x close

เที่ยวถิ่นบั้งไฟ นมัสการพระธาตุอานนท์

พระธาตุอานนท์

พระธาตุอานนท์ 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก yasothon.go.th

          เมืองประชาธิปไตย บั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิต แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ...

          นี่คือคำขวัญของดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำชี จังหวัดที่มีขนาดเล็กสุดในเขตอีสานตอนล่าง ใช่แล้ว! เรากำลังเอ่ยถึง "จังหวัดยโสธร" แถมวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปนมัสการ พระธาตุอานนท์ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองบั้งไฟ และถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดยโสธร ใครที่ผ่านไปแถว ๆ จังหวัดยโสธรหรือจังหวัดใกล้เคียง อย่าอย่าลืมแวะเวียนไปกราบไหว้ พระธาตุอานนท์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตนะคะ แต่ก่อนอื่นต้องไปทราบเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ พระธาตุอานนท์ กันก่อนค่ะ

          พระธาตุอานนท์ หรือ พระธาตุยโสธร สูง 25 เมตร 30 เซนติเมตร ตั้งอยู่ภายใน วัดมหาธาตุ เขตเทศบาลเมือง จังหวัดยโสธร เป็นวัดคู่ยโสธรมาตั้งแต่สร้างเมือง อีกทั้ง พระธาตุอานนท์ ยังเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน ภายใน พระธาตุอานนท์ บรรจุพระอัฐิธาตุของ พระอานนท์ พระเถระของพระพุทธเจ้า ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลาว และเมื่อปี พ.ศ.2490 มีการขุดพบจารึกใบลานอักษรขอม บรรจุไว้ในขวดเก่า ๆ ฝังลึกลงไปประมาณ 2 เมตร บริเวณกำแพงพระธาตุ

          ตามประวัติสันนิษฐานกันว่า พระธาตุอานนท์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1218 ผู้ก่อสร้างคือ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ กับ เอียงเวธา ชาวขอม เมื่อสร้างเสร็จจึงอัญเชิญพระอัฐิของ พระอานนท์ มาบรรจุไว้ ซึ่งพระอัฐิของพระอานนท์ที่นำมาบรรจุใน พระธาตุอานนท์ นั้น ถูกบรรจุไว้ในผอบ ชั้นนอกเป็นหีบเงิน 3 ชั้น ชั้นถัดไปเป็นหีบทอง 7 ชั้น ถัดจากนั้นเป็นหีบแก้วไพฑูรย์ 2 ชั้น (รวมเป็นหีบ 12 ชั้น) แล้วมีผ้ากะจ๋าคำ(ผ้าลายทอง) ห่อไว้อีก 500 ชั้น ถัดเข้าไปเป็นผ้าสีขาวอ่อนนุ่มเหมือนสำลีห่อพระอัฐิธาตุอยู่




          โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้าง พระธาตุอานนท์ ต่อ ๆ กันมาว่า เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หลังจากออกบวชทำความเพียรได้ 3 ปี 25 วัน ทั้งคู่ก็เห็นว่าชาวเมืองเวียงจันทน์ต่างนับถือ พากันไปกราบไหว้ ดอนปู่บาว จึงคิดนำของศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่ ดอนปู่บาว เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้น จึงออกธุดงค์โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี 10 เดือน 11 วัน เดินทางมาถึงเมืองเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ปกครองโดย ท้าวพระยา ซึ่งขณะนั้นชาวเมืองกำลังก่อสร้างเจดีย์องค์หนึ่งอยู่ ครั้นก่อสร้างเสร็จ ท้าวพระยา จึงเข้าไปอัญเชิญพระอัฐิธาตุ ซึ่งต้องไขประตูเข้าไป 3 ชั้น จึงจะพบหีบพระอัฐิธาตุ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงสอบถามชาวเมืองได้จนได้ความว่าเป็นพระอัฐิธาตุของ พระอานนท์ พระเถระคนสำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งเล่ากันว่า พระอานนท์ นิพพานบนอากาศกลางแม่น้ำโรหิณี (กั้นระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ กรุงเทวทหะ) พระองค์ได้อธิษฐานร่างกายให้แตกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งตกลงทางกรุงกบิลพัสดุ์ ส่วนที่สองตกลงทางกรุงเทวทหะ

          เจตตานุวิน ได้ฟังดังนั้นจึงจัดเครื่องสักการะบูชา แล้วอธิษฐานจิตขอเห็นอภินิหาร ซึ่งก็บังเกิดมีลมพัดห่อผ้าอัฐิธาตุ (ห่อผ้ากะจ๋าคำ) ลอยขึ้นสู่อากาศเป็นอัศจรรย์ เจตตานุวิน จึงอธิษฐานจิตให้ห่อผ้าพระอัฐิธาตุลอยลงมา ห่อผ้าก็ลอยลงมาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ต่อมา เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงอ้อนวอนขอแบ่งพระอัฐิธาตุจาก ท้าวพระยา อยู่หลายวัน จน ท้าวพระยา ใจอ่อนยอมแบ่งผงธุลีประมาณเต็ มเปลือกไข่นกกระเรียน กับอัฐิธาตุ 1 องค์ ประมาณเท่าดอกสังวาลย์ (คล้ายดอกลีลาวดี) ให้ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงเดินทางกลับเมืองเวียงจันทน์ และเตรียมจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุที่ ดอนปู่ปาว แต่ชาวเมืองเวียงจันทน์ไม่ยินยอม ด้วยหาว่าผิดผีบ้านผีเมือง ทั้งยังขับไล่ออกจากเมือง เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงหนีมาอยู่กับเจ้าเมืองขอม ชื่อว่า เอียงเวธา ครั้นผ่านไป 3 ปี จึงชักชวนให้ เอียงเวธา เป็นผู้นำสร้างเจดีย์ ซึ่ง เอียงเวธา ได้เลือกสถานที่สร้างเจดีย์ที่ ดงผีสิง (จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) ป่าทึบขนาดใหญ่ ไกลจากบ้านคนประมาณ 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้างเจดีย์ 8 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ

          สำหรับลักษณะของ พระธาตุอานนท์ เจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงพรหมสี่หน้า ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อยฐาน




          ภายใน วัดมหาธาตุ ยังมีโบราณสถานที่สำคัญในวัดคือ พระพุทธบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรก ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่ หอไตร ตั้งอยู่กลางสระภายใน วัดมหาธาตุ

          ทั้งนี้ ทุก ๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคมทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภช พระธาตุอานนท์ ขึ้นเป็นประจำ โดยจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 ตามฮีตคลองของชาวอีสาน คือ เดือนมีนาคม ในคืนแรกจะจัดพิธีสมโภชองค์ พระธาตุอานนท์ ผู้ที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยชุดขาว ทำพิธีตลอดคืน ส่วนในคืนที่สองและคืนที่สามมีมหรสพรื่นเริงสมโภชตลอดคืน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  111thailand.com และ yasothon.go.th
     



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวถิ่นบั้งไฟ นมัสการพระธาตุอานนท์ อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:12:26 12,069 อ่าน
TOP