x close

วันมาฆบูชา ปี 2567 ไหว้พระขอพร เสริมสิริมงคลชีวิต


          วันมาฆบูชา ชวนทำบุญไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัว พร้อมแนะนำสถานที่ไหว้พระแบบไปเช้า-เย็นกลับง่าย ๆ


          
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง โดยในปีนี้ วันมาฆบูชา 2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำสถานที่ท่องเที่ยวไหว้พระขอพรในวันมาฆบูชามาแนะนำกัน

วันมาฆบูชา สถานที่ไหว้พระ


1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร


          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดพระแก้ว พระอารามใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถและระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก ที่สำคัญเป็นที่ประดิษฐาน พระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย นอกจากนี้ยังมีประดิษฐานอื่น ๆ ที่สวยงามและมีประวัติมายาวนาน โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

2. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร


          พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ริมคลองมหานาค และคลองรอบกรุง เดิมเป็นวัดเก่าแก่โบราณในสมัยอยุธยา ชื่อว่า "วัดสะแก" ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชย์นั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          ส่วนเจดีย์ภูเขาทองนั้นเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้าง พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง โดยทรงเลียนแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยาและทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จภายในรัชกาลของพระองค์ จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ในที่สุดการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามว่า "สุวรรณบรรพต" มีความสูง 77 เมตร

ภูเขาทอง

          บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ เรียกได้ว่าเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 องค์พระเจดีย์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) อยู่ระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 จึงงดขึ้นกราบสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นบนลานพระเจดีย์ฯ แต่อนุญาตให้ขึ้นกราบสักการบูชา และเที่ยวชมปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ภายในวัดได้ตามปกติ 

3. นมัสการรอยพระบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี


          ในวันมาฆบูชานี้ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ประจำปี 2567 ในระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ - 9 เมษายน ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต โดยภายในงานมีการจัดบวงสรวงเทวดาอารักษ์ พิธีปิดทองรอยพระพุทธบาท และการจัดเดินป่าขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ งานนี้เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานหลายปี โดยมีความเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นไปยอดเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นจะได้บุญสูง ปัจจุบันมีรถบริการนำประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
         
เขาคิชฌกูฏ


4. วัดม่วง จังหวัดอ่างทอง


         วัดม่วง ตั้งอยู่ในอำเภอวิเศษชัยชาญ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาถูกข้าศึกเผาจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง จนเมื่อปี พ.ศ. 2525 หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ได้ธุดงค์มาปักกลดบริเวณนี้ และบูรณะวัดม่วงขึ้นมาใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ท่านได้วางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร โดยให้พระนามอย่างเป็นทางการว่า พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่

วัดม่วง

          นอกจากองค์พระใหญ่แล้ว ในบริเวณวัดยังมีสิ่งอื่น ๆ น่าสนใจ เช่น วิหารที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันกร ที่มีความยิ่งใหญ่และสง่างามเป็นอย่างยิ่ง, "วิหารแก้ว" มีพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้ประดิษฐานเป็นพระประธาน ด้านข้างรายรอบด้วยรูปหล่อทองเหลืองของพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง และ "พระอุโบสถ" ที่ตั้งอยู่กลางดอกบัวขนาดยักษ์ ซึ่งรอบ ๆ อุโบสถประดิษฐานรูปปั้นเหมือนของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศ

วัดม่วง

5. วัดพราหมณี จังหวัดนครนายก


          วัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก ที่นี่เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อปากแดง พระพุทธรูปเก่าแก่ทรงเครื่องดอกพิกุล พระโอษฐ์แดง เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไปมาก เพราะขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ว่าใครเดินทางมาขอพรก็ประสบความสำเร็จสมหวังในสิ่งที่ต้องการ

หลวงพ่อปากแดง

          วัดพราหมณี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เลือกบริเวณที่ตั้งของวัดเป็นจุดพักทัพของกองพันทหารที่ 37 ซึ่งมีจุดหมายที่จะไปรวมพลกันที่บริเวณเขาชะโงก ทั้งนี้ได้ค้นพบโครงกระดูกของทหารญี่ปุ่นใกล้กับวัดพราหมณี ดังนั้นสมาคมทหารสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ 37 จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงทหารญี่ปุ่น

6. วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา


         วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่เรียกกันว่า วัดหลวงพ่อโสธร วัดชื่อดังแห่งเมืองแปดริ้ว ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร (หลวงพ่อโสธร) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวเมืองเคารพนับถือ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ หายเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง

