x close

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า (อ.ส.ท.)

"Jungle Man"...เรื่อง 
ยศวัฒน์ เกษมถิรกุล, ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์...ภาพ

          ดาวเหนือส่องแสงวับวาบอยู่ริมขอบฟ้า อากาศของยามดึกค่อนข้างหนาว หันหลังมองไปทางตรงข้ามซึ่งเป็นทิศใต้ ดอยหลวงเชียงดาวยังสลัวรางเบื้องหลังม่านเมฆที่ห่มคลุมเหมือนจะช่วยกันหนาว สายลมพัดผ่านสนต้นใหญ่ส่งเสียงแผ่วเบา คล้ายคำกระซิบของธรรมชาติที่ส่งไปยังแดนไกล น้ำค้างกลั่นลงมาจากความชื้นเกาะเป็นเม็ดวาวบนหน้าเลนส์ เรากระชับเสื้อกันหนาวและเอาผ้าชีมัคมาพันคอ ก่อนจะยืนซึมซับความเย็นของอากาศเสียงกระซิบของสายลม พร้อมกับความเคลื่อนไหวแห่งจักรวาลที่เราไม่อาจทราบถึงความยิ่งใหญ่เหล่านั้น...

เวลา

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          ป่าสนแน่นขนัดแทงเสียดขึ้นไปสู่เมฆเบื้องสูง หลังจากได้รับการปลูกขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าเมื่อที่นี่กลายเป็นดอยหัวโล้นเพราะการบุกรุกเข้ามาทำไร่เลื่อนลอยในอดีต เวลานี้กำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากกล้าไม้ที่หยั่งรากลงดินผ่านเวลามาหลายสินปี จนกลายเป็นสนสามใบขนาดใหญ่ให้ร่มเงา เวลาที่ผ่านไปทำเราได้เห็นว่าธรรมชาติกำลังปรับตัว ไม่มีอะไรที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้กลับมาได้นอกจาก...เวลา

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          เราเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายในป่าสนสามใบ ซึ่งเวลากำลังพาความอุดมสมบูรณ์กลับมา ได้เห็นดงกล้วยป่าขนาดใหญ่ สู่หุบน้ำที่ค่อย ๆ กลั่นจนเป็นสายธาร เสียงนกขับขานบินว่อนหากิน อันรวมกันเป็นความงดงามอย่างแท้จริง

          "ตรงนั้นเป็นรังหมีควาย มีลูก 2 ตัว เมื่ออาทิตย์ก่อนก็เห็นเดินอยู่" ลุงตี๋ ชายวัยปลาย 60 ลูกจ้างของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย พูดสำเนียงไทยแบบจีนกับผม เมื่อผ่านรังหมีบนยอดไม้สูง โลกนี้อาจมีเพียงเวลาอย่างเดียวที่จะเยียวยาสรรพสิ่งให้กลับคืนไปยังความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่มีสภาพเหมือนก่อนถูกทำลาย แต่ก็ยังดีกว่าโดนซ้ำเติมด้วยความอยากมี อยากได้ของมนุษย์

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          ระยะเวลาหลายสิบปีที่ผืนป่าค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมาจากไร่เลื่อนลอย ไร่ฝิ่น และความแห้งผากของดิน ปัจจุบันผืนดินกลับชุ่มน้ำ เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของชาวเชียงใหม่แน่นอนว่าเราเห็นได้อย่างชัดเจนแม้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้เฝ้ามอง

         เวลาพิสูจน์คุณค่าของตัวมันเองได้ ถ้าปล่อยให้ธรรมชาติเติบโตอย่างถูกทาง จากแล้งร้อนสู่ชุ่มฉ่ำใจ...

