x close

เที่ยว 4 ตลาดน้ำ เมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง

ตลาดน้ำบางน้อย



ตลาดน้ำอัมพวา


เที่ยว 4 ตลาดน้ำ เมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง (อสท.)

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์...เรื่อง
 
          "อุ๊ย...ดูนั่นสิ เหมือนที่เราเคยเล่นสมัยเด็ก ๆ เลย"

          "เออ ใช่ อันนั้นก็เหมือนกันนะ จำได้ไหม..."

          เสียงอุทานและพูดคุยทำนองนี้ดังมาเข้าหูอยู่เป็นระยะ ในแบบระบบเซอร์ราวนด์จากทุกทิศทาง ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ขณะผมค่อย ๆ ก้าวเท้าเคลื่อนตามกระแสของกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่ง "ไหล" ไปตามทางเดินเลียบคลองใน ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่สองฟากฝั่งลำน้ำสายแคบ ๆ เต็มไปด้วยร้านรวงที่เรียงรายเอาไว้ด้วยข้าวของเครื่องใช้ย้อนยุคย้อนสมัย

          ได้ยินบ่อย ๆ ก็อดขำไม่ได้ครับ ที่คนหลาย ๆ คนรู้สึกเหมือนกัน พูดเหมือนกันโดยไม่ต้องนัดหมาย แล้วก็ยิ่งตลกเข้าไปใหญ่ เมื่อคิดต่อไปอีกว่า ในเมืองกรุงเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย จะซื้อหาของกินของใช้ก็มีทั้งร้านสะดวกซื้อ มีทั้งห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่แทบทุกมุมเมือง ติดแอร์เย็นสบายอีกต่างหาก แต่คนในเมืองนี่แหละครับ กลับพากันขับรถแห่ออกมานอกเมืองตั้งไกล มาเดินเบียดกันอยู่บนทางเดินแคบ ๆ ในตลาดน้ำ เพื่อตามหาบางสิ่งบางอย่าง

          เท่าที่มองเห็นเดิน ๆ กันอยู่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นครับ พวกนี้มาตามหาอะไรใหม่ ๆ อาจเพราะชีวิตเมืองกรุงยุคใหม่สะดวกสบายง่ายดายเกินไป ทำให้เบื่อ เลยต้องมาหาดูหาชมข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนร้านรวงสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มยังสาว ที่ถือเป็นของแปลก เพราะไม่เคยเห็น เกิดไม่ทัน แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งครับ ที่มาตามหามองหาอะไรเก่า ๆ ที่ทำให้รำลึกนึกไปถึงบรรยากาศและวันเวลาที่ผ่านพ้นไป โดยมากจะอายุอยู่ในช่วงสามสิบปลาย ๆ หรือหลักสี่ขึ้นไป (ไม่อยากบอกเลยว่า รุ่นเดียวกับผมนี่แหละ) พวกนี้จะมีปฏิกิริยากับข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นสมัยก่อนมากกว่ากลุ่มแรกเห็นอะไรก็จะวี้ดวิ้ว กิ๊วก๊าว กันเป็นพิเศษ คล้ายได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเด็ก ๆ อะไรทำนองนั้น

ตลาดน้ำบางน้อย


          จำไม่ได้เหมือนกันครับว่าตัวผมเองเริ่มรู้สึกหวนคำนึงถึงอดีตตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยความที่ปกติก็ชอบพวกโบราณคดีประวัติศาสตร์ อะไรเก่า ๆ แก่ ๆ มานานแล้ว แต่ถ้าอาศัยสังเกตจากคนรอบข้าง ก็คลับคล้ายคลับคลาว่ากระแสความนิยมการท่องเที่ยวในแนวรำลึกความหลังนี่มาแรงเอาประมาณในช่วงปี พ.ศ.2546 จากภาพยนตร์เรื่อง "แฟนฉัน" หนังใส ๆ สไตล์กุ๊กกิ๊กแบบเด็ก ๆ ซึ่งมีทีเด็ดโดนใจใครต่อใครด้วย บรรยากาศในเรื่องที่พาคนดูย้อนยุคย้อนสมัยกลับไปในช่วงเวลาเยาว์วัยอันแสนสนุก ที่ผมจำได้ดีเพราะตอนนั้นมีเพื่อนผมหลายคน ดูกันคนละหลาย ๆ รอบ แถมโทรมาเล่าให้ฟังอีก เรียกว่าคลั่งไคล้กันมาก และก็เหมือนกับบังเอิญครับ ที่ ตลาดน้ำอัมพวา เองก็มาฟื้นฟูกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันพอดิบพอดี

          ก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกันไหมละครับ แต่ที่แน่ ๆ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็หลายปีที่กระแสความนิยมท่องเที่ยวย้อนยุคยังแรง แถมแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย ไม่ต้องไปนับจังหวัดอื่น ๆ ที่ไหน เฉพาะที่สมุทรสงครามเองนี่ นอกจากตลาดน้ำอัมพวา ตอนนี้ยังมีตลาดน้ำใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายแห่ง

          หลายวันที่มาเดินเที่ยวในหลาย ๆ ตลาดน้ำ ทำให้พอจะเข้าใจครับว่า ทำไมตลอดหลายปีกระแสความนิยมถึงไม่ตก  ก็เพราะความรู้สึกที่ได้เวลามาเดินตลาดเหล่านี้ มันเหมือนกับได้ขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสมัยยังเด็ก ช่วงเวลาที่มีความสุขสนุกสนาน อารมณ์คล้าย ๆ กับตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน แต่ดีกว่ากันตรงที่อะไรต่อมิอะไรเก่า ๆ ที่เห็นนั้น จับต้องสัมผัสได้ ที่สำคัญคือตัวเราได้เป็นพระเอก ทำอะไรได้ตามใจอยากกินอะไร อยากซื้ออะไร อยากเล่นอะไร ได้หมด ไม่เหมือนในหนังที่ได้แต่ดูอย่างเดียว (ตรงนี้แหละแจ๋วที่สุด)


