x close

เผยลายแทงสถานที่ชมศิลปะสตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

          ตระเวนชมผลงานศิลปะสตรีทอาร์ต เจริญกรุง สวย ๆ ที่เที่ยวกรุงเทพฯ ที่ช่วยสร้างสีสันชวนดึงดูดใจ และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวมากขึ้นกว่าเดิม


           สตรีทอาร์ต (Street Art) หรือศิลปะข้างถนน ที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยสื่อประเภทต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นเคยกับสตรีทอาร์ตตามท้องถนนเสียมากกว่า ซึ่งเป็นภาพวาดที่ต้องการสื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง และที่ผ่านพ้นไปไม่นานกับเทศกาล "บุกรุก" สตรีทอาร์ต (BUKRUK Street Art) เทศกาลศิลปะข้างถนน ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2559 ไฮไลท์เด็ดหนีไม่พ้นศิลปินจากหลายประเทศที่มาช่วยกันสร้างสรรค์งานสนุก ๆ บนกำแพง บริเวณย่านเจริญกรุง บางรัก และทรงวาด ที่ช่วยสร้างสีสันให้กรุงเทพฯ น่าเดินและน่าเที่ยวมากกว่าเดิม ใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปในช่วงเทศกาล วันนี้เราจะไปรอยภาพสตรีทอาร์ตสวย ๆ เหล่านี้ด้วยกัน
สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

           การตามล่าเริ่มต้นที่ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (สะพานตากสิน) เมื่อเดินลงมาจากตัวสถานีจะพบกับภาพแรกบนกำแพงด้านนอกโรงแรมแชงกรีล่า ผลงานของ Daan Botlek ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ โดดเด่นด้วยภาพสตรีทอาร์ตแนวยาวเรื่อยไปตามกำแพง ซึ่งเราอาจต้องใช้จินตนาการในการมองภาพนี้อยู่เสียหน่อย ว่ากันว่าเจ้าของฝีมือภาพสตรีทอาร์ตนี้ต้องวาดภาพท่ามกลางสถานการณ์ที่ลำบากอยู่เสียหน่อย เพราะต้องหลบหลีกอุปสรรคอย่างสะพานลอย คิวรถแท็กซี่ รวมถึงร้านค้าแผงลอย ที่ตั้งเรียงแถวกีดขวางไว้อยู่

สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

           ถัดมาอีกไม่ไกลตรงบริเวณถนนเดโช (ตรงข้าม A.I.A สำนักงานใหญ่) ที่นี่เราจะเห็นภาพสตรีทอาร์ตขนาดใหญ่ คล้ายกับ "ตุ๊กตาดารุมะ" ตุ๊กตาโชคลางของญี่ปุ่น ผลงานของ Motomichi Nakamura ศิลปินชาวญี่ปุ่น จุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่การเน้นใช้สีเฉพาะขาว แดง และดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของผลงานการวาดรูปของเขา และถึงแม้ว่าตุ๊กตาดารุมะที่ถ่ายทอดบนกำแพงให้เราได้ดูนี้ จะไม่เหมือนกับตุ๊กตาดารุมะที่เห็นทั่วไป แต่ก็แฝงไว้ซึ่งความน่ารักของลายเส้นที่แสนอ่อนโยน เหมือนที่เราเห็นคุ้นชินในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น

สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ
           มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนสุรวงศ์ จุดนี้เราจะเห็นภาพวาดอยู่บนผนังอาคารตรงข้ามสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย เป็นผลงานภาพวาดของ Fikos ศิลปินชาวกรีก เป็นภาพวาดคล้ายนางเงือกสีเหลืองทองบนกำแพง ท่ามกลางพื้นหลังสีดำ ที่ช่วยขับเน้นให้เรือนร่างของนางเงือกตัวนี้ให้ดูโดดเด่นมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ
สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ
           มาต่อกันที่บริเวณถนนเจริญกรุง 32 ซอยไปรษณีย์กลาง จุดนี้ถือได้ว่าเป็นจุดที่มีภาพวาดมากที่สุดจุดหนึ่ง โดยจะแบ่งภาพวาดศิลปินต่าง ๆ ออกเป็นบล็อก ๆ ตามเส้นกั้นของเสากำแพง ทั้งยังเป็นจุดที่มีความหลากหลายของรูปภาพ ที่สุดแล้วแต่จะจินตนาการ เราจึงสามารถเดินถ่ายภาพและชื่นชมผลงานศิลปะเรื่อยไปตามตลอดแนวยาวของกำแพงจนถึงท่าเรือเลยทีเดียว

สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

           ต่อกันที่ถนนเจริญกรุง 30 (ซอยกัปตันบุช) โดดเด่นด้วยผลงายสตรีตอาร์ทสีขาวดำ ซึ่งเป็นผลงานของ Sten และ Lex ศิลปินชาวอิตาเลียน ที่สร้างผลงานศิลปะลายฉลุ "Stencil Graffiti" ถือเป็นผลงานศิลปะที่หาดูไม่ได้จากที่ไหนง่าย ๆ นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกใหม่ในการชมงานศิลปะ ที่ได้ยึดติดกรอบกฎเกณฑ์ตายตัว ว่ารูปภาพที่ดีและสวยจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ นับเป็นการสร้างความท้าทายให้กับวงการศิลปะที่น่าจับตามองไม่น้อย
 
สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

           จุดต่อไปอยู่ที่บริเวณถนนทรงวาด ที่เรามองเห็นสีชมพูมาตั้งแต่ไกล เป็นภาพวาดของ Aitch ศิลปินจากโรมาเนีย ที่เกิดจากการนำลายเส้นน่ารักมาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่ในบางครั้งก็ทำให้ภาพดูน่ากลัวและขึงขังได้เช่นกัน นับเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปะท่านนี้
        
สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ
           นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณกำแพง Oldtown Hostel ผลงานของ Daehyun Kim ศิลปินชาวเกาหลี
         
สตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ

           ภาพช้างตัวใหญ่สองตัว ผลงานของกราฟิตี้ชาวเบลเยียมที่ใช้นามแฝงว่า ROA ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ของเขามักวาดภาพสัตว์ประจำชาติ และเมื่อมาเมืองไทยแน่นอนว่าต้องไม่พ้นช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของเรา

           เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของจุดแสดงผลงานสตรีทอาร์ตทั้งหมดในย่านนี้ จริง ๆ แล้วยังมีภาพวาดสตรีทอาร์ตยิบย่อยอีกมากมายที่รอให้เพื่อน ๆ ไปตามล่าหากัน นอกจากความสนุกและความเพลิดเพลินที่ได้รับแล้วนั้น อย่างหนึ่งที่ศิลปะสตรีทอาร์ตสอนเราก็คือไม่ว่าคุณจะรวย จน ขาว ดำ เราทุกคนล้วนได้เสพงานเหล่านี้เหมือนกันหมดทุกคน ศิลปะสตรีทอาร์ตจึงเป็นงานศิลปะที่ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เฟซบุ๊ก มณฑณัช ธรรมพาปรีดา, เฟซบุ๊ก Deeez Nutz, เฟซบุ๊ก Bukruk Urban Arts Festival, เฟซบุ๊ก ROA, motomichi.com, fikos.gr, syrup.co.th, stenlex.net, aitch.ro

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยลายแทงสถานที่ชมศิลปะสตรีทอาร์ตสวย ๆ ในกรุงเทพฯ อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2559 เวลา 15:44:03 16,722 อ่าน
TOP