ก้อนหิน

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          บ่ายแก่ ๆ ภายใต้ร่มเงาของสนสามใบขนาดใหญ่ ลมยังคงพัดเบา ๆ ผ่านทิวสน ดอกเทียนสีม่วงในดงสนไกวเบา ๆ เหมือนเริงร่าระบำกลางแดดรำไร วันนี้แสงเย็นสีทองอร่ามสาดลงมา หลังจากฝนสุดท้ายของฤดูที่โปรยลงมาเหมือนจะสั่งลาห้วงฤดูกาล

          ผมนั่งบนก้อนหินขนาดใหญ่ที่วางตัวระเกะระเกะ ทว่าดูคล้ายจะเป็นการจัดสวนที่ลงตัวยิ่ง กอดอกเอนอ้าสีชมพูบาง ๆ ซุกตัวอย่างอ่อนหวานริมก้อนด้านหน้า ไกลออกไปแท่งหินปูนขนาดใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาวตระหง่านขึ้นมาเหนือเทือกดอยในละแวกนั้น ทำให้มันกลายเป็นราชาแห่งหินหลายร้อยล้านปีในละแวกนี้ เราจะมองอะไรผ่านก้อนหินเหล่านี้ได้บ้าง

          คำตอบอาจล่องลอยอยู่ในสายลมเหนือกาลเวลา ที่จะเปล่งความหมายออกมาผ่านห้วงสำนึก ซึ่งในชั่วอายุคนไม่อาจเข้าใจ
 
          "สวนหินแห่งนี้ผมตั้งใจไว้ให้เป็นที่พักผ่อนและศึกษาธรรมชาติของผู้ที่ได้เข้ามาเยือนดอยค้ำฟ้า เพราะจุดนี้มีความพิเศษหลายอย่าง ยิ่งในช่วงฤดูหนาวต้องบอกว่าตระการตาอย่างยิ่ง" ชิติพัทธ์ โพธิ์รักษา หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย ผู้ปลุกปั้นให้ขุนดอยแห่งนี้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นในป่าสน เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพจะได้มีมากขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำระดับดีเยี่ยม โดยใช้กุศโลบายพานักท่องเที่ยวมาช่วยกันปลูกจิตสำนึกไปพร้อมกัน เพราะงบประมาณในการดูแลรักษาป่าเหล่านี้ในแต่ละปีมีเพียงไม่กี่หมื่นบาท

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          คนที่จะมาอยู่บนดอยแห่งนี้นอกเหนือจากร่างกายจะแข็งแรงจิตใจเข้มแข็งแล้ว กำลังใจของพวกเขาก็คล้ายดั่งหินผา อาหารที่กินกันแต่ละมื้อเป็นพืชผักที่พอหาได้ในละแวกใกล้ ๆ หรือปลูกขึ้นมาเองบ้าง ส่วนเนื้อสัตว์ก็มีบ้างอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง ความหมายของสวนหินแห่งนี้อาจจะเป็นการบอกเล่าถึงผู้คนบนดอยที่ดูแลทรัพยากรของชาติจำนวนมหาศาลด้วยค่าจ่ายเพียงน้อยนิด ไม่ใช่ว่าเขาเลือกไม่ได้ในการใช้ชีวิต แต่เขาเหล่านี้เลือกแล้วที่จะมีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยรักษาผืนป่าไว้อย่างเต็มกำลัง

          แสงสุดท้ายหมดไปจากฟากฟ้า หมอกหนาเข้าปกคลุมพื้นที่พระจันทร์ให้แสงสว่างแทนพระอาทิตย์ และไม่นานพระจันทร์ก็โดนเมฆดำเข้ากลืน เราเดินกลับมายังโรงอาหารเล็ก ๆ กับข้าวแบบชาวป่าง่าย ๆ รอคอยอยู่แล้ว...ซึ่งมื้อนี้พออิ่มท้องให้หลับสบาย...ใครบางคนกล่าวระหว่างอาหารค่ำ

