x close

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านกระเช้าภูกระดึง เล็งยื่นฟ้องศาล

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

          สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ประกาศคัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง บอกให้รัฐทบทวนใหม่พร้อมถามประเทศชาติยากจนขนาดต้องเอาพื้นที่ป่ามาหาผลประโยชน์แล้วหรือ จี้พับโครงการ

          จากกรณีที่จะมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย โดยใช้งบประมาณ 633 ล้านบาท ซึ่งทาง พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวศาสนา ได้ออกมายืนยันว่า โครงการดังกล่าวนั้นคุ้มค่าและไม่กระทบป่าไม้ อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนจากคนในพื้นที่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น [อ่านข่าว : สร้างกระเช้าภูกระดึง มั่นใจคุ้มค่า ยันไม่กระทบป่า-คนในพื้นที่หนุน คลิก]

          ล่าสุด วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้มีประกาศคัดค้านการดำเนินการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่าและแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของประเทศ

          ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นป่าที่มีความหลากหลายในพื้นที่แห่งเดียวกันมากที่สุด ทั้งป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง และมีสัตว์หลากหลายชนิดอยู่ด้วย ซึ่งหากดำเนินโครงการดังกล่าวก็จะเป็นการกระทบต่อธรรมชาติไปด้วย ดังนั้นหน้าที่หลักของอุทยานแห่งชาติ คือ การอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ในสภาพเดิม โดยการใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้นเป็นหน้าที่รองลงมา ไม่ใช่การแสวงหาผลประโยชน์เล็กน้อย แต่นำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาล

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

          อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาล หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ต้องสามารถให้คำตอบได้ว่า ขณะนี้ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของภูกระดึง (Carrying Capacity) เพียงพอหรือไม่ที่จะเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นไปอีก จากปีละกว่า 62,000 คน โดยเฉพาะในช่วงเสาร์-อาทิตย์ (ประมาณ 1,000 คน) และช่วงหยุดยาว (ประมาณ 3-5,000 คน) ซึ่งหากมีกระเช้า จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปมากถึงประมาณ 250,000-300,000 คนต่อปี ธรรมชาติบนภูกระดึงจะรองรับได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีสิ่งสาธารณูปการรองรับนักท่องเที่ยวอย่างไร หากไม่มีการก่อสร้างเพิ่ม
 
          อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มีข้อสงสัยว่า จุดท่องเที่ยวต่าง ๆ บนภูกระดึงนั้นค่อนข้างอยู่ห่างไกลกันมาก เช่น ผาหล่มสักนั้นมีระยะทาง 9 กิโลเมตร จากที่ทำการฯ ซึ่งหากผู้สูงอายุเดินทางขึ้นไปถึงยอดด้วยกระเช้าแล้ว ก็ไม่สามารถเดินไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ได้อยู่ดี ซึ่งอาจนำมาถึงข้อเรียกร้องให้เพิ่มโครงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นในอนาคต และอาจเรียกร้องให้มีรถรับ-ส่งตามจุดท่องเที่ยว มีร้านค้า ห้องน้ำ ฯลฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนยอดภูกระดึง

          ทั้งนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ตั้งคำถามอีกว่า ประเทศไทยยากจนจนถึงขั้นต้องเอาพื้นที่อนุรักษ์มาเปิดให้เอกชนแสวงหาประโยชน์ โดยแสร้งว่ารัฐไม่มีเงินทุนแล้วเปิดโอกาสให้เอกชนหรือกลุ่มทุนมาลงทุนตักตวงผลประโยชน์แทนแล้ว อย่างนั้นหรือ ?

          ตามข้อความที่ระบุข้างต้นนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ขอให้รัฐบาล และ อพท. ตอบคำถามดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับรู้ร่วมกัน แต่หากตอบไม่ได้ ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว และหันกลับมาอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป และหากรัฐบาล และ อพท. ไม่สนใจหรือทบทวนโครงการดังกล่าว ทางสมาคมพร้อมด้วยชาวบ้านและนักอนุรักษ์ทั่วประเทศจะทำการฟ้องร้องต่อศาลต่อไป


อัพเดทข่าว กระเช้าขึ้นภูกระดึง ทั้งหมดคลิกเลย


ภาพจาก เฟซบุ๊ก ภูกระดึง, เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านกระเช้าภูกระดึง เล็งยื่นฟ้องศาล อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2565 เวลา 10:48:18 4,257 อ่าน
TOP