม้อดีตจะหมุนไปอย่างช้า ๆ ทว่าบางอย่างล้วนยังจริง

ขอขอบคุณ

             การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร
             คุณประพันธ์ กิตินิรัดร์กูล รองนายกเทศมนตรีตำบลนครเนื่องเขต
             คุณวิรัช พรทวีสุข รองนายกเทศมนตรีตำบลเทพราช
             ดร.พัฒนพงศ์ จงภักดี นายกเทศมนตรีตำบลบางพลี
             คุณก้อย มักคุเทศก์สาวสวยประจำเทศบาลตำบลบางพลี
             คุณขวัญกมล ฉายแสง ที่ปรึกษาชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่
             ป้าเง็ก อดีตประธานชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่
             คุณเนื้อทิพย์ นรวรา ประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
             และทุกคนที่มีส่วนช่วยให้สารคดีสำเร็จ

คู่มือนักเดินทาง

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

             เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา
             สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลตำบลนครเนื่องเขต โทรศัพท์ ๐ ๓๘๘๑ ๔๔๔๔

       การเดินทาง

       รถยนต์
             จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมีนบุรี-สุวินทวงศ์-ฉะเชิงเทรา เลยเขตสุวินทวงศ์แล้วให้สังเกตด้านซ้ายมือ จะมีป้ายบอกอยู่ริมทางเป็นระยะ

       รถโดยสารประจำทาง
             ใช้บริการรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา (สายมีนบุรี) มีรถวิ่ง ๒ เส้นทาง รถประจำทางหมายเลข ๙๐๗ จะผ่านถนนลาดพร้าว-บางกะปิ-มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา และรถประจำทางหมายเลข ๕๔ จะผ่านถนนพหลโยธิน-ถนนรามอินทรา-มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ลงรถหน้าตลาดเดินเข้าไปประมาณ ๘๐๐ เมตร

ตลาดบ้านใหม่

             เปิดทุกเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๘.๐๐-๐๘.๐๐ นาฬิกา
             สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ข้อมูลตลาดบ้านใหม่ โทรศัพท์ ๐ ๓๘๘๑ ๖๔๔๔

       การเดินทาง

       รถยนต์
             จากกรุงเทพฯ ไปได้ ๓ เส้นทาง

             ๑.ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (กรุงเทพฯ-มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา) ระยะทางรวม ๓๕ กิโลเมตร
             ๒.ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๔ (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยว ซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๔ (บางปะกงฉะเชิงเทรา) ระยะทาง ๙๐ กิโลเมตร
             ๓.ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓ ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง จากนั้นช้างหลวงหมายเลข ๓๑๔ ระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร

       รถไฟ
             มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปฉะเชิงเทราทุกวัน วันละ ๙ ขบวน เที่ยวแรกเวลา ๐๕.๕๕ นาฬิกา เที่ยวสุดท้ายเวลา ๑๘.๒๕ นาฬิกา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๑๖๙๐ เว็บไซต์ http://www.railway.co.th/

    รถโดยสารประจำทาง
             ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต ๒) ทุก ๔๐ นาที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ ต่อ ๓๑๑, ๔๔๒
             ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ทุก ๓๐ นาที สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทรศัพท์ ๐ ๒๓๙๑ ๒๕๐๔

             นักท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนบรรยากาศไปตลาดบ้านใหม่ทางเรือได้ โดยใช้บริการเรือท่องเที่ยวที่หน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร วันจันทร์-ศุกร์ มี ๒ รอบ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา และ ๑๔.๐๐ นาฬิกา วันเสาร์-อาทิตย์ เรือออกทุก ๑ ชั่วโมง เวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ นาฬิกา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๓๘๕๑ ๔๓๓๓

ตลาดคลองสวน

             เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา จะคึกคักช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
             สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เทศบาลตำบลเทพราช โทรศัพท์ ๐ ๓๘๕๙ ๕๖๓๓, ๐ ๓๘๕๙ ๕๗๑๖ เทศกาลตำบลคลองสวน โทรศัพท์ ๐ ๒๗๓๙ ๓๒๕๓, ๐ ๒๗๓๙ ๓๓๒๙

    การเดินทาง

    รถยนต์
             จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนบานา-ตราด ถึงกิโลเมตรที่ ๓๕ เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๔๖ ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จนเจอถนนหมายเลข ฉช ๓๐๐๑ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ทางเข้าตลาดอยู่กิโลเมตรที่ ๙-๑๐ หรือกิโลเมตรที่ ๑๐-๑๑ หากมาทางถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี แยกซ้ายตามป้ายเข้าอ่อนนุช แล้วไปตามทางหมายเลข ๓๐๐๑ ทางเข้าตลาดอยู่กิโลเมตรที่ ๙-๑๐

    รถโดยสารประจำทาง
             ขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) สายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา หมายเลข ๙๙๐๙ ลงที่หน้าทางเข้าตลาด แล้วเดินต่อเข้าไปอีก ๒๐๐ เมตร

ตลาดบางพลี

             เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา จะคึกคักช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
             สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เทศบางตำบลบางพลี โทรศัพท์ ๐ ๒๓๓๗ ๓๐๘๖, ๐ ๒๓๓๗ ๓๙๓๔ และ ๐ ๒๗๕๑ ๑๑๒๗-๙

       การเดินทาง

       รถยนต์
             จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนบางนา-ตราด ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๒ ข้ามสะพานคลองชวดลากข้าว เลี้ยวเข้าสู่อำเภอบางพลี หรือใช้ถนนเทพารักษ์ สามารถจอดรถได้ที่ห้างบิ๊กซีสาขาบางพลี

       รถโดยสารประจำทาง
             สายบางนา-ตราด ใช้รถโดยสารประจำทางสาย ๑๓๒, ๑๓๓, ๓๖๕, ๕๓๗, ๕๕๒, ๕๕๓ แล้วต่อรถสองแถวหน้าโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ๑ เข้าตัวตลาด
             สายถนนเทพารักษ์ ขึ้นรถโดยสารประจำทางจากตลาดสำโรงสายสำโรง-บางบ่อ, สำโรง-บางปลา, สำโรง-บางพลี เข้ามาทางวัดบางพลีใหญ่ใน



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


ปีที่ 50 ฉบับที่ 10 พฤษภาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตลาดโบราณ เพราะอดีตหอมหวน จึงชวนโหยหา อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:33:21 2,370 อ่าน
TOP