ตลาดน้ำ


ท่าคา ตลาดน้ำอมตะ

          แสงแดดยามเข้าลอดแนวมะพร้าว ที่ปกคลุมลงมาเห็นเป็นเส้นสายแสงเงาบนถนน ขณะพาหนะคันเก่งพาผมลัดเลาะผ่านตามทางลดเลี้ยว ผ่านท้องร่องเรือกสวนสองฟากฝั่ง มุ่งหน้าสู่ ตลาดน้ำท่าคา ที่ถือเป็นตลาดนัดทางน้ำที่เก่าแก่และเป็น "ของแท้" ที่สุดแห่งหนึ่ง ในบรรดาตลาดน้ำทั้งหลายในประเทศไทย ใครไปใครมาถึงสมุทรสงครามแล้วถือว่าพลาดไม่ได้ บรรยากาศบนเส้นทางชวนให้นึกถึงสวนบางมดแถวบ้านผมสมัยเด็ก ๆ ที่เคยไปขี่จักรยานเที่ยว ทางคดเคี้ยวผ่านท้องร่องสวนส้ม สวนมะพร้าวแบบนี้แหละครับ เดี๋ยวนี้กลายเป็นตึกแถว บ้านจัดสรรไปหมด แทบไม่เห็นเค้า (แน่ะ รำลึกความหลังอีกจนได้ ชักเริ่มสูงวัยแล้วสิเรา)

          ระหว่างหมุนพวงมาลัยไปตามถนนที่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาซับซ้อนเหมือนเขาวงกต ก็คิดเล่น ๆ เรื่อยเปื่อยไปครับว่า ถนนที่คดเคี้ยวของสมุทรสงครามนี่แหละ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ ตลาดน้ำท่าคา ยังคงอยู่จนทุกวันนี้ เพราะคนในพื้นที่คงไม่อยากขึ้นมาใช้ถนนที่วกวนจนวิงเวียน เลยสมัครใจพายเรือไปไหนมาไหนทางน้ำน่าจะสะดวกกว่า อ้าว จริง ๆ นะ ลองสังเกตดูสิครับ ถนนแถวนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงไปตรงมา เหมือนที่อื่นเขาหรอก ผมเองกว่าจะถึง ตลาดน้ำท่าคา ก็ต้องหายาดมดมเหมือนกัน เพราะเวียนหัว
  
          ตลาดน้ำท่าคา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.1480 เดิมเรียกกันว่า "ตลาดนัดท่าคา" เป็นสถานที่ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และจากจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวสวนนัดกันพายเรือเอาผลผลิตจากไร่จากสวนของตัวเอง ขนมนมเนย รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โดยมีกำหนดนัดหมายกันในวันข้างขึ้นข้างแรม คือ 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ อันเป็นช่วงน้ำขึ้นมาก เหมาะกับการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยเรือ ต่อเนื่องกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมเบ็ดเสร็จเป็นเวลาเจ็ดสิบปีถือว่าเข้าขั้น "ตลาดน้ำอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล" ไปแล้ว

          แม้แต่ในทุกวันนี้ พ่อค้าแม่ขายที่ตลาดนี้ยังคงนัดหมายแบบโบราณครับ โดยยืดข้างขึ้นข้างแรมเหมือนเดิมอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้ว่าช่วงหลัง ๆ ซึ่งมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา เคยมีความพยายามจะให้ชาวบ้านมาติดตลาดนัดค้าขายกันในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้รับกับนักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงก็มีเรือมากันหรอมแหร็ม ไม่ครึกครื้นคึกคักเหมือนวันนัดจริงของชาวบ้านเขา ที่มากันเป็นร้อย ๆ ลำ

แม่กลอง


          ผมเองยังจำได้ดีถึงความรู้สึกที่ได้มาเห็น ตลาดน้ำท่าคา ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน บอกได้คำเดียวว่าถึงกับตะลึงครับ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าในใจกลางสวนที่สงบเงียบร่มครึ้มจะมีตลาดน้ำขนาดใหญ่ ที่เนืองแน่นไปด้วยเรือพายน้อยใหญ่ของชาวบ้านในเครื่องแต่งกายแบบชาวบ้านสวนแท้ ๆ มาชุมนุมซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตร และข้างของเครื่องใช้ตลอดจนอาหารการกินกันนับร้อย ๆ ลำ เป็นที่ครึกครื้น แน่นขนัดเต็มผืนน้ำในลำคลอง คราวนี้ก็ไม่แตกต่างกันครับ โชคดีตรงที่แม้วันที่ผมมานี่จะเป็นวันเสาร์ แต่ก็บังเอิญตรงกับวันนัดของชาวบ้านชนิดแจ็กพ็อต จอดรถเสร็จสรรพบนลานจอดที่เดี๋ยวนี้ทำไว้อย่างดี เดินเข้าไปอีกนิดหน่อย ถึงริมคลองก็ได้พบกับตลาดน้ำที่เต็มไปด้วยเรือนับร้อยบ รรทุกเอาผลหมากรากไม้ ข้าวของเครื่องใช้และอาหารการกิน ขนมนมเนยนานาชนิด ลอยลำเป็นแพอยู่ เหนือผืนน้ำขวักไขว่ แว่วเสียงทักทาย เสียงเจรจาค้าขาย ดังระเบ็งเซ็งแซ่จนฟังไม่ได้ศัพท์ ดูครึกครื้นน่าสนุก

