x close

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

โลกหลากใบ...ในของกินคนตรัง

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
ธนดิษ ศรียานงค์...ภาพ


ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        ถนนหลายสายขีดแบ่งให้เมืองเกาะใกล้ทะเลอันดามันแห่งนั้นเต็มไปด้วยบ้านเรือนและผู้คน มันยืนยันการผสมผสานแห่งเชื้อชาติและวัฒนธรรม รวมไปถึงการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงผ่านโครงสร้างอาคารของตึกโบราณอันโอ่อ่า ที่ซึ่งด้านในร้านรวงหลากหลายนั้นเต็มไปด้วยส่วนเสี้ยวต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนและก่อรูปเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ขึ้นมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

        เราอยู่ห่างจากเมืองหลวงกว่า 800 กิโลเมตร จากไกลเลาะลงใต้มาเพื่อพบภาพธรรมดาอันแสนเก่าแก่ของเมืองตรัง ที่ซึ่งวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลได้ปักหลักเคียงคู่ผืนแผ่นดินอันดามันและนานาความเป็นอยู่ดั้งเดิม ก่อเกิดเป็นโลกใบเล็กหลายหลายให้ใครสักคนได้ใช้วันเวลาอย่างละเมียดละไมในการทำความรู้จัก บางฉากด้านชีวิตของคนที่นี่เปี่ยมด้วยเรื่องราวมากมายที่สั่งสมกันมาตั้งแต่เรื่องเล่า ไล่เลยไปจนถึงอาหารจานเล็กจานน้อย ที่มีแต่คนตรังเท่านั้นซึ่งรู้ว่ามันเกี่ยวโยงกับพวกเขามานานเท่าใด

        สำหรับใครก็ตามคำถามประเภทที่ว่า เหตุใดคนที่นี่ให้ความสำคัญกับการกินกันมากนัก ซึ่งพวกเขาก็สะท้อนมันออกมาให้เห็นในความหลากหลายของชนิดอาหาร ที่เต็มไปด้วยความผสมผสานคล้ายคลึงกับชีวิตที่หยัดยืนมั่นคงมาเนิ่นนาน อาจเป็นตั้งแต่ยามแสงเช้าอาบไล้และขับเคลื่อนผู้คนเมืองตรังให้มีชีวิตชีวา ตราบจนถึงนาทีที่ดวงไฟฉายวับยามค่ำ หลังใครสักคนหับประตูไม้ในเรือนแถวหลังเก่าและล้มตัวลงหลับตานอน

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        1. ถนนสายโบราณในย่านเก่าเมืองตรังเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมที่คนหลงรักความเก่าแก่จำเป็นต้องพาตัวเองมาให้ทันวันเวลาเช้าตรู่ตามร้านกาแฟ หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า "ร้านโกปี๊" ฉายภาพมีเสน่ห์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แสงนวลลอดไล้เข้ามาในห้องแถวทึม ๆ บนโต๊ะ เก้าอี้เช็กโกมันวาว บ่งบอกอายุการใช้งานอันเต็มไปด้วยสัพเพเหระและสารทุกข์สุกดิบของคืนวัน

        ภายใต้มื้อเช้าอันคงรูปแบบดั้งเดิมของร้านโกปี๊ในเมืองตรังแตกต่างแยกย่อยกันไปในแบบฉบับที่ว่า ร้านใครร้านมัน เราใช้ยามเช้าร่วมไปกับพวกเขาแทบทุกวันที่มาอยู่ที่นี่ ในร้านโอ่โถงเรียงรายด้วยอดีตของแหล่งผลิตกาแฟที่เขาช่องในเขตจังหวัดตรัง ถึงแม้อดีตจะผ่านพ้นเหลือเพียงขวดเปล่าทรงสวยปะฉลากสีส้มตามตู้กระจก ทว่าร้านกาแฟเขาช่องเปิดภาพเรียบง่ายของมื้อเช้าให้เรารู้จัก บนโต๊ะตัวเก่าเรียงรายด้วยโกปี๊และ "แซ้ล้อง" หรือน้ำชา ซึ่งหากเป็นคนตรังดั้งเดิม พวกเขานิยมชาจากศรีลังกาที่มาถึงเมืองท่าริมอันดามันแห่งนี้ ผ่านการค้าขายทางทะเลมาจากโบราณ