สายน้ำ

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          ทางลำลองผ่านไปได้ร่มไผ่และเงาสนจนถึงเขตป่าเก่าที่ไม่ได้ปลูกเพิ่ม ทว่ากำลังฟื้นตัวดังได้กล่าวแล้วว่าเวลาเยียวยาทุกสรรพสิ่ง เราตัดลงไปในหุบเล็ก ๆ สู่ดงกล้วยป่าที่ขึ้นจนฉ่ำเท้ายามก้าวผ่าน สิ่งเหล่านี้เองที่ช่วยขับความชื้นเอาไว้ และปล่อยออกมาอย่างช้า ๆ ในเวลาที่ผ่าน ดินเริ่มหมาดน้ำ ป่ามีหน้าที่มากมาย ลำธารในป่าที่ไม่เคยเหือดแห้งก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ทุกอย่างเกื้อหนุนกันจนกลายเป็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่วันหนึ่งเราอาจเข้าใจอะไรมากกว่านี้

          "ห้วยแม่กอนหลวงแง่ซ้ายจะไหลลงไปสมทบกับสายอื่น ๆ ในแม่น้ำปิงตอนบน หากป่าต้นน้ำถูกทำลายไป แม่น้ำปิงก็จะเหือดแห้ง ซึ่งจะมีผลกระทบมากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึง การที่วันนี้เรามาดแลป่าส่วนนี้ไว้ อาจดูเหมือนไม่มีอะไรให้ทำมากนัก ทว่าแท้จริงแล้วมีมากมาย โดยเฉพาะทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบ สร้างพันธมิตรใหม่ ๆ ให้มาช่วยรักษา ปลูกไม้ชนิดอื่น ๆ เพิ่มในพื้นที่" หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย บอกกับเราเมื่อยืนอยู่หน้าน้ำตกขนาดกลาง ที่ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยละอองน้ำที่พัดมาอย่างไม่ขาดสาย

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          เราเดินเก็บภาพหลายมุมที่มองผ่านวิวไฟเดอร์แล้วเห็นความงดงามของต้นน้ำแห่งนี้ โดยเฉพาะมุมด้านหน้าที่เห็นความร่มรื่นชุ่มฉ่ำ กับมุมด้านข้างใกล้น้ำตกซึ่งมีรากไทรสานถักทอกันอย่างแปลกตา ความงดงามของชีวิตที่ร้อยเรียงถักทอเป็นสายใยที่มองไม่เห็นทว่ามีอยู่จริง เราบอกเล่าสิ่งเหล่านี้ด้วยความศรัทธาในธรรมชาติ เพียงเพราะเชื่อว่าธรรมชาติเป็นสิ่งสูงสุดแห่งการมีชีวิตอยู่ มีเรื่องราวมากเหลือเกินที่จะนำมาอ้างถึง

          หากว่าเรารักษาป่าไว้ได้ สายน้ำก็อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า พรรณไม้ ก็เติบโตขึ้นพร้อมกัน ความสมดุลในระบบห่วงโซ่อาหารก็จะตามมาด้วย ซึ่งหากเราไปถึงจุดนั้นได้ก็สามารถพูดเต็มปากว่า "คนอยู่กับป่าได้" ซึ่งผมหวังไว้อย่างนั้น

ดอกไม้

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          หลายวันที่เราย่ำไปตามสันดอยและหุบน้ำของค้ำฟ้า ได้เห็นดอกไม้เล็ก ๆ จำนวนมาก ว่านไก่แดง (Aeschynanthus sp.) ดอกสีแดงสดสมชื่อเกาะตามเปลือกไม้สะพรั่งเด่นเป็นสง่า กล้วยไม้ขนาดเล็กในสกุลเอื้องแพน (Oberonia) หลายช่อกำลังแทงดอกขนาดจิ๋วออกมาเป็นช่อระย้า คงอีกไม่นานจะบานเต็มช่อ ส่วนชนิดที่ชวนพิศวง ได้แก่ เอื้องแฝง (Aphyllorchis cauadata) หนึ่งในกล้วยไม้กินซากขนาดใหญ่ มีรายงานการพบตามพื้นป่าดิบขึ้นทางภาคเหนือ ได้รับการค้นพบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ โดย ดร. คาร์ (Dr.Kerr) นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งเข้ามาสำรวจพรรณไม้ในช่วงปี พ.ศ. 2445-2475 