          ความจริงก่อนจะถึง ตลาดน้ำท่าคา บนเส้นทางยังมี ตลาดน้ำดอนมะโนรา อีกแห่ง ติดตลาดนัดวันเดียวกับ ตลาดน้ำท่าคา แต่เช้ากว่า คือในช่วง 6-7 โมงเช้า ว่ากันว่าคึกคักและบรรยากาศดี ผมเองตั้งใจว่าจะมาแวะดูหลายครั้ง รวมทั้งคราวนี้ จนแล้วจนรอดก็มาไม่เคยทันสักที (เพราะนอนตื่นสาย แหะแหะ ขอสารภาพ) แต่ไม่เป็นไรครับ มาที่ ตลาดน้ำท่าคา ก็ถือว่าเหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ไปขายที่ ตลาดน้ำดอนมะโนรา ส่วนใหญ่ก็จะพายมาขายที่ ตลาดน้ำท่าคา กันต่อแทบทั้งนั้น จะเรียกว่าเป็นตลาดเดียวกัน แต่อยู่คนละที่ คนละเวลาก็ว่าได้ (งงไหมเนี่ย)

          ความสุขของการเที่ยวตลาดน้ำ คือการได้มาเห็นภาพของวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบไทย ๆ ดูการทำมาค้าขายของชาวบ้าน  ที่ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตามาซื้อของขายของกันอย่างเดียว แต่เป็นการมาพบปะสังสันทน์  โอภาปราศรัย ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันไปในตัว ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเรือบางลำมีข้าวของอยู่ในเรือแค่ไม่กี่อย่าง แต่พายวนเวียนทักทายคนโน้นคนนี้ไปทั่วทั้งตลาด บางลำก็เอาของมาแลกเปลี่ยนกันอย่างคนที่คุ้นเคย ยกให้กันฟรี ๆ ไปเลยก็ยังมี เหล่านี้เป็นอะไรที่หาดูไม่ได้ในเมืองใหญ่ ๆ ที่อะไรต่อมิอะไรล้วนแล้วต้องซื้อหาด้วยเงินทองไปแทบทั้งนั้น

          นั่งเล่นเฉย ๆ บนศาลาริมฝั่ง ดูเรือที่พายกันไปมาขวักไขว่ก็เพลิดเพลินเจริญใจแล้ว แต่ถ้าจะให้แจ๋วจริงก็ต้องหาของกินมาเป็นกับแกล้มบรรยากาศเสียหน่อยครับ ของอร่อย ๆ ริมตลิ่งของ ตลาดน้ำท่าคา มีเยอะ เหลียวซ้ายแลขวาละลานตาไปหมด ไม่ว่าจะเป็นของคาวอย่าง ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว หอยทอด ก๋วยเตี๋ยวหลอด ก๋วยจั๊บน้ำข้น (แหม คล้องจองกันเชียว) หันมาหาของหวานก็มีให้เลือกบานตะไท ไม่ว่าจะเป็นขนมหน้าตาคุ้น ๆ เห็นกันอยู่ทั่วไปอย่างขนมครก ขนมใส่ไส้ มิหนำซ้ำยังมีขนมพื้นเมือง ขนมโบราณอีกหลายอย่าง ที่แม่ค้าบอกแล้วผมจำชื่อไม่ได้ ไม่ใช่เพราะแก่จนอัลไซเมอร์ถามหานะครับ แต่เพราะว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนต่างหาก สารพัดละครับ แต่ละเจ้าจอดเรือเทียบท่าริมตลิ่งให้เลือกซื้อเลือกชิมตามอัธยาศัย รสชาติหลายหลาย ประทับใจทุกอย่าง

          ทำเป็นเล่นไปนะครับ ของเขาเยอะจริง ผมเองลองแค่อย่างโน้นนิด อย่างนี้หน่อย กะว่าชิมพอเป็นกระสายยา ชิมไปชิมมาเผลอแผล็บเดียวยังอิ่มจนแทบจุก ลุกขึ้นเดินกลับรถแทบไม่ไหวแน่ะ

ตลาดน้ำบางน้อย


บางน้อย-บางนกแขวก สองตลาดน้ำดาวรุ่ง

          ออกจาก ตลาดน้ำท่าคา มาก็ตอนสาย ๆ แดดชักจะเริ่มจัดจ้า แล่นรถผ่านเข้าไปทาง ตลาดน้ำอัมพวา มองไปยังเงียบสงบไม่มีผู้คน เพราะอัมพวานั้นเขามีแนวคิดทำเป็นตลาดน้ำยามเย็น (เห็นว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยเสียด้วยนะ) ตอนนี้ยามร้อน เอ๊ย สาย ๆ อยู่ เลยยังไม่เปิด ไม่เป็นไรครับ ขับเรื่อยตามทางไป บนเส้นทางนี้ยังมีตลาดน้ำที่เพิ่งเปิดตัวใหม่อยู่อีก 2 แห่งให้เที่ยว