        แซ้ล้องมาจากชีลอน ตามคำเรียกขานศรีลังกาของชาวจีนในตรังครั้งเก่าก่อน หากลึกลงไปในเครื่องดื่มร้อนเย็นที่หล่อหลอมคนที่นี่ ตั้งแต่หัวรุ่งมันเต็มไปด้วยภาพชีวิตที่สะท้อนอยู่ต่อหน้าแก้วกาแฟ ร้านโกปี๊ผูกพันกับชีวิตคนตรังมาแทบทุกรุ่น กระจายกันเป็นที่พบปะพูดคุยการงาน เป็นแม้กระทั่งที่พึ่งพิงในยามเช้าหลังพ้นผ่านการกรำงานในสวนยางมาตลอดคืน ว่ากันว่าต่อหน้าน้ำร้อนโชยควันย้อนแสงเป็นลำสวย วงพูดคุยในร้านโกปี๊ของคนตรังนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวฉายชัดชีวิต เฒ่าชราประจำวงบางคนเล่าถึงการมาร้านกาแฟเพื่อฟังราคายางพาราจากตลาดกลางที่กัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ผ่านวิทยุกระจายเสียง ในวันที่ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่แค่ในตัวเมือง พวกเขามาเพื่อพบกับนาทีขึ้นลงของราคา วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมผ่านกาแฟถ้วยเล็ก การเจรจาธุรกิจการค้ากับคนปีนัง สิงคโปร์ มาเลเซีย เริ่มขึ้น และจบลงในห้องแถวไม้ทึมเทาหลายหลังในเมืองตรัง

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        เช้าวันหนึ่งเราพบตัวเองอยู่ที่ร้านยู่เชียง หัวมุมทางเข้าตลาดเทศบาล ผนังร้านสีฟ้าหม่น ๆ อาบเคลือบไปด้วยควันและคราบเก่าของกาลเวลา หันมาหาเรื่องของโกปี๊ ดูเหมือนคำเรียกแยกย่อยไปตามการชงโกปี๊ของพวกเขาได้บ่งบอกความเป็นตัวตนของคนไทยเชื้อสายจีนไว้อย่างหลากหลาย ไม่นานที่ใครสักคนสั่ง "โกปี๊อ้อ" กาแฟดำร้อนใส่น้ำตาลก็วางลงตรงหน้า แปะคนชงบอกอีกว่า ถ้าสั่งโกปี๊เฉย ๆ นั้นเขาหมายความกันถึงกาแฟร้อนใส่นม

        "แต่โกปี๊ช้ำมีเฉพาะที่ทับเที่ยงนี่ล่ะ" แปะว่าถึงเมนูพิเศษของคนตรัง คือชงกาแฟร้อนผสมชาชีลอน และคำว่า "ช้ำ" นั้นคนตรังเข้าใจกันเสมอว่ามันหมายถึงผสม

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        วัฒนธรรมยามเช้าในร้านกาแฟเมืองตรังก้าวข้ามผ่านวันเวลาไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง บางร้านคงทนเคียงคู่การก่อกำเนิด ยืนหยัดในบรรยากาศและสัมพันธภาพเดิม ๆ ขณะที่ลูกหลานรุ่นใหม่ ๆ ก็เก็บเกี่ยวนำพาร้านกาแฟของครุ่นอาก๋ง อาป๊า ให้มาอยู่ในบรรยากาศเก่า ๆ แต่คล้ายสวมหัวใจดวงใหม่

        "บางทีการนั่งกิน พูดคุยนั้นคงเดิมครับ เพียงแต่เราเปลี่ยนฉากเปลี่ยนบรรยากาศ" ตึกชิโน-โปรตุกีสหลังโอ่อ่าตรงข้ามศาลาว่าการอำเภอเมืองตรังหลังนั้นโดดเด่น เต็มไปด้วยรายละเอียดและการตกแต่งแบบโมเดิร์นไชนีสในโครงสร้างโบราณ ร้านสินโอชาและเสกสรร ชยันต์เกียรติ บอกกับเราในเย็นย่ำวันหนึ่ง วันที่ในร้านโกปี๊ที่เสิร์ฟทั้งกาแฟโบราณและกาแฟโลกใหม่ในเครื่องเอสเพรสโซ่แมชีนอย่างสินโอชาเต็มไปด้วยผู้คนหลากวัย วงช่างภาพและนักคิดนักเขียนท้องถิ่นหรือเฒ่าชรากลุ่มเล็ก ๆ ที่มาถ่ายเทคืนวันของกันและกันผ่านโกปี๊เดิม ๆ หลายิ่งสอดคล้องผสมผสานไปอย่างมีทิศทาง