          สำหรับกล้วยไม้ในสกุล Aphyllorchis มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย พบประมาณ 15 ชนิด ซึ่งกล้วยไม้สกุลนี้พบในประเทศไทย 4 ชนิด แต่ละชนิดล้วนเป็นกล้วยไม้หายากทั้งสิ้น กล้วยไม้ในสกุลนี้รู้จักกันในนามของกล้วยไม้กินซาก นักพฤกษศาสตร์จัดให้เป็นพืชในกลุ่ม Mycoheterotrophic หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตต่างกลุ่มกัน เช่น พืชและรา โดยจะเป็นพืชที่พึ่งราแบบพาราไซต์ หรือราที่อาศัยอยู่ในรากของพืช ซึ่งพืชจะได้รับสารอาหารจากการที่ราย่อยอินทรียวัตถุในบริเวณนั้น ที่สำคัญ พืชและราต้องเป็นคู่ที่จำเพาะเจาะจงเท่านั้น และนั่นคงเป็นการพึ่งพาผูกพันของสรรชีวิต ในธรรมชาติที่สุดแสนวิเศษของสิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ชนิดนี้ เราอาจจะเป็นได้เพียงผู้สังเกตหรือเฝ้ามองธรรมชาติเท่านั้นเอง และในบางความหมาย เราคงไม่อาจเข้าใจพวกเขาได้อย่างแท้จริง เหมือนในบางคราวที่ตัวเราเองยังไม่อาจทำความเข้าใจตัวเองได้ทั้งหมด

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          ยังมีอีกสกุลที่ผมไม่อยากจะพลาดการแนะนำ เพราะนับได้ว่าพบได้ยากและมีเพียงในเขตภูเขาละแวกนี้เท่านั้น ได้แก่ พืชในสกุลเทียน (Impatiens) ที่นำโดยเทียนเชียงดาว (Impatiens chiangdaoensis) ดอกสีชมพูสวยงามทั้งยังสะพรั่งไปทุกพื้นที่ แม้จะไม่เป็นผืนใหญ่ ๆ อย่างเทียนในเขตภูเขาหินทราย แต่ก็นับได้ว่างดงามอีกชนิดเป็นเทียนขนาดเล็ก ทว่าดอกใหญ่มากหากเทียบขนาดต้น หากไม่สังเกตอาจมองไม่เห็น เพราะดอกมักซ่อนอยู่ใต้ใบ และด้วยดอกสีชาวบริสุทธิ์ จึงได้รับการตั้งชื่อว่าเทียนพิสุทธิ์ (Impatiens discolor) ซึ่งแม้เป็นดอกไม้เล็ก ๆ ทว่า ในการศึกษาเรื่องราวของโลกพฤกษศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่อยู่ที่ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ที่ให้โอกาสเราได้ทำความรู้จักกับดอกไม้ที่บานอยู่หลายแสนชนิดบนโลกนี้

สายหมอก

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          เย็นวันนั้นยังคงประทับแน่นอยู่ในความทรงจำ พี่น้องทุกคนที่เป็นเสมือนพันเฟืองเล็ก ๆ แห่งดอยค้ำฟ้ามาร่วมกินข้าวมื้อเย็น ประกอบไปด้วยหลามไก่ ที่หอมกรุ่นด้วยเครื่องเทศสารพัดชนิดใส่ในกระบอกไม้ไผ่พิงไว้ข้างกองไฟ ยำเมี่ยงป่าที่ให้รสเผ็ด มัน ฝาด คลุกเคล้าด้วยพริกสด พริกแห้งป่น มะนาว น้ำปลา และปลากระป๋อง สุดท้ายโรยด้วยแคบหมูสุดวิเศษเลย อีกเมนูสุดเจ็บที่ไม่อยากให้พลาด พวกเขาเรียกว่าหมูลุยดอย อร่อยเชียวครับคุณผู้อ่าน และท้ายสุดจะพลาดไม่ได้เลย เพราะพี่ ๆ เจ้าหน้าที่บอกว่าถึงฤดูกาลก็มีมาให้กินตลอด หนอนรถด่วนทอดกรอบโรยเกลือเค็ม ๆ แม่เจ้าประคุณเอ๋ย โปรตีนระดับตำนานของชนชาวป่าเลยทีเดียว คนนั้นเราได้ยินอะไรหลายอย่างที่สะท้อนใจของผู้พิทักษ์ป่าเหล่านี้ จะช่วยได้เพียงกำลังใจเล็ก ๆ จากคนเมืองเช่นเรา