          ลดเลี้ยวพักหนึ่งก็มาถึง วัดเกาะแก้ว เห็นป้ายชี้ว่าเป็นทางเข้า ตลาดน้ำบางน้อย ก็เลี้ยวเข้าไปจอด วันหยุดสุดสัปดาห์อย่างนี้ ลานวัดกว้างใหญ่เต็มไปด้วยรถของนักท่องเที่ยวครับ เดินถึงริมตลิ่งหน้าวัดใต้หลังคาโครงเหล็กเรียงรายด้วยร้านค้าร้านอาหารสารพัด ยังมีทางเดินเชื่อมต่อลงไปในน้ำที่ทำเป็นโป๊ะมีหลังคา สำหรับเรือพ่อค้าแม่ขายมาเทียบ มองไปแลเห็นนักท่องเที่ยวมะรุมมะตุ้มซื้อกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ เป็นของกินอาหารจานเดียว จำพวกขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ได้ของแล้วก็นั่งกินกันบนโป๊ะนั่นเอง สบายอารมณ์กันไป ทอดน่องเลียบตลิ่งต่อไปถึงหัวมุมต่อกับห้องแถวเก่าถือว่าเข้าเขต ตลาดน้ำบางน้อย แท้ ๆ ละครับ เพราะมีป้ายชื่อตลาดขนาดใหญ่ พร้อมแผนที่ลานเส้นกำกับไว้มุมหนึ่ง บอกตำแหน่งให้รู้ว่าร้านอะไรอยู่ตรงไหน ไอเดียเข้าท่าน่ารักดี เหมือนกัน


ตลาดน้ำบางน้อย

ตลาดน้ำบางน้อย

          ความจริงแล้ว ตลาดน้ำบางน้อย นี่จะว่าเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ก็ไม่ถูกครับ เพราะเป็นตลาดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่เล่าขานกันว่า แต่เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน ตลาดน้ำบางน้อย เป็นตลาดนัดที่ครึกครื้น มีเรือนับร้อยมาจอดรอในคืนก่อนวันนัด เรียกว่าขายกันข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว โดยตรงหน้าวัดเกาะแก้วนั้นเป็นนัดขายน้ำตาลใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม ถัดเข้ามาในคลองบางน้อยจะเป็นอาหารการกินและสินค้าอื่น ๆ ทั่วไป นั่นเป็นภาพความรุ่งเรืองในอดีตสมัยที่ยังสัญจรกันทางน้ำ พอมีถนนหนทางเข้ามา การคมนาคมทางเรือรวมทั้งตลาดน้ำก็ซบเซาเลิกราไป เนิ่นนานหลายสิบปีทีเดียวละครับ จนกระทั่งได้อานิสงส์มาจากกระแสความนิยม ตลาดน้ำอัมพวา จึงรื้อฟื้นความเป็น ตลาดน้ำบางน้อย กันขึ้นมาใหม่ ทำพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 นี่เอง

ตลาดน้ำบางน้อย

ตลาดน้ำบางน้อย

ตลาดน้ำบางน้อย


          บนเส้นทางเดินที่เลียบริมคลอง บรรยากาศน่าสนใจด้วยห้องแถวไม้เก่าให้อารมณ์คลาสสิก กับร้านรวงที่มีอยู่ 2 ประเภท คือ ร้านดั้งเดิมของคนท้องถิ่นที่อยู่มาแต่ก่อนเก่า กลุ่มนี้จะคงสภาพที่เคยเป็นเอาไว้ยังไงยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำโชห่วย (เดี๋ยวนี้หาดูยาก เพราะร้านสะดวกซื้อครองเมือง) ก็มีอยู่หลายร้าน ร้านขายเสื้อผ้า รวมทั้งสถานที่ที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ไหพันใบตั้งเซียมฮะ โรงพิมพ์ ส.วิจิตรวัฒนา โรงพิมพ์ขนาดเล็กที่สุดในสมุทรสงคราม ที่เก๋โก๋ด้วยเครื่องพิมพ์แบบมือโยกอายุกึ่งศตวรรษ ซึ่งยังใช้งานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

          อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นร้านของคนที่มาจากที่อื่น เห็นความแตกต่างได้ชัดจากลักษณะการประยุกต์รูปแบบดั้งเดิม ผสมผสานเข้ากับลูกเล่นสมัยใหม่อย่างมีศิลปะ มีทั้งที่เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่พัก และห้องแสดงงานศิลปะ ขายของที่ระลึก โปสการ์ดพร้อมส่ง ถือเป็นสีสันใหม่ ๆ ที่มาช่วยแต่งแต้มให้ ตลาดน้ำบางน้อย มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งที่เด่น ๆ เป็นที่รู้จักได้แก่ บางน้อยคอยรัก สายน้ำฤๅจะกั้น นักท่องเที่ยวมักจะแวะเวียนมาถ่ายภาพกันไม่มีเงียบเหงา

ตลาดน้ำบางน้อย

ตลาดน้ำบางน้อย

ตลาดน้ำบางน้อย

ตลาดน้ำบางน้อย


          ทีเด็ดอีกอย่างของ ตลาดน้ำบางน้อย อยู่ที่ของกินแปลก ๆ มากมาย แถมบางอย่างยังไม่เหมือนที่ไหน เช่น โรตี แต้จิ๋วสมัยศิลป์ ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงร้านป้าพูนและร้านสิงห์ทอง เกี๊ยวกุ้งร้านโอเล่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำมะนาวสูตรโบราณ ผัดไทย น้ำพริกเผา ข้าวผัดปลาทู กาแฟโบราณ ฯลฯ แต่ละอย่างดูแล้ว น่าอร่อยทั้งนั้น ทว่า น่าเสียดายครับ ที่ผมเองได้แต่เดินดูแบบผ่าน ๆ อาศัยชิมด้วยสายตา เพราะยังอิ่มแปล้ชนิด "เต็มถัง" มาจาก ตลาดน้ำท่าคา ต้องฝากเอาไว้ก่อน เก็บเอาไว้คราวหน้า ค่อยหวนกลับมาคิดบัญชีความอร่อยที่พลาดไป แฮ่ม