        หากโกปี๊หรือกาแฟคือส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่าชีวิตของคนที่นี่พร้อมขับเคลื่อนไปในยามรุ่ง บางอย่างคงชัดเจนและยั่งยืนในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งขมเข้มเก่าแก่ ละมุนหวาน หรือหลากไหลผสมผสานไปกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ จนเกิดเป็นทิศทางอันแน่แน่วและคงทน

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        2. บนโต๊ะไม้เก่าคร่ำไม่ได้วางอยู่เพียงโกปี๊หรือแซ้ล้อง ยามเช้าของคนตรังหนักแน่นอนและเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่มื้อแรก โลกของการกินเปิดเผยเสน่ห์บางชนิดที่ว่ากันว่าใครก็ตามที่ได้มาสัมผัสอาจต้องพยายามทำความเข้าใจ

        จากการเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายทางแหลมมลายูผ่านทะเลอันดามันที่อำเภอกันตัง ตราบจนก่อร่างสร้างเมืองที่ทับเที่ยง ชหรือตัวเมืองตรังปัจจุบัน กว่า 200 ปี ที่พื้นแผ่นดินได้เป็นที่ทางให้พี่น้องชาวจีนที่อพยพมาทำกินตั้งถิ่นฐาน พวกเขาพกพาทั้งรูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนศิลปะวิทยาการต่าง ๆ นานาข้ามผ่านโพ้นทะเลมาอย่างยาวนาน

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        เรารู้จักส่วนหนึ่งของคนตรังก็ด้วยติ่มซำ มื้อเช้าตกทอดเป็นอาหารเช้าสไตล์กวางตุ้งอันน่าตื่นตา กล่าวสำหรับเมืองตรังติ่มซำคล้ายส่วนผสมอันผสานปนเข้ากับมื้อเช้าในหลากหลายร้านอย่างกลมกลืน ทั้งร้านโกปี๊ ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งกลายเป็นจานหลักกระจัดกระจายกันตามห้องแถวทั้งเก่าใหม่

        ไอร้อนลอยตัวขึ้นเป็นกลุ่มสีขาว หลัง เยาวณี ธีระลีลา เปิดฝาลังถึงขนาดใหญ่ โลกของมื้อเช้าอีกใบเล่าผ่านติ่มซำในบรรยากาศโบราณที่ไม่เคยผิดแผกไปจากรุ่นอาก๋ง อาป๊า สู่พี่ชาย และตกทอดมาสู่เธอในรุ่นที่ 4 ร้านจีบขาว ที่ตั้งอยู่หลังโบสถ์คริสตจักรตรังเนืองแน่นและเต็มไปด้วยภาพที่คล้ายคลึงกันเช่นเดิม

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        "ร้านนี้คนตรังเก่าแก่มักมานั่งกัน บางคนพี่เห็นมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ บางคนก็เป็นเพื่อนพ่อ เพื่อนพี่"
จานสังกะสีใบเล็ก ๆ เรียงรายอยู่ด้วยติ่มซำนานาชนิด โดยเฉพาะจีบขาวหรือฮะเก๋า ที่ด้านในแผ่นแป้งบางนุ่มนั่นคือส่วนผสมอันลงตัวทั้งหมู กุ้ง มันแกว

        "คนที่นี่ไม่เรียกฮะเก๋าหรอก เรียกจีบขาว จีบเหลือง" พี่เยาวณีชี้ชวนให้ดู ให้ชิมติ่มซำแบบ "โบราณ" อีกหลายชนิด มันเต็มแน่นไปด้วยหน้าตาน่าลิ้มลองรวมไปถึงความหลากหลาย

