x close

ไหว้พระ 9 วัด อ่างทอง เสริมสิริมงคลให้ชีวิต

         ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดอ่างทอง ตระเวนทำบุญ เสริมสิริมงคลให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัว พบกับความสุขและความเจริญกันตลอดปี    

         อ่างทอง จังหวัดขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไป-กลับได้ภายในวันเดียว มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง อีกทั้งยังเต็มไปด้วยวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีความสวยงามน่าสนใจมากมายถึงกว่า 200 วัด ซึ่งสายบุญทั้งหลายน่าจะปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจกันเป็นแถว ๆ เพราะจะได้มาทำบุญเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ให้รุ่งเรืองก้าวหน้าไปตลอดทั้งปี

        วันนี้เราเลยจะชวนเพื่อน ๆ เดินทางไป ไหว้พระ 9 วัด อ่างทอง ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลกัน

1. วัดท่าสุทธาวาส

          วัดที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น บริเวณนี้เดิมทีเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ

          ภายในพระอุโบสถกรมสมเด็จพระเทพ ได้โปรดเกล้าให้จิตรกรส่วนพระองค์ และนักเขียนในโครงการศิลปาชีพ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้อย่างงดงาม ซึ่งประกอบด้วย ภาพไตรภูมิ ภาพเรื่องมหาชนก ภาพลายรวงข้าว สัญลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง ภาพเรื่องสงครามยุทธหัตถี เป็นต้น โดยมีภาพผลมะม่วง 4 ผล ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์อยู่บนผนังโบสถ์ทางด้านซ้ายมือด้วย นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปประธานเป็นหินทรายปั้นปูนปิดทองทับ พระประธานองค์นี้ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อยิ้ม" เพราะมีพุทธลักษณะคล้ายพระกำลังอมยิ้ม เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ
  ไหว้พระ อ่างทอง

         ที่อยู่ : ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
         เฟซบุ๊ก : วัดท่าสุทธาวาส

2. วัดอ่างทองวรวิหาร

          ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็ก ๆ 2 วัด ชื่อวัดโพธิ์เงินและวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกัน และพระราชทานนามว่า "วัดอ่างทอง" วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบ ซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระประธานในพระอุโบสถสร้างด้วยก่ออิฐถือปูน เป็นพระปางมารวิชัย เป็นพระประธานคู่กับวัดมาแต่เดิม

         ที่อยู่ : ถนนเทศบาล 1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

 3. วัดม่วง

          ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวสะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ เดิมทีเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2230 แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยได้เป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือซากปรักหักพังของวัดวาอารามและพระพุทธรูปที่อยู่บนเนินมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ได้มาปักกลดธุดงค์เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดร้างจึงน่าปฏิบัติธรรม แต่ขณะปฏิบัติธรรมได้ปรากฏนิมิตเห็นองค์หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง มาบอกว่าให้ท่านได้ช่วยก่อสร้างวัดม่วงขึ้นมาใหม่ เพราะท่านพระครูเป็นผู้มีบารมี ที่สามารถจะก่อสร้างบูรณะวัดม่วงขึ้นมาใหม่ได้ด้วย และในบริเวณวัดร้างนี้จะมีศิลาขาวและศิลาแดงอยู่ คือองค์ของหลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดง ซึ่งต่อมาท่านพระครูวิบูลอาจารคุณได้มีการปั้นองค์พระครอบศิลาขาวและศิลาแดงไว้ โดยเรียกนามว่าหลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดงจนถึงปัจจุบันนี้

          ในปี พ.ศ. 2526 ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้มีการเริ่มบูรณะและได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้น โดยได้รับการบริจาค ทั้งเงินทำบุญและทำบุญด้วยแรงงาน ร่วมกันดำเนินงานในการก่อสร้าง จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2527 กระทรวงศึกษาธิการ มีการประกาศยกฐานะให้วัดม่วงซึ่งเคยเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์ และเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดม่วงเป็นต้นมา

          ในปี พ.ศ. 2534 ท่านพระวิบูลอาจารคุณ ได้ร่วมพลังจิตอธิษฐานร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ได้สมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อน้อมถวายแด่รัชกาลที่ 9 และราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า "พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ" มีหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร

ไหว้พระ อ่างทอง

          ที่อยู่ : ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

 4. วัดต้นสน

        ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ถือเป็นวัดเก่าแก่โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะอุโบสถหลังเก่ามีบัวอ่อน คันทวย แต่ไม่มีจดหมายเหตุบันทึกไว้เป็นหลักฐาน มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อ ๆ มา และได้ทรุดโทรมมาจนเกือบจะกลายสภาพเป็นวัดร้าง เพราะไม่มีปูชนียวัตถุแต่อย่างใด ต่อมาปี พ.ศ. 2488 พระราชสุวรรณโมลี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ได้ริเริ่มการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเนื้อที่ของวัดมีเพียง 14 ไร่เศษเท่านั้น ต่อมาก็ได้ขอซื้อที่ดินขยายที่ตั้งวัดออกมาเรื่อย ๆ ขอซื้อหลายครั้งจนได้เนื้อที่วัดเพิ่มขึ้น

        นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า "สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง" หรือเรียกชื่อย่อว่า "สมเด็จพระศรีเมืองทอง" ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิมเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีสวมเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2528 นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง
     ไหว้พระ อ่างทอง
ภาพจาก topten22photo / shutterstock.com

          ที่อยู่ : ถนนเทศบาล 10 ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
          เฟซบุ๊ก : วัดต้นสน จังหวัดอ่างทอง


5. วัดจันทรังษี

        วัดจันทรังษี ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง มีพื้นที่สองฝั่งถนน ฝั่งทิศตะวันออกมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโยก" และฝั่งตะวันตกของถนนเป็นที่ตั้งของพระมหาวิหารจัตุรมุขพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) องค์ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างด้วยโลหะปิดทองคำเหลืองอร่ามทั้งองค์มีความงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9.9 เมตร เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 สร้างโดยพระธรรมรัตนากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นผู้จุดประกายการก่อสร้าง นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างองค์สมมุติพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวรเจ้าแม่กวนอิม ปางพันมือ สี่หน้า สูง 5 เมตร 8 นิ้ว แกะสลักจากไม้หอมขนาดใหญ่ จากประเทศจีน โดยได้อัญเชิญเข้ามาประเทศไทยประดิษฐาน ณ วัดจันทรังษี ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552

ไหว้พระ อ่างทอง

         ที่อยู่ : หมู่ 9 ถนนตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

6. วัดป่าโมกวรวิหาร
     
        ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก ภายใวัดมีพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ พงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชา ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมี "วิหารเขียน" ซึ่งเล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมีกษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น, มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย และหอไตร เป็นต้น

ไหว้พระ อ่างทอง

         ที่อยู่ : ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

 7. วัดไชโยวรวิหาร หรือวัดเกษไชโย

        วัดไชโยวรวิหาร หรือวัดเกษไชโย (ชื่อที่ปรากฏในพื้นที่คือ วัดเกษไชโย) ตั้งอยู่ตำบลไชโย อำเภอไชโย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2433 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2430 เดิมทีเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีประวัติแน่ชัดว่าใครสร้าง แต่มาปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2400-2405 ซึ่งขณะนั้นท่านยังดำรงสมณศักดิ์พระเทพกวี

        "พระมหาพุทธพิมพ์" หรือ "หลวงพ่อโต" แห่งวัดไชโย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 8 วา 7 นิ้ว ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ด้วยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตเป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่ชาวเมืองอ่างทองที่เคารพนับถือ กล่าวกันว่าผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มากจะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ เนื่องจากเมื่อเข้าใกล้องค์พระจะเห็นว่าหลวงพ่อโตกำลังจะล้มลงมาทับ

ไหว้พระ อ่างทอง

         ที่อยู่ : ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

 8. วัดขุนอินทประมูล

        ตั้งอยู่ในเขตตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า “พระศรีเมืองทอง” มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการ

        นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป และในศาลาอเนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูลแต่บ้างก็ว่าไม่ใช่ แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของวัดขุนอินทประมูล คือพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ถึง 3 ชั้น และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บันไดเลื่อนและลิฟต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาทำบุญที่วัด
   ไหว้พระ อ่างทอง

         ที่อยู่ : ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

 9. วัดบ้านพราน

        วัดบ้านพราน ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีพราน เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 900 ปี สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏ มี "หลวงพ่อไกรทอง" พระพุทธรูปหินทรายแกะสลักปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ซึ่งถือเป็นศาสนวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และทางด้านจิตใจ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงพ่อไกรทอง ซึ่งเป็นวิหารทรงเก๋งจีน ศิลปะยุคใหม่รัตนโกสินทร์ จำลองเป็นเก๋งจีนบนเรือสำเภา พาหนะที่อัญเชิญหลวงพ่อไกรทองมาประดิษฐานยังวัดบ้านพราน นับแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

        ทั้งนี้มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบที่วัดบ้านพรานเพื่อให้เป็นพระประธาน แต่ผู้สร้างวัดต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้สร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อไกรทอง" ไกร หมายถึง จีวร สังฆาฏิ สบงของหลวงพ่อไกรทอง เล่ากันต่อ ๆ มาว่าเมื่อถึงวันดีคืนดี เวลาเที่ยงคืน ไกรจะลุกเป็นไฟสว่าง โชติช่วง บอกนิมิตอันดีต่อผู้พบเห็น เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการบูชา

ไหว้พระ อ่างทอง
ภาพจาก Suchart Boonyavech / shutterstock.com

         ที่อยู่ : ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
         เฟซบุ๊ก : วัดบ้านพราน จังหวัดอ่างทอง


         ใครที่กำลังมองหาที่ใกล้กรุงเทพฯ แล้วอยากเดินสายทำบุญ จังหวัดอ่างทองก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มากมายด้วยศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมากมาย
 
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

, เว็บไซต์ tatsuphan.net, เฟซบุ๊ก วัดบ้านพราน จังหวัดอ่างทอง, เฟซบุ๊ก วัดต้นสน จังหวัดอ่างทอง, เฟซบุ๊ก วัดท่าสุทธาวาส

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระ 9 วัด อ่างทอง เสริมสิริมงคลให้ชีวิต อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2566 เวลา 11:15:19 168,237 อ่าน
TOP