          ออกจาก ตลาดน้ำบางน้อย ได้ก็มุ่งตรงไปยัง ตลาดน้ำบางนกแขวก ที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกแห่งที่กำลังมาแรง อยู่บนถนนสายเดียวกัน ขับรถผ่านหน้าอาสนวิหารแม่พระบังเกิดที่เห็นยอดแหลมเสียดฟ้า ข้ามสะพานไป เลี้ยวซ้ายก็ถึงแล้ว มีที่จอดรถให้บริการเสร็จสรรพ ค่าจอดคันละ 10 บาท เดินผ่านตรอกแคบ ๆ ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็นที่ตั้งของโรงยาฝิ่นในอดีตออกมาก็ถึงแล้ว

          ทางเดินเล็ก ๆ พาเลียบเลาะผ่านห้องแถวที่ตั้งเรียบรายแนวแม่น้ำ แลเห็นสายน้ำแม่กลองกว้างไกลเวิ้งว้าง ดูแปลกตาไปจากตลาดน้ำแห่งอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ริมคลอง แต่นี่ตัวตลาดกลับอยู่ริมแม่น้ำ ลมพัดโกรกเย็นสบาย ว่ากันว่าเมื่อก่อน ตลาดบางนกแขวก เป็นศูนย์กลางการค้าถนนหนทางยังไม่มี ใช้แต่เรือกันอย่างเดียว เป็นแหล่งเรือโยงใหญ่ที่สุดในลำน้ำแม่กลอง เรือผ่านไปผ่านมาเยอะมาก เพราะเลยจากท่าบางนกแขวกไปก็จะเป็นท่าเรือเทศบาลเมืองราชบุรีเลยไปอีกก็เป็นท่าม่วง กาญจนบุรี มีเรือเมล์แล่นผ่านบางนกแขวกไปราชบุรี ตั้งแต่ตี 5 ถึง 5 โมงเย็น ใครไปใครมาก็ต้องแวะตลาดนี้ก่อน เรียกว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำการค้าขายก็เลยครึกครื้นมาก

          ตลาดบางนกแขวก มาเริ่มซบเซาในช่วงปี พ.ศ.2535 ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับตลาดน้ำแหล่งอื่น ๆ นั่นแหละครับ คือถนนหนทางตัดเข้ามา เดินทางบนบกสะดวกกว่า คนที่เคยสัญจรทางน้ำก็หายไป ปั๊มน้ำมันริมน้ำก็ต้องเลิกกิจการ เรียกว่าตลาดต้องปิดตัวเอง เหลือค้าขายกันไม่กี่ร้าน อยู่กันแบบเงียบเหงา เพราะมีแค่พวกครู พวกข้าราชการแถว ๆ นี้เข้ามาหาข้าวกลางวันเกินและซื้อของอะไรบ้างนิดหน่อยเท่านั้น กลับมาคึกคักอีกหนเมื่อต้นมีนาคม ปี 2552 ที่ผ่านมา รายการตลาดสดสนามเป้าที่ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง  5 มาถ่ายทำเรื่อง ตลาดเก่าบางนกแขวก ออกอากาศ หลังจากนั้นคนก็เริ่มเข้ามาเที่ยวกันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดครึกครื้นขึ้นเป็นลำดับ

ตลาดน้ำ


          เท่าที่ผมเดินดูกลับไปกลับมาหลายตลบ ตลาดบางนกแขวก แห่งนี้ถือว่ามีครบองค์ประกอบความเป็นตลาดน้ำย้อนยุคละครับ เพราะตลอดแนวเรียงรายไปด้วยร้านรวงในแบบเก่า ๆ ให้เที่ยวชม ขนาดของตลาดก็ไม่ใหญ่จนเกินไป ใช้เวลาไม่มากก็เดินได้ทั่วถึงหมดแล้ว ที่เด่น ๆ เห็นจะเป็นร้านขายยาแผนโบราณตงซัวฮึ้ง ภายในร้านเต็มไปด้วยตู้ยาโบราณ แต่ปัจจุบันหน้าร้านขายขนมใส่ไส้ อีกร้านที่น่าสนใจคือร้านบางคณฑีพาณิชย์ ที่แม้ร้านจะปิดไปแล้ว มีแต่แผงขายขนมเปี๊ยะโบราณเจ้าอร่อย แต่ปั๊มน้ำมันโบราณสีเหลืองอ๋อยตรงหน้าร้านที่ใช้สำหรับเติมน้ำมันเรือ ยังคงดึงดูดผู้มาเยือนให้แวะเวียนมาตื่นเต้นถ่ายภาพกัน ด้วยดีกรีความเป็นปั๊มน้ำมันแห่งที่ 2 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ดูได้จากป้ายทะเบียนโลหะที่ติดอยู่ด้านข้าง เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีถึงความเก๋า