        "กินติ่มชำตรังต้องจิ้มค้อมเจือง ไม่ใช่น้ำส้มแบบคนใต้ทั่วไปหรือจิ๊กโฉ่วแบบคนกรุงเทพฯ" เจ้าของร้านจีบขาวบอกเราท่ามกลางความคึกคักขวักไขว่เมื่อเจ็ดโมงเช้า ค้อมเจืองหรือน้ำส้มเจือง หรือหากเป็นการออกเสียงแบบดั้งเดิมว่ากำเจืองนั้นเป็นเอกลักษณ์ในติ่มซำเมืองตรัง มันตกทอดมาเป็นร้อยปี

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        "คนที่นี่น่ะจะพยายามเลียนแบบซอสมะเขือเทศของฝรั่ง" เธอว่าสีแดงตุ่น ๆ ของมันมีส่วนผสมจากมันเทศ ถั่วลิสงต้มสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำส้ม และเกลือ

        บางจานคือปาท่องโก๋ซึ่งไม่ใช่ที่เราเคยชิน "ถ้าจะกินอย่างทอดเป็นคู่ ๆ นั่นต้องเรียกอิ่วจาโก้ย มาตรังหากสั่งปาท่องโก๋จะได้แบบนี้" เธอหมายถึงแป้งนึ่งนุ่ม ๆ สีขาว รสละมุน ๆ ที่เราลองจิ้มกับค้อมเจืองแล้วได้รสอร่อยแปลกใหม่

        จะว่าไปติ่มซำของคนตรังก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย หากร้านจีบขาวคือภาพแห่งติ่มซำโบราณ มีจีบขาว จีบเหลือง เต้าคั่ว หรือเต้าหู้ขาวนึ่งสอดไส้ปลา เป็นจานง่าย ๆ ร้านติ่มซำอีกหลายแห่งก็ปรับปรุง เลือกรับชนิดติ่มซำทั้งแบบฮ่องกง หรือเพิ่มความหลากหลายด้วยหมี่สั่วกระดูกหมู โจ๊ก

        "ติ่มซำมันมาจากภาษากวางตุ้งค่ะ "ติ่ม" แปลว่าแต้ม ส่วน "ซำ" แปลว่าใจ แปลกันตรง ๆ ก็คือการกินย้อนใจ เป็นคำเล็กคำน้อยก่อนอาหารหลัก" จริยา ศรีนวล ยืนยิ้มอยู่ในร้านเจ๊นก ท่ามกลางการตกแต่งด้วยของเก่าที่เธอสะสม มันดูร่วมสมัยไปกับวันเวลา คล้ายติ่มซำของเธอที่แต่งหน้าตาจนสะสวย น่าลิ้มชิมไปแทบทุกแข่ง

        ในห้องแอร์คอนดิชั่นและกระจกใส่โปร่งโล่ง เราย้ายตัวเองมาอยู่ที่ร้านอิ่มดี ติ่มซำแบบฮ่องกงสไตล์ของโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ก็เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้คนตรังได้ลองอะไรใหม่ ๆ

        "เรามีทางเลือกให้คนที่นี่ได้ลองติ่งชำที่หลากหลาย แม้ราคาจะสูงขึ้นมาสักนิด" ไพบูลย์ นวลปาน เอ็กเซ็กคิวทีฟเชฟ ของธรรมรินทร์ ธนา เล่าถึงติ่มซำที่ดีว่าจริง ๆ แล้ววัดกันเพียงสองสามเมนู อย่างซาลาเปา ฮะเก๋า และขนมจีบ

        "ไส้ฮะเก๋า ขนมจีบ หากเป็นกุ้ง กุ้งต้องแน่น เป็นคำเป็นตัว รู้สึกได้ยามเคี้ยว"

        คนตรังกินติ่มซำกันในช่วงเช้า ไล่เลยไปถึงบ่ายยามจิบชา และเนืองแน่นกันอีกครั้งเมื่อหัวค่ำ สมคำเปรียบที่ว่าคนตรังนั้นแทบไม่ทำกับข้าว นิยมกินข้าวนอกบ้าน และเราเองพบคำตอบเช่นนั้นเรื่อยมาในอีกหลายวันเท่าที่หลากไหลตัวเองไปกับวัฒนธรรมอาหารของพวกเขา