วัดโสธรวรารามวรวิหาร

          ตามประวัติเล่าว่าเป็นพระพุทธรูปปาฏิหาริย์ลอยทวนน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2313 สมัยต้นกรุงธนบุรี แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไป จึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้จะมีผู้คนต่างมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก

วัดโสธรวรารามวรวิหาร

          ใกล้ ๆ กันมี "วิหารจำลอง" ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง เนื่องจากทางคณะกรรมการวัดมีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ แล้วสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ โดยได้อัญเชิญพระพุทธโสธรองค์จำลองไปประดิษฐานไว้เพื่อเปิดให้ประชาชนได้นมัสการตามปกติ เปิดให้นมัสการวันธรรมดาระหว่างเวลา 07.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. ทั้งนี้ ควรแต่งกายสุภาพ


7. พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม


          พุทธมณฑล ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500 และมีพระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล เรียกว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ เป็นพระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

พุทธมณฑล

          พระพุทธรูปนี้มีความโดดเด่นทางผ้าจีวรที่พลิ้วเหมือนจริง โดยพระพุทธรูปนี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2525 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทั้งนี้พุทธมณฑลในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วย

8. เวียนเทียนกลางน้ำ ณ กว๊านพะเยา


          วัดติโลกอาราม ตั้งอยู่กลางกว๊านพะเยา เป็นวัดที่มีอายุยาวนานกว่า 500 ปี จากหลักฐานศิลาจารึกที่ขุดพบบริเวณวัดติโลกอาราม ทราบว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนาเมืองเชียงใหม่ โปรดให้พระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยา สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2019-2029 เป็นวัดที่จมอยู่ในกว๊านพะเยามานานกว่า 68 ปี สาเหตุที่จมน้ำเนื่องจากในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้กว๊านพะเยาที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณและมีวัดอยู่เป็นจำนวนมากต้องจมน้ำในที่สุด ดังนั้นทางจังหวัดพะเยาจึงได้อัญเชิญ หลวงพ่อศิลา วัดติโลกอาราม มาประดิษฐานไว้ ณ จุดเดิมกลางกว๊านพะเยา เพื่อให้ประชาชนได้ล่องเรือพายชมทิวทัศน์กว๊านพะเยา พร้อมกับกราบนมัสการหลวงพ่อศิลาที่วัดติโลกอาราม

วัดติโลกอาราม

          นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือพายได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-19.00 น. โดยทางชมรมเรือพายแจวจังหวัดพะเยา จะคอยให้บริการเรือพายและจักรยานน้ำสำหรับทุกท่านอยู่ที่ท่าเรือกว๊านพะเยา ระยะเวลาในการล่องเรือพายจากท่าเรือไปถึงวัดติโลกอารามใช้เวลาไป-กลับ 15 นาที สามารถติดต่อบริการล่องเรือได้ทุกวันที่ ชมรมเรือพายแจวกว๊านพะเยา โทรศัพท์ 08 9433 7311 และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ทางจังหวัดจะจัดให้มีการเวียนเทียนกลางน้ำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำหนึ่งเดียวในโลกที่กว๊านพะเยา

วัดติโลกอาราม

          - งานประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ กว๊านพะเยา 2567 เนื่องในวันมาฆบูชา

9. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช


          วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย เปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนชาวใต้ มีพระบรมธาตุเจดีย์อันยิ่งใหญ่ที่มีส่วนยอดเจดีย์เป็นทองคำเป็นภาพสะท้อนแห่งความศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อการสร้างพระบรมธาตุ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย)

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

          ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารที่มีความสำคัญหลายหลังประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวง มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา นอกจากนั้นยังมี วิหารสามจอม วิหารที่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า พระศรีธรรมาโศกราช ประดิษฐานอยู่วิหารพระมหาภิเนษกรมน์ (วิหารพระทรงม้า) ส่วนวิหารเขียนและวิหารโพธิ์ลังกานั้น เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

          ส่วนฐานขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ (วิหารทับเกษตร) มีซุ้มถึง 22 ซุ้ม แต่ละซุ้มมีหัวช้างยื่นออกมารองรับพระบรมธาตุเจดีย์ ประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้มั่นคง นอกจากนี้ยังมีปริศนาธรรมให้ค้นหาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมาย ทั้งนี้ ผู้มาเยือนที่นี่นิยมนำผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยมีไกด์พาชมเวลา 08.00-17.00 น.


10. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่


          วัดสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินล้านนานับแต่อดีต เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง โดยวัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ภายในมี พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะเชียงแสนโบราณ ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริดหุ้มทอง สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง" อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนาประดิษฐานอยู่

พระสิงห์

          นอกจากนี้ภายในวัดยังมีวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ อีกทั้งมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว อีกยังมีศิลปกรรมอื่น ๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถที่ตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา ทั้งนี้ตามความเชื่อพระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

          - วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ไหว้พระพุทธสิหิงค์และพระธาตุประจำปีมะโรง

11. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม


          พระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่า พระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น "วรมหาวิหาร"

พระธาตุพนม

          นอกจากนี้พระธาตุพนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่น ๆ อีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น "ลูกพระธาตุ" เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม 1 ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว

พระธาตุพนม

          - วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร กราบไหว้ ขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครพนม

12. วัดห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


          ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อทวด พระนามาภิไธย ส.ก. องค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 9.9 เมตร สูง 11.5 เมตร ฐานสูง 3 ชั้น นอกจากนี้ยังมีรูปสลักหลวงพ่อทวดแกะจากไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ ให้ประชาชนได้สักการบูชา ภายในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชมอีกมากมาย อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ องค์พระยังสามารถมองเห็นทิวเขาล้อมรอบ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น.

วัดห้วยมงคล

13. วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย


          วัดแห่งนี้คือวัดที่มีการค้นพบองค์ พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปคู่ชาติไทยที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมาเมื่อกะเทาะออกจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยกอย่างสวยงามวิจิตร จึงได้สร้างวัดพระแก้วขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน ปัจจุบันเมื่อพระแก้วมรกตองค์จริงได้ย้ายไปประดิษฐานที่กรุงเทพฯ แล้ว ชาวเชียงรายได้ร่วมใจกันสร้างองค์ใหม่ขึ้นเป็น พระหยก ประดิษฐานอยู่ในหอพระหยก ที่กำแพงด้านในตกแต่งด้วยภาพวาดเล่าตำนานพระแก้วมรกตกับเรื่องราวการสร้างและอัญเชิญพระหยกเชียงราย

วัดพระแก้ว

          นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนสวยงาม มีองค์พระประธานที่ชาวเชียงรายเรียกกันว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย โดยองค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดของประเทศไทย ในสกุลช่างศิลปะปาละ ซึ่งพระเจ้าล้านทองนั้นเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก มีผู้แวะเวียนเข้ามาสักการบูชาอยู่เสมอ ส่วนพระเจดีย์ที่โดนฟ้าผ่าแล้วค้นพบพระแก้วมรกตนั้นยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ โดยได้รับการบูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พระเจ้าล้านทอง

14. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก


          ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกขานกันว่า วัดใหญ่ หรือ วัดพระศรี กันจนติดปาก แม้พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหาร คือ พระพุทธชินราช ชาวเมืองพิษณุโลกก็นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ ตามไปด้วย โดยนับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1900

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

          ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย ได้แก่ พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับ พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามและวัดบวรนิเวศวิหารตามลำดับ
         
พระพุทธชินราช

          ต่อมาพระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ โดยคนในท้องถิ่นเชื่อว่าหากได้นมัสการก็จะเป็นมงคล โดยเฉพาะนักธุรกิจ พ่อค้า และคนที่อยู่ในแวดวงการเงิน เนื่องจากชื่อ พระเหลือ มีความหมายพ้องกับเหลือกิน เหลือใช้

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ วันมาฆบูชา ไหว้พระ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 
          - ประวัติและความสำคัญเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
          - สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
          - เปิดลิสต์ 25 วัดดังที่สายมูไม่ควรพลาด ขอพรเรื่องอะไรแล้วปัง ไปดูกัน
          -  แนะนำ 10 ทริป เที่ยวไหว้พระใกล้กรุงเทพฯ ไปเช้า-เย็นกลับ
          - ไหว้พระอยุธยา 9 วัด สายมูห้ามพลาด ทำบุญเสริมมงคล ส่งผลดีตลอดปี

ขอบคุณข้อมูลจาก : ททท., chanthaburi.go.th และ watphrakaew-chiangrai.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันมาฆบูชา ปี 2567 ไหว้พระขอพร เสริมสิริมงคลชีวิต อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18:02:36 32,432 อ่าน
TOP