          บนบานประตูของร้านที่ปิดเอาไว้ยังมีโปสเตอร์รูปนักมวยไทย อภิเดช ศิษย์หิรัญ ผู้มีนิวาสถานบ้านเกิดอยู่ที่นี่ สร้างชื่อไว้ในวงการมวยด้วยการคว้าตำแหน่งแชมป์หลายตำแหน่ง ด้วยการเตะที่หนักหน่วง ท่าไม้ตายลูกเตะ 3ชั้น ที่เตะครั้งเดียวไล่จากก้านคอ ลำตัวและขาพับ จนได้สมญานาม "จอมเตะจากบางนกแขวก" ใกล้กันยังมีร้านกาแฟเฮงเฮง ร้านเก่าเล่ายี่ห้อ อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ อายุกว่า 90 ปี (อายุร้านนะครับ ไม่ใช่เจ้าของร้าน) เก่าหรือไม่เก่าก็มีนักค้าของเก่ามาขอซื้อป้ายชื่อร้านให้ราคาเป็นหมื่นก็แล้วกัน ตอนนี้นอกจากขายกาแฟและเครื่องดื่มที่เป็นทีเด็ดของร้านคือโอวัลตินภูเขาไฟและจ้ำบ๊ะภูเขาไฟสูตรของเก่าสมัยรุ่นพ่อแล้ว ยังขายก๋วยเตี๋ยวโบราณสูตรราชบุรีและน้ำสมุนไพรเก้าสีอีกด้วย

          พูดถึงของกินแล้ว ที่ ตลาดบางนกแขวก ถือว่ามีหลากหลายเหมือนกันครับ มีทั้งผัดไทยกุ้งสด ซาลาเปา ขนมจีบปู ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดง ก๋วยเตี๋ยวกะลาโบราณ ขนมจีน แต่ที่แปลกไม่เหมือนที่ไหนก็คือ ข้าวแห้งไก่ ที่ว่ากันว่ามาจากข้าวต้มไก่เดิม แต่ชาวไร่ชาวสวนแถวนี้ใช้แรงงาน เป็นข้าวต้มน้ำเยอะ กินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องกัน ก็เลยเทน้ำออก ข้าวต้มไก่ก็เลยกลายเป็น ข้าวแห้งไก่ มาแต่นั้น ผมน่ะด้วยความที่มาถึงตอนแรกท้องเริ่มร้องพอดี แถมยังไม่เห็นว่าในตลาดมีของกินมากมาย เห็นใกล้ที่จอดรถมีร้านแป๊ะ ก๋วยเตี๋ยวปู ดูน่ากิน แถมได้ยินว่าเป็นร้านดัง เลยฟาดเสียเต็มพิกัดไปเสียก่อน เดินเข้ามาในตลาดถึงรู้ว่าพลาดไปถนัดใจ น่าจะขยักเหลือพื้นที่ในท้องไว้ชิมอย่างอื่นบ้าง เป็นอันว่าต้องลงบัญชีความอร่อยเอาไว้ ชิมด้วยสายตาไปพลาง ๆ ก่อน (อีกแล้ว)

          ยังดีที่มีร้านค้าอื่น ๆ อีกมากมายหลายร้านให้เดินดูเล่นเพลิน ๆ ไม่ว่าจะเป็นขายของเล่นย้อนยุค ขายเครื่องประดับขายของที่ระลึก ฯลฯ สารพัด คนที่ค้าขายอยู่ใน ตลาดบางนกแขวก แทบทั้งหมดเป็นคนที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่นี่ ยังไม่มีคนนอกเข้ามาลงทุนทำแต่งเติมเสริมอะไรให้ผิดแปลกไปจากเดิมทั้งนั้น เรียกว่าเป็นตลาดที่ยังคงมีความเนตลาดน้ำแบบบ้าน ๆ ให้สัมผัสอยู่มาก ไม่เสียเที่ยวที่มา ว่างั้นเถอะครับ อย่างน้อย ๆ ช่วยปะติดปะต่อให้เห็นภาพความเป็นชุมชนของตลาดน้ำสมัยเก่า ได้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนมากขึ้นว่าเขาอยู่กันยังไง

 

อัมพวา

ตลาดน้ำ



สุดยอดตลาดน้ำยามเย็น "อัมพวา"

          ก่อนจะย้อนกลับไป ตลาดน้ำอัมพวา ผมถือโอกาสแวะเข้าไปที่ ค่ายบางกุ้ง ที่อยู่ไม่ไกล ชื่นชมความแปลกประหลาดของธรรมชาติเสียหน่อย หาไม่ง่ายครับที่ต้นโพธิ์ใหญ่อันเป็นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา จะแผ่รากโอบล้อมห่มคลุมโบสถ์เอาไว้ภายใน จนกลายเป็น โบสถ์ปรกโพธิ์ เห็นแล้วก็ให้อัศจรรย์ใจสมกับที่ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนฯ มาแล้ว วันหยุดอย่างนี้มีนักท่องเที่ยวมาสักกระปิดทอง "หลวงพ่อนิลมณี" พระประธานในโบสถ์มากมาย ก็เลยใช้เวลาไปพอสมควร

          แต่ก็กลับมาได้เวลาของ ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา พอดีครับ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้รถจะติดแถวอัมพวา  อุทยาน ร.2 เป็นพิเศษ เพราะหาที่จอดรถยาก ยังดีมีที่จอดรถเอกชนหลายแห่งให้บริการ ค่าบริการก็ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งความห่างจากตัวตลาด ไกลหน่อยก็ 30 บาท ใกล้เข้ามาอีกนิดก็ 40 บาท ใกล้ชิดติดกับตลาดน้ำเลยก็แพงหน่อย ประมาณ 50 บาท เข้าตลาดมาได้ก็แทบจะไม่ต้องเดินกันละครับ ค่อย ๆ ไหลตามกระแสนักท่องเที่ยวเข้าไป ไม่รู้มาจากไหนกันเยอะแยะไปหมดอย่างว่าแหละ ที่เที่ยวดี ๆ ใครก็อยากจะมาสัมผัสทั้งนั้น