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        3. จากริมฝั่งอันเคยเรืองโรจน์ด้วยการค้าทางทะเลและเป็นเมืองเก่าที่อำเภอกันตัง พี่น้องชาวจีนได้พกพาความหวังในการอยู่กินมาพร้อมกับการนำหมูสายพันธุ์เล็กจากไหหลำติดเรือสำเภามาด้วย คนตรังเรียกหมูตัวเล็กเหล่านี้ว่าหมูขี้พร้า เปรียบกันว่าตัวเล็กเท่าลูกขี้พร้าหรือฟักเขียว และด้วยการเลี้ยงอย่างเอาใจใส่ ทั้งอาหารและที่หลับนอน เนื้อหมูสายพันธุ์นี้จึงเต็มไปด้วยเนื้อแดง มันน้อย เมื่อย่างแล้วหนังสีใส กรอบ

        หมูย่างเมืองตรังมีที่มาจากหมูตัวเล็ก ๆ สายพันธุ์หนึ่ง รวมไปถึงเคล็ดลับเก่าแก่ในการปรุงที่ข้ามโพ้นทะเลมาสู่ที่นี่แต่ครั้งบรรพบุรุษ

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        ร้านตรังหมูย่างเนืองแน่นผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและลูกหลานท้องถิ่น มันเป็นภาพเคยคุ้นของคนตรังจนชินตา แต่จะว่าไปหมูย่างของคนที่นี่ปะปนอยู่ในย่านตลาดเช้า ร้านโกปี๊ รวมไปถึงในเหลาต่าง ๆ อย่างแยกไม่ออก

        เครื่องเทศ ยาจีน และเคล็ดลับต่าง ๆ ถูกส่งทอดมารุ่นต่อรุ่นหมูย่างตรังกอดเกี่ยวอยู่กับชีวิตทั้งในเรื่องการกิน หรือปะปนอยู่ในงานบุญ งานบวช ไล่ไปถึงงานศพ

        "บ้านไหนจัดงานมีหมูย่างมากยิ่งบอกฐานะ ยิ่งบอกความใหญ่โตของเครือญาติ" คุณป้าที่วางมือจากการสับหมูนั่งแจงรายละเอียดในอาหารเก่าแก่ ตรงหน้าคือภาพซ้ำ ๆ ที่เวียนหมุนไปไม่มีหยุด ภาพที่อาหารผูกพันความเชื่อของผู้คนพื้นถิ่นไว้อย่างกลมกลืน ไม่แตกต่างจากที่ใครสักคนพาเรามานั่งในร้านโบราณอย่างร้านสีฟ้า นับวันอาหารจากบรรพบุรุษที่ตกทอดอาจตกลับหายสูญ และ จันทิมา มุณีกุล ได้เชื้อเชิญให้เรารู้จักหมี่หน่ำเหลี่ยว

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        "เดี๋ยวนี้หากไม่ใช่เทศกาลหากินยากแล้ว" หมี่โบราณของชาวจีนกวางตุ้งเมืองตรังหอมอยู่ตรงหน้า น้ำซุปขลุกขลิกข้นเหนียวเครื่องประกอบหลากหลายไปทั้งปู กุ้งแห้ง เนื้อไก่ ตับ โรยด้วยหอมแดงเจียว ทั้งหมดราดทับเส้นหมี่ฮกเกี้ยนนุ่มหนา

        "หมี่หน่ำเหลี่ยวแทรกความเชื่อถึงความกลมเกลียวรักใครของลูกหลานค่ะ นอกจากนั้นเรายังทำเลี้ยงแขกกันในวันออกศพเพื่อความเป็นมงคลของแขก"

        อาหารโบราณเต็มไปด้วยความพิถีพิถันในวัตถุดิบ คติความเชื่อและเคล็ดลับอันตกทอด เช่นเมื่อเราบ่ายหัวออกไปยังอำเภอห้วยยอด ร้านโบราณอย่าง ร้านจีนดำ ก็เต็มไปด้วยภาพโบราณภายใต้ตึกเก่าแสนงดงาม ไม่เพียงเป็นเมืองที่เติบโตด้วยเหมืองแร่ ชักนำให้แรงงานคนจีนลงหลักปักฐาน หากแต่เป็นเหมือนบ้านแห่งอาหารโบราณให้คนอย่าง สุธรรม ปิยะวรธรรม ได้ส่งต่ออาหารจีนทั้งดั้งเดิมและที่ปรับรสเป็นจีนถิ่นได้จากยุคแม่สู่คนที่มาเยือนอย่างรื่นรมย์