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          ค่อนคืนแล้วในโหลยาดองที่เต็มไปด้วยแก่น เปลือก ราก และใบไม้สารพัดกำลังพร่องไปจนถึงก้นขวด ผมยกจอกไม้ไผ่ขึ้นจ่อริมฝีปากก่อนจะกระดกรวดเดียว ความร้อนซ่าของเหล้าป่าในดองดอย อาจจะช่วยให้พี่น้องเหล่านี้คลายหนาว รื่นเริง หรือนอนหลับสบาย ทว่าสำหรับผมมันช่วยให้มีชีวิตอยู่ใต้ท่ามกลางวงล้อมของคนเล็ก ๆ แต่ใจใหญ่เหล่านี้

          เสียงเพลงยังแว่วผ่านสายหมอกและม่านสน ส่งสำเนียงล่ำลา ระหว่างที่ล้อรถปืนผ่านดินเลนที่ฉ่ำดิน หวังไว้ว่าดอยค้ำฟ้าจะมอบเรื่องราวที่ดีต่อการอนุรักษ์ไว้ในหัวใจของทุกท่าน…"ฟ้าอยู่ค่ำคน คนไม่อยู่ค้ำฟ้า"
 
ขอขอบคุณ

ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า

          คุณชิติพัทธ์ โพธิ์รักษา หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย
          คุณประสิทธิ์ คนไว ผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย
          คุณเอกกมล ไหวธรณี คุณจันจิรา ภู่สุวรรณ์
          คุณซอย นาคำ คุณหลาว หม่องนาคา

คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง

          จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านอำเภอเชียงดาว จากนั้นแยกซ้ายที่เมืองงาย เข้าทางหลวงหมายเลข 1322 มุ่งหน้าอำเภอเวียงแหง ระยะทางราว 25 กิโลเมตร จะมีป้ายขึ้นดอยค้ำฟ้าทางด้านขวามือ และเดินทางต่ออีก 8 กิโลเมตร รถที่ใช้ควรเป็นรถโฟร์วีลไดรฟ์ เพราะเส้นทางค่อนข้างชันและสภาพไม่ดี

ข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นดอยค้ำฟ้า

           ดอยค้ำฟ้า จำกัดผู้เข้าพักเต็นท์คืนละไม่เกิน 50 คน รถยนต์จอดได้ไม่เกิน 5 คันต่อคืน ไม่ควรนำรถขึ้นไปเอง ทางแคบ รถสวนกันไม่ได้อีกทั้งลาดชัน มีรถเอกชนบริการรับ-ส่งพาเที่ยวบนดอย ค่าบริการคนละ 300 บาท ต่อ 2 วัน หรือเหมาจ่ายตามตกลง

          รถนักท่องเที่ยวจอดไว้ที่หน่วยจัดการต้นน้ำขุนคอง นัดหมายแจ้งล่วงหน้ากับหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งายในการไปร่วมกิจกรรมของหน่วยฯ สร้างป่าต้นน้ำหลากสีดอยค้ำฟ้า สามารถประสานกับคนนำเที่ยว โทรศัพท์ 08 4516 9546 โดยทางหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งายมีเกียรติบัตรมอบให้ผู้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้ป่าต้นน้ำ เช่น ปลูกเสริมป่า ร่วมทำแนวกันไฟ ร่วมทำฝายแม้ว ร่วมพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของผู้มาเยือน

ติดต่อสอบถาม

          หน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170 โทรศัพท์ 08 1992 7346



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 55 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2557


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผืนป่าห่มน้ำ ผืนฟ้าห่มดิน ดอยค้ำฟ้า อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2558 เวลา 09:54:35 3,048 อ่าน
TOP