ตลาดน้ำอัมพวา

ตลาดน้ำอัมพวา


          ตลาดน้ำอัมพวา เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเมื่อราว 60 ปีก่อน ถือเป็นตลาดนัดทางน้ำใหญ่ที่สุดในสมุทรสงคราม ชะตากรรมของ ตลาดน้ำอัมพวา ในอดีตก็เช่นเดียวกันกับตลาดน้ำอื่น ๆ นั่นก็คือพอถนนหนทางสะดวกมากขึ้น ย่านการค้าร้านวงก็ย้ายไปอยู่ตามริมถนนกันหมด ทำเอาอัมพวาซบเซาไปหลายสิบปี ช่วงยุคตกต่ำของอัมพวา ผมเองยังเคยมาเยี่ยมเยือนอยู่เหมือนกัน ตอนนั้นบ้านเรือนร้านรวงริมน้ำเงียบเหงาไม่ค่อยมีผู้คน คล้ายกับเมืองร้าง เหลือแค่ร้านกาแฟเก่า ๆ กับร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างไม่กี่ร้าน ยังดีที่สภาพของบรรดาสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องริมน้ำทั้งหลาย ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่ชำรุดทรุดโทรม แต่ขนาดนั้นก็ยังได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ.2545




          ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ค่อยมีการดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากให้ชุมชนอัมพวาเก็บรักษาสถานปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้เอาไว้ โดยในครั้งนั้น คุณป้าประยงค์ นาคะวรังค์ ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้บริจาคที่ดินพร้อมห้องแถวไม้ริมคลอง 31 คูหา ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ห้องแถวเหล่านี้ทางมูลนิธิฯ ได้นำมาปรับปรุงทำเป็นสำนักงานโครงการอัพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอัมพวาแต่เดิม พร้อมทั้งมีร้านค้าของที่ระลึก และร้านอาหารชานชาลาให้บริการนักท่องเที่ยว โลกในส่วนที่ดินด้านหลังได้จัดให้เป็นลานวัฒนธรรมนาคะวรังค์ สำหรับขายของแบบตลาดนัดและจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม ในสไตล์ย้อนยุคกลมกลืนกับอาคาร

ลุงเล่นดนตรีที่อัมพวา



          ล่าสุดพื้นที่ชุมชนริมคลองอัมพวาก็เพิ่งจะได้รับรางวัล UNESCO Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation ระดับ Honorable Mention จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแหงสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ซึ่งหลักเกณฑ์รางวัลที่ทางยูเนสโกจัดขึ้นนั้นไม่ธรรมดานะครับ เพราะกำหนดไว้ว่าอาคารที่เข้าประกวดจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี แถมหลังจากที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้วจะต้องมีการใช้งานไม่น้อยกว่า 1 ปีอีกด้วย จัดพิธีรับมอบรางวัลไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี

          ในอัมพวายังมีสิ่งที่เป็นระดับโลกอีกอย่าง นั่นก็คือ บ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน ในห้องแถวไม้ 2 คูหา ใกล้กับสำนักงานโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว รวมทั้งจำหน่ายแผ่นซีดีผลงานของครูเอื้อ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งล่าสุดองค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ในปี 2553 (Personality of the Year 2010) โดยครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 ถึงปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน พอดิบพอดี เดินผ่านก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมกันครับผมเองเข้าไปเดินดูยังเพลิดเพลินอยู่เป็นนานสองนาน

ตลาดน้ำอัมพวา


          แดดร่วมลมตกแว่วเสียงเพลงเก่าที่เขาตั้งคอมพิวเตอร์บนระเบียงริมน้ำ ให้นักร้องรุ่นเก๋าและผู้สมัครใจมาร้องเพลงขับกล่อมตลาดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงโบราณยุคสุนทราภรณ์ฟังแล้วก็เข้าบรรยากาศดี แต่เดินไปเดินมาชักเริ่มหิวแล้วสิครับ แต่สบายใจได้เรื่องนี้ อาหารที่ขายใน ตลาดน้ำอัมพวา มีมากมายหลากหลายรูปแบบ ถ้าจะให้ได้บรรยากาศตลาดน้ำ ก็ต้องเลือกกินจากที่ขายในเรือ ซึ่งก็มีอาหารมากมายให้เลือก คนขายก็มีอยู่มากมายหลายสิบเจ้า พายเรือมาจอดริมตลิ่ง นำเสนอสารพัดอาหารเลิศรสให้เลือกชิมถึงที่ในราคาแสนถูก มีทั้งที่นั่งกินริมตลิ่งแบบง่าย ๆ ไปจนถึงตั้งโต๊ะริมน้ำเรียงรายไปตามขั้นบันไดให้นั่งกินกัน

          หรือชอบหรูหราเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาหน่อย ก็จะมีที่ทำเป็นร้าน จัดบรรยากาศอย่างดี (ส่วนใหญ่ก็สไตล์ย้อนยุคนั่นแหละ) เช่น ร้านกำปั่น ร้านภวัตส้มตำไก่ย่าง ฯลฯ ราคาก็จะสูงขึ้นมาอีกนิด อิ่มแล้วจะต่อด้วยกาแฟหรือเครื่องดื่มก็มีอีกมากมายให้เลือกครับ เช่น ร้านกาญจนาพานิช อัมพวาริมระเบียง สมานการค้า โอ๊ย เยอะครับ จาระไนไม่หมดหรอก ต้องเดินเลือกดูเอาเองว่าถูกใจร้านไหน