        เคาหยุก หมูสามชั้นอบเผือก เคี่ยวมาในน้ำที่ผสมเต้าหู้ยี้และค้อมเจืองเข้มข้น ที่มักปรุงกันในงานแต่งงาน งานไหว้บรรพบุรุษ หรืองานศาลเจ้าประจำปี ร้านจีนดำพามันมาเป็นอาหารจานแด่น

        "ส่วนอาหารแบบจีนใต้ ๆ นั้นต้องเน้นเครื่องแกงและปรับให้เข้ากับสูตรโบราณ" เขาว่าขณะมือระวิงในครัว แกงส้มปูนิ่มสับปะรดชามเผ็ดร้อนวางเรียงเคียงข้าง



        มันเป็นเช่นเมื่อเราบ่ายหัวจากห้วยยอดมาสู่เมืองเก่าอย่างกันตัง ร้านโกเกี้ยววางตัวตนเคียงคู่เมืองเก่าและผืนทะเลกันตัง ของสดเดินทางขึ้นมาสู่ครัวจีนอันตกทอดจากยุคของโกเกี้ยสู่ลูกชาย ซูเปอร์ราดหน้าที่ครบเครื่องทะเลทั้งกุ้งลาย กุ้งแชบ๊วย ก้ามปูดำ หมึกขึ้นโต กับน้ำราดหน้าขลุกขลิกข้นเหนียว ไม่เจิ่งนอง ขณะที่ความอร่อยสดแห่งผืนทะเล ส่งต่อมาเป็นเต๋าเต้ยหม้อไฟ กุ้งทอดกระเทียม และอีกนานาเมนูที่ถ่ายทอดความเป็นร้านเก่าแก่มากว่า 50 ปี

        ในวันที่ลูกชายที่เคยยืนช่วยพ่ออยู่ข้างเตาต้องยืนเป็นเสาหลักท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุค สิ่งใดกันแน่ยังคงทำให้ร้านเก่าแก่แห่งหนึ่งคงทน

        "ของทะเลสดไม่เคยเปลี่ยนครับ สูตร เคล็ดลับก็ไม่เคยเปลี่ยน" บางนาทียามบ่าย จางคลายลูกค้า กุ๊กหนุ่มแห่งกันตังยืนยันกับบ้านเรือนผืนทะเล และบรรพบุรุษที่หล่อหลอมเขามาในจานอาหารไว้เช่นนั้น



        4. เหลี่ยมมุมเล็ก ๆ อาจสะท้อนความละเอียดอ่อนในของกินคนตรังไว้อย่างน่าหลงใหล ในตลาดเทศบาลเมืองตรัง ท่ามกลางความคึกคักไม่เคยเปลี่ยนเราตามเจ้าถิ่นสักคนเข้าไปนั่งอยู่ในร้านปากหม้อเจ๊กี่ ลูกค้าเปี่ยมด้วยไมตรี บทสนทนาเป็นมากกว่าการซื้อขาย บางคนนั่งลงตรงหน้าจานเล็ก ๆ ปากหม้อสูตรคนตรังเต็มไปด้วยความแปลกพิเศษ แผ่นแป้งสุกนุ่มด้วยไอน้ำร้อนเดือดห่อหุ้มผักนานา มันแกว หมู และกุ้งแห้งไว้ด้านใน วางเครื่องเคียงอย่างหัวหมูไส้หมูที่ตุ๋นอย่างดี ราดน้ำค้อมเจืองท่วมตัวปากหม้อ นาทีที่ใครสักคนเฝ้ารอปากหม้อสุก ไถ่ถามความเป็นไปรายวัน ภาพเช่นนั้นช่างตรึงตราอยู่ท่ามกลางความมืดทึมในตลาดเช้า

        ขณะที่อาหารโลกเก่าเดินตามเป็นเส้นขนานมากับชีวิตรุ่นต่อรุ่นของคนตรัง ความเติบโตในเมืองเศรษฐกิจดีแห่งหนึ่งของอันดามันส่งผลให้การก่อเกิดของร้านอาหารใหม่ ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่คนตรังจะไม่เคยคุ้น อย่างน้อยร้านริชชี่ ร้านอหารร่วมสมัยที่เสิร์ฟทั้งเมนูไทย ฝรั่งและเบเกอรี่ รวมไปถึงกาแฟสดก็เคียงข้างคนตรังมากกว่า 20 ปี