ตลาดน้ำอัมพวา


          แต่อิ่มแล้วผมสมัครใจเดินเที่ยวดูข้าวของที่วางขายมากกว่า เพราะนี่ก็เป็นความสนุกอีกอย่างของการมาเดินเที่ยว ตลาดน้ำอัมพวา แผงลอยตลอดจนร้านรวงบนสองฟากทางเครื่องใช้ย้อนยุค ของเล่นสมัยเก่าถูกขนเอามาวางขายเรียงรายตามร้านละลานตา ของพวกนี้ไม่รู้เป็นไงครับ เห็นแล้วนึกถึงความหลังขึ้นมาทุกที ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ คนอื่น ๆ ก็เห็นเป็นเหมือนกัน ก็อย่างที่บอกแหละ เดินผ่านไปผ่านมาก็ฮือฮากันไปตลอดทาง ที่ดูจะโดยใจผมและใคร ๆ มากเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นจำพวกของเล่นสังกะสี ที่ทำเลียนแบบของเก่ามา ว่ากันตามจริงแล้วแม้ว่าจะไม่เหมือนของเก่าเสียทีเดียว ด้วยขนาดและสีสันที่แตกต่างอย่างรู้สึกได้ แต่ความคล้ายคลึงก็ช่วยให้หลายต่อหลายคน รวมทั้งผม ควักกระเป๋าซื้อเอากลับบ้าน อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้นึกถึงความสนุกในวัยเยาว์ได้เหมือนกัน

          ฟ้าเริ่มมืด แสงไฟจากร้านรวงทั่วตลาดน้ำสว่างไสว แสงไฟหลากสีสันสะท้อนลงบนสายน้ำ ยิ่งทำให้แลดูคล้ายโลกในความฝันมากขึ้น ช่วงหนึ่งทุ่มเป็นต้นไปตามท่าเรือต่าง ๆ จะมีบริการพาล่องเรือไปชมหิ่งห้อยกัน ผมไปยืนชมแสงสุดท้ายอยู่บนสะพานข้ามคลอง ช่วงนี้ก็จะเห็นเรือที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวแล่นเข้าแล่นออกกัน จากมุมสูงยังเห็นความเคลื่อนไหวของใครต่อใคร แต่ละคนก็มีโลกส่วนตัว บ้างก็กำลังคุยสนุกกับเพื่อนกลุ่มใหญ่อยู่ในร้านอาหารริมน้ำ บ้างก็นั่งสวีตกับแฟนเงียบ ๆ ในมุมของบ้านพักที่ให้บริการนักท่องเที่ยว บ้างก็ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันไฟแฟลชแว้บวับ

          อดีตจริง ๆ นั้นผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่มีวันหวนกลับ แต่อดีตที่ ตลาดน้ำสมุทรสงคราม นี่ไม่เป็นเช่นนั้นครับ ทุกวัน หยุดสุดสัปดาห์ เราสามารถย้อนกลับมาสัมผัสชื่นชมใหม่ได้ทุกเมื่อที่ใจต้องการ

ตลาดน้ำบางน้อย


คู่มือนักเดินทาง

          ตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ไปเลี้ยวขวาที่กิโลเมตร 63 เข้าตัวจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ บางเดียวกับที่ไปอำเภอดำเนินสะดวก) ประมาณ 10 กิโลเมตร หรือเลยจากทางแยกเข้าอำเภออัมพวาไปประมาณ 4 กิโลเมตร แยกขวามือมีป้ายบอกทางไปตลาดน้ำท่าคาและมีป้ายชี้บอกตลอดทาง แล่นเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตรก็จะถึงตัวตลาดน้ำ

          กรณีไม่มีรถส่วนตัว โดยสารรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก มาลงที่สมุทรสงคราม จากตัวจังหวัดมีบริการรถประจำทางสายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ออกทุก 20 นาที ขึ้นรถได้ที่คิวหน้าธนาคารทหารไทย ปลายทางตลาดน้ำท่าคา ตั้งแต่เวลา 07.00 - 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อบต. ท่าคา โทรศัพท์ 0 3476 7208

         ตลาดน้ำบางน้อย ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางน้อย (วัดเกาะแก้ว) ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ออกจากตลาดน้ำท่าคาเลี้ยวขวามาเข้าทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงครามบางแพ) ประมาณ 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอัมพวา-บางนกแขวกอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงตลาดน้ำบางน้อย

          กรณีไม่มีรถส่วนตัว  มีรถตู้บริการจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงแม่กลอง จากนั้นต่อรถสาย 333 ไปถึงตลาดน้ำบางน้อย

         ตลาดน้ำบางนกแขวก ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ใช้ถนนสายอัมพวา-บางนกแขวก ผ่านหน้า อาสนวิหารแม่พระบังเกิด ข้ามสะพานไป 100 เมตร เลี้ยวซ้ายถึงที่จอดรถตลาดน้ำบางนกแขวก

          รถไฟ ขึ้นจากสถานีวงเวียนใหญ่ มาลงสถานีมหาชัย นั่งเรือข้ามฟากมายังฝั่งท่าฉลอมแล้วขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านแหลมมาลงสถานีแม่กลอง ต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก

          รถตู้ ขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หมอชิต ปิ่นเกล้า ตลาดบางปะแก้ว และบางนา ไปถึงแม่กลอง แล้วต่อรถสายแม่กลอง-บางนกแขวก

          ตลาดน้ำอัมพวา ใช้ทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) ประมาณ 6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนที่ไปอุทยาน ร.2 ถึงตลาดน้ำที่อยู่ติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ OaddybeinG, คุณ crispycat, คุณ Eddy และคุณ nonglak



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยว 4 ตลาดน้ำ เมืองแม่กลอง รำลึกความหลังริมฝั่งคลอง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:05:28 1,675 อ่าน
TOP