        จากร้านเล็ก ๆ ใกล้สถานีรถไฟ สู่ร้านใหญ่โตตกแต่งสวยหวาน สธีรา ภูพิชญ์พงษ์ ยืนยันว่าที่นี่คือร้านรับแขกของคนตรัง และเป็นเหมือนร้านวันหยุดสำหรับบรรยากาศความเป็นครอบครัว


        "คนตรังช่างกินนะคะ ร้านไหนอร่อย เปิดใหม่ เป็นต้องไปลอง" ซิกเนเจอร์ของริชชี่อย่างเค้กมะพร้าวอ่อน คุกกี้กุ้งแห้ง ไอศกรีม มะม่วงพริกเกลือ ต่าง ๆ นานานั้น ราวโลกแห่งการสร้างสรรค์บนโต๊ะอาหาร เรานั่งมองภาพเช่นนั้นในบ่ายวันอาทิตย์ มันเป็นอย่างที่สธีราบอกกล่าวไม่ผิดเพี้ยน บรรยากาศแห่งครอบครัว เพื่อนฝูง รวมไปถึงภาพคล้ายวาระพิเศษบนโต๊ะอาหาร ทว่าแสนจะธรรมดาสามัญในชีวิตของคนตรัง

        ภาพที่บ่งบอกว่าเหนือไปกว่ารสชาติ มากไปกว่าชนิดอาหารสิ่งที่เรียกว่าความอบอุ่นค่อย ๆ หลอมรวมผสมผสานเรื่องของการกินและการใช้ชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียว มันเป็นคืนค่ำท้าย ๆ ที่เราหลงเพลินอยู่กับการกินของผู้คนเมืองตรัง ฟ้ามืดไปตั้งแต่หัวค่ำ ตามร้านโกปี๊แซ้ล้องกลับคึกคักขึ้นราวมหกรรมแห่งผู้คน

        นาทีที่นั่งอยู่ตรงร้านกาแฟเธิร์ด เพลส (สถานที่ที่ 3) ชายหนุ่มเจ้าของร้านที่จากบ้านไปไกลและหวนคืนนั่งคุยกับเราถึงเรื่องราวอาหารที่บ้านเกิด ท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ และค่อนข้างสมัยใหม่เราต่างนั่งมองชีวิตหลายช่วงวัยที่มานั่งใช้จ่ายคืนวันไปกับค่ำคืนและการผ่อนคลาย

        บทสนทนาเกี่ยวกับการกินอันหลากหลายจบลงตรงยามค่ำที่ใครสักคนพาตัวเองกลับสู่คืนวันปกติ ชาวสวนยางพาราพบตัวเองในสวนยางอันมืดมิด ครอบครัวอิ่มหนำไปกับมื้อค่ำที่ร้านข้าวต้มเจ้าตังคู่เมือง หรือแม้แต่เฒ่าชราที่จบบทพูดคุยยิ้มหัวเมื่อโกปี๊และชาร้อนหมดแก้ว แยกย้ายกันขี่รถเครื่องกลับสู่เรือนนอน สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้การกินเคียงคู่ชีวิตของคนที่นี่อย่างยากจะแยกมันออก บางทีอาจคล้ายอาหารโบราณสักชนิด ที่มีแต่ผู้ลงมือทำและลิ้มรสมันเองเท่านั้น ที่จะซึมซับและเข้าใจมันได้อย่างถึงที่สุด





        ขอขอบคุณ

        คุณกรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา, คุณวิริยา แก่นแก้ว, คุณปาลิตา คำปันนา, คุณภัชปรรณพัชร นวลนิ่ม
        การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง สำหรับความช่วยเหลือ ประสานงานรวมไปถึงการอำนวยความสะดวกอันแสนเยี่ยมยอดระหว่างจัดทำสารคดี

        เคียงควน รีสอร์ท สำหรับที่พักแสนสบายตลอดการทำงาน
 
        คู่มือนักเดินทาง

        ตรังเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลอันดามันที่น้ำไปเยือนทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม งดงามทั้งธรรมชาติป่าเขา แหล่งท่องเที่ยวประเทศหาดทรายชายทะเลและหมู่เกาะงดงาม

        ในเมืองตรังสวยด้วยย่านอาคารเก่าแก่แบบโคโลเนียลตามถนนสายโบราณมากไปกว่านั้น อาหารการกินอันเกิดจากการผสมผสานทางเชื้อชาติทั้งคนจีนโพ้นทะเล คนพื้นเอง ก่อเกิดเป็นความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        การเดินทาง

        สะดวกที่สุดคือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหายเลข 41 ผ่าน สุราษฎร์ธานี อำเภอทุ่งสง แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 403 สู่อำเภอห้วยยอด จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงตัวเมืองตรังรวมระยะทางประมาณ 828 กิโลเมตร

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        พักสบาย

        แนะนำที่พักเปิดใหม่ เคียงควน รีสอร์ท ห้องพักกว้างขวาง สะดวกสบาย เงียบสงบ ตกแต่งน่ารักด้วยบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง เลขที่ 76  หมู่ 5 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองฯ จังหวัดตรัง โทรศัพท์ 0 7529 9801 เว็บไซต์ www.kiengkuanresort.com เฟซบุ๊ก : เคียงควน รีสอร์ท KK-Resort

        กินอร่อย

        สารคดีเรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างในของกินคนตรังอันหลากหลาย จัดทำขึ้นในช่วงเวลาจำกัด ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเมืองตรังหรือเมืองทับเที่ยง ยังเปี่ยมไปด้วยอาหารการกินนานาชนิดให้เลือกชิมกันได้แทบทั้งวัน โดย ททท. สำนักงานตรัง ได้จัดทำคู่มือแนะนำร้านอหาร พร้อมคูปองส่วนสด ที่ตั้ง หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ รวมถึงเวลาเปิด-ปิด ในชื่อ "ตรัง ยุทธจักรความอร่อย" อันเป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด ตามแคมเปญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอรับหนังสือพร้อมสอบถามข้อมูลร้านอาหารต่าง ๆ ได้ที่ ททท. สำนักงานตรัง โทรศัพท์ 0 7521 5867 และ 0 7521 1058

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        เค้กมีรู เค้กลำภูรา

        ระหว่างรอยต่อของเมืองทับเที่ยง หรืออำเภอเมืองตรังกับอำเภอห้วยยอด หมู่บ้านเล็ก ๆ ผ่านกาลเวลาและการก่อเกิด จากหมู่บ้านชุมชนทำเหมืองโบราณ ก้าวสู่การดำเนินชีวิตในห้วงปัจจุบัน ท่ามกลางวัฒนธรรมการกินกาแฟ น้ำชา อันเป็นเอกลักษณ์ เค้กลำภูรา คือขนมยอดนิยมที่มีจุดกำเนิดและแพร่หลายจากหมู่บ้านลำภูราจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ทำกันในครัวเรือน ผสม อบ คิดสูตร และดัดแปลงสู่รสชาติหลากหลาย ผ่านความร้อนด้วยเตาฟืน จนปัจจุบันพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรม ก่อเกิดอาชีพ เกิดรายได้มากมาย

        เค้กลำภูราหรือเค้กตรังที่ใคร ๆ เรียก เกิดจากการคลุกเคล้าอย่างเข้ากันของน้ำตาล เนย แป้ง ไข่ และเคล็ดลับต่าง ๆ ทุกชิ้นนุ่มหอม ไม่ฝืดคอ และที่สำคัญ "มีรู" ตรงกลาง

ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง

        เหตุใดต้องมีรู หลายคนสงสัย คำตอบย้อนไปสู่ยุคแรกเริ่มสมัยที่ชาวบ้านยังใช้ความร้อนจากเตาฟืนในการอบ ทำให้ต้องทำพิมพ์เว้นตรงกลางเค้กให้มีรูเอาไว้เพื่อให้ความร้อนเข้าถึงด้านในของตัวเค้กอย่างทั่วถึง

        แม้ทุกวันนี้ ตาอบสมัยใหม่จะเข้าแทนที่ ใส่ระดับความร้อนได้อย่างละเอียด ทว่าการทำเค้กของคนตรังก็ยังนิยมให้มีรูปร่างแบบดั้งเดิม คือมีรูถึงเป็นเค้กลำภูรา


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

อสท. ปีที่ 55 ฉบับที่ 9 เมษายน 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ของกินคนตรัง...ความหลากหลายอันน่าลิ้มลอง อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2558 เวลา 23:34:05 6,894 อ่